Saturday, March 31, 2012

Survival Knives


Survival Knives

มีดยังชีพ (Survival Knife) มักเป็นมีดที่นักเดินป่า นายพราน หรือผู้รักการผจญภัยในพงไพรนิยมพกติดตัว มักเป็นมีดขนาดใหญ่ เช่น พร้า (Machete) เพื่อใช้ฟันหรือตัดต้นหญ้งหรือกิ่งไม้เพื่อเปิดทางในการเดินทาง หรือใช้ทำฟืนหรือที่พัก เป็นต้น

แต่ก็มีมีดขนาดปานกลