Friday, August 6, 2010

พกพาอาวุธ ผิดแน่

พกพาอาวุธ ผิดแน่


บางคนมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับคำว่า “อาวุธ” โดยใช้สายตาคนตัดสินแยกแยะความหนักเบาของปืนกับมีดหรือสิ่งอื่นที่นำไปทำร้ายหรือฆ่าคนได้ อันที่จริงแล้วสายตาของกฎหมายอาวุธจะเหมือนกันหมด ไม่ว่าเป็นปืน มีด ระเบิด และอื่นๆ ไม่จำกัดรูปลักษณ์และมูลค่าของมัน ถ้าใช้มันแล้วเกิดความเสียหายทางกฎหมายต่อเหยื่อ กฎหมายจะลงโทษอาญา เช่น จำคุก ปรับ ประหารชีวิต เป็นต้น ตามระดับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้อาวุธนั้น ส่วนทางแพ่งก็ต้องจ่ายค่าเสียหาย ค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศพ ค่าเลี้ยงดูทายาทของเหยื่อ และอื่นๆ ดังนั้น การใช้ปืน มีด สร้างบาดแผลหนักเบาหรือฆ่าตาย จะรับการลงโทษตามความรุนแรงของผลลัพธ์ที่ใช้อาวุธเป็นหลัก โดยมีช่วงเวลาให้ผู้พิพากษาใช้ดุลพินิจกำหนดเวลาลงโทษได้


เมื่อใช้อาวุธด้วยสารพัดเหตุผล ย่อมต้องเกิดผลลัพธ์เสมอ โดยกฎหมายแยกแยะระดับความเสียหายเพื่อใช้ลงโทษผู้ใช้อาวุธตั้งแต่ บาดเจ็บธรรมดา บาดเจ็บสาหัส และความตาย สำหรับความตายยังแบ่งระดับตายทั่วไปกับตายทรมาน มันส่งผลต่อเวลาลงโทษที่เพิ่มขึ้นหรือน้อยลง ส่วนเจตนาใช้อาวุธจะเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาความผิดของผู้ใช้ด้วยว่าเจตนาฆ่าหรือป้องกันตัว มันให้คำตัดสินแตกต่างกัน


เจตนา เป็นองค์ประกอบสำคัญในการพิจารณาความผิดของผู้ใช้อาวุธโดยกรรมหรือการกระทำส่อเจตนาได้ในตัวเอง หลักกฎหมายยังแยกเจตนาออกเป็นสองแบบ คือ เจตนาโดยชัดแจ้ง กับ เจตนาเล็งเห็นผล ตัวอย่างเช่น เราระดมยิงคนระยะเผาขนหลายนัดต่อเนื่องหรือกระหน่ำแทงมีดไม่ยั้ง มันแสดงเจตนาชัดแจ้งว่าตั้งใจฆ่าคน ส่วนเจตนาเล็งเห็นผลนั้นกฎหมายให้ความหมายว่า ผู้ใช้อาวุธย่อมทราบดีว่ายิงปืนหรือแทงมีดต้องมีคนตายหรือคนบาดเจ็บ แล้วยังใช้มัน ปืนและมีดเป็นอาวุธอันตรายโดยสภาพ เมื่อยิงปืนหรือแทงมีดออกไปแล้วมีคนบาดเจ็บหรือคนตาย เช่น กราดยิงปืนใส่รถเมล์ที่นักเรียนช่างกลอีกโรงเรียนนั่งอยู่ แล้วมีผู้โดยสารอื่นตายหรือบาดเจ็บด้วย กฎหมายเรียกการกระทำนี้ว่า เจตนาเล็งเห็นผลในการทำร้ายหรือฆ่าโดยใช้อาวุธ กรณีคนบ้ายิงปืนฆ่าคนตาย อาจถูกมองว่าขาดเจตนาแล้วไม่มีความผิดใด เพราะขาดองค์ประกอบในฐานความผิดนั้น


อาวุธในสายตาของกฎหมาย แบ่งแยกเป็นอาวุธโดยสภาพกับไม่ใช่โดยสภาพ ปืน มีด ระเบิด ไม่ว่ามีรูปลักษณ์ใด มูลค่าเท่าใด ใครสร้างขึ้น ล้วนจัดเป็นอาวุธโดยสภาพ เช่น ปืนปากกาก็นับเป็นอาวุธในสายตาของกฎหมาย มีดคัตเตอร์ เป็นต้น ส่วนอาวุธที่ไม่ใช่โดยสภาพ เช่น ท่อนไม้ ไม้ทีของนักเรียนช่างกล ท่อเหล็ก ไม้แขวนเสื้อ ที่เขี่ยบุหรี่ เป็นต้น ทั้งนี้มันต้องสามารถทำร้ายหรือฆ่าคนได้ด้วย ส่วนการเปลี่ยนแปลงสภาพวัตถุให้กลายเป็นอาวุธจัดอยู่ในหมวดอาวุธมิใช่โดยสภาพ ดังเช่น แปรงสีฟันที่ถูกเหลาให้แหลมหรือเสียบด้วยใบมีดโกน มันไม่ใช่แปรงสีฟันอีกต่อไป สายตากฎหมายมองว่ามันเป็นอาวุธประเภทมิใช่โดยสภาพ การทำร้ายหรือฆ่าคนโดยใช้อาวุธจะต้องรับโทษอาญาหนักขึ้น


การลงโทษอาญาต่อผู้ใช้อาวุธทำร้ายหรือฆ่านั้น ต้องดูเจตนาการใช้เป็นหัวใจสำคัญอันส่งผลต่อระดับโทษที่จะได้รับด้วย เราควรจำไว้ว่า หลักกฎหมายมองว่าคนใช้อาวุธต้องถูกลงโทษ เมื่อเหยื่อตายหรือบาดเจ็บ ส่วนจะได้รับโทษมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่เหตุบรรเทาโทษที่ศาลจะใช้ดุลพินิจเห็นด้วยหรือไม่ จึงไม่แปลกที่จะรู้ข่าวว่าคนใช้ปืนยิงโจรบุกรุกบ้านตาย เขาก็ถูกฟ้องคดีต่อศาลฐานความผิดฆ่าคนโดยเจตนา ส่วนศาลจะลงโทษมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับดุลพินิจและข้อเท็จจริง เหตุบรรเทาโทษที่นิยมใช้กันมาก คือ เหตุจำเป็นป้องกันตัว เหตุบันดาลโทสะ และอื่นๆ ทั้งนี้แต่ละเหตุผลก็มีองค์ประกอบย่อยแทรกอยู่ด้วย


ผู้ร่างกฎหมายห่วงใยความปลอดภัยในสังคมจึงมีกฎหมายควบคุมการมีหรือใช้อาวุธเริ่มตั้งแต่การมีกรรมสิทธิ์ การพกพา ผลของการใช้ที่ลงโทษหลายระดับ ส่วนการมีปืนจะมีกฎหมายควบคุมโดยให้จดทะเบียนการครองปืน ทะเบียนพกพาปืน เนื่องจากมองเห็นอันตรายสูงของปืนมากพิเศษ ส่วนมีดยังไม่มีกฎหมายให้จดทะเบียน ประชาชนจึงครอบครองมีดหรือใช้มีดได้ตามอำเภอใจ ทั้งนี้ต้องมิใช่การละเมิดสิทธิ์ผู้อื่นด้วยมีด เช่น ใช้มีดข่มขู่คนอื่นมิให้รบกวนด้วยการชักมีดออกมา และอื่นๆ ถ้าทำ ย่อมมีความผิดอาญาได้ นอกจากนั้น กฎหมายอาญา หมวดลหุโทษ ยังกำหนดโทษสำหรับคนพกพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือ ทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุผลสมควร หรือพาไปในที่ชุมนุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อนมัสการ การรื่นเริง หรือการอื่นใด โดยมีโทษปรับไม่เกิน 100 บาทและ ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบอาวุธนั้น


การพกพาผิดกาละเทศะและเข้าเงื่อนไขของกฎหมายไม่สนใจว่าจะมีเจตนาอะไร แค่พกเข้าเงื่อนไขนี้ก็ต้องถูกลงโทษ ส่วนศาลจะสั่งริบอาวุธนั้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจ กฎหมายมิได้บังคับให้ริบทุกคดี การตีความหมายของ พกพาอาวุธ เป็นดุลพินิจของตำรวจ อัยการ หรือ ศาล เมื่อคดีนั้นอยู่ในมือของพวกเขาโดยยึดถือข้อเท็จจริงเป็นหลัก การเหน็บ การซ่อน ที่ติดตัวหรือใส่ในรถยนต์ที่หยิบใช้สอยได้ง่าย ถือเป็นการพกพาทั้งสิ้น ส่วนจะถูกเอาผิดทางกฎหมายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเห็นเจ้าหน้าที่ซึ่งพบเจอผู้พกพาอาวุธว่าจะแยกแยะคนอย่างไร เราอาจเคยเห็นตำรวจจับนักเรียนช่างกลที่พกมีดคัตเตอร์เกินกว่า 1 อัน แต่ไม่จับผู้หญิงที่พกมัน เนื่องจากตำรวจใช้ดุลพินิจว่าผู้หญิงมีเจตนาพกพาเพื่อป้องกันภัยมากกว่านักเรียนช่างกลที่อาจมีแผนไปฆ่าคนด้วยมีดคัตเตอร์ จึงต้องจับและริบมันไว้ก่อน


อีกความผิดเกี่ยวกับอาวุธในหมวดลหุโทษ คือ การยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้าน หรือที่ชุมนุมชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 วันหรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มันหมายถึง การยิงปืนโดยไม่มีเหตุอันควรในพื้นที่ซึ่งกฎหมายห้ามไว้ เช่น ยิงนก ยิงไล่หมาแมว ยิงโชว์ เป็นต้น และ คนชักหรือแสดงอาวุธในการวิวาทต่อสู้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตัวอย่างเช่น ด่าทอกันโมโหชักปืนหรือมีดออกมาขู่อีกฝ่าย แม้ยังไม่ได้ยิงกระสุนหรือแทงมีด ก็เอาผิดลหุโทษได้ ทั้งนี้ศาลจะเป็นผู้ใช้ดุลพินิจให้จำคุกหรือปรับก็ได้


คำถามที่มักได้ยินเสมอ คือ ทำไมตำรวจจับคนพกมีดคนนี้ แต่ไม่จับอีกคนที่พกเหมือนกัน มันยุติธรรมหรือไม่ ? คำตอบคือ หลักการปกครองต้องใช้ทั้งกฎหมายและรัฐศาสตร์ ดังนั้น ดุลพินิจของตำรวจมีผลให้คนพกมีดอาจไม่ถูกจับแล้วส่งฟ้องศาลก็ได้เมื่อเขามองว่าผู้พกไม่มีอันตรายต่อสังคมและมีเจตนาใช้มีดที่มีเหตุผลเพียงพอและน่าเชื่อถือ เช่น พกไว้ป้องกันตัวตอนค่ำคืนระหว่างเดินทางกลับบ้าน ใช้ประกอบวิชาในคณะ เป็นต้น เมื่อถูกค้นตัวแล้วพบมีดก็ต้องมีข้อแก้ตัวที่ฟังมีเหตุผลน่าเชื่อถือ จึงอาจไม่ถูกจับดำเนินคดี ส่วนปืนนั้นแม้ตำรวจไม่ดำเนินคดีตามลหุโทษ หากปืนไม่ได้จดทะเบียนหรือปืนเถื่อน จะต้องขึ้นศาลอย่างเดียวเพราะไปใช้พระราชบัญญัติปืนและเครื่องกระสุน ตำรวจไม่อาจใช้ดุลพินิจได้เลยเพราะถือว่าเป็นพฤติกรรมร้ายแรงตามกฎหมายปืน


อาวุธโดยสภาพอย่างปืนหรือมีดถือเป็นของอันตรายในสายตาของรัฐบาล จึงมีการควบคุมเข้มงวดตั้งแต่การพกพา ขอบเขตการใช้ มักมีบทกำหนดโทษไว้ ถ้าคิดจะมีอาวุธ ควรมีสติ รู้จักและควบคุมอาวุธให้ได้ มีความรับผิดชอบต่อสังคม ทุกครั้งที่มีการใช้มัน จะต้องเกิดความรับผิดทางกฎหมายและต่อผู้เสียหายเสมอ ปืนหรือมีดไม่ได้ถูกลงโทษจำคุกหรือประหารชีวิตหรือปรับ แต่เจ้าของอาวุธคือผู้รับโทษอาญา ก่อนจะมีหรือใช้อาวุธ ขอให้ตรองก่อนว่าพร้อมจะรับผิดชอบทางกฎหมายอาญาหรือแพ่งไหม ? ก่อนใช้อาวุธ เราเลือกได้ ถ้าใช้ไปแล้ว คนกำหนดชีวิตของเรา คือ บุคคลอื่น เช่น ศาล ตำรวจ อัยการ เจ้าหน้าที่คุก เป็นต้น ถ้าเลือกมีอาวุธ ก็ต้องควบคุมมัน มิใช่เป็นแค่คนถืออาวุธ เพราะเด็กก็ถืออาวุธได้


เรียบเรียงโดย Black Cuff

1 comment:

Batman said...

คุณ Black Cuff เป็นนักกฎหมายที่ส่งบทความดีๆมาให้ Thai self-defense เพื่อเตือนสติหลายคนที่อยากมีปืน มีมีด เพื่อป้องกันตัวซึ่งจะมาพร้อมกับความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ดังนั้นการใช้อาวุธปืนหรือมีดเพื่อป้องกันตัวนั้นต้องมี “สติ” คิดให้ดีก่อนที่จะพกและนำออกมาใช้แม้แค่ข่มขู่ก็ตาม

หลายคนเมื่อมีเรื่องขุ่นเคืองใจกับคนอื่นก็นำมีดออกมาแสดงให้เห็นเพื่ออวดอ้างว่าตนมีมีด การทำเช่นนี้ในบางครั้งไม่มีเหตุผลสมควรเราอาจกลายเป็นภัยคุกคามบุคคลอื่นเสียเอง ดังนั้นเส้นแบ่งระหว่างคนดีกับคนร้ายอาจบางนิดเดียวขึ้นกับความคิดและการกระทำของเราเอง

บางคนพกมีดแล้วจิตใจฮึกเหิมเกินจำเป็น มักคิดว่าเราเล่นมีด ฝึกมีดมาไม่กลัวใคร และคิดว่ามีดจะใช้แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง ซึ่งผิดถนัด..... เคยมีครูสอนยิงปืนท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า “หากเหตุการณ์ใดไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธปืนในการแก้ไข ก็จงอย่าใช้” คำพูดนี้ใช้ได้กับอาวุธมีดเช่นกัน

อย่างที่คุณ Black Cuff ให้ข้อคิดไว้ “ถ้าเลือกมีอาวุธ ก็ต้องควบคุมมัน มิใช่เป็นแค่คนถืออาวุธ” นอกจากรู้ว่าจะมีหรือใช้อาวุธอะไร รู้ข้อดี ข้อจำกัดของมัน และต้องใช้ด้วยเหตุผลที่เหมาะสม มีสติตลอดเวลา

Batman

 

Samsung LCD televisions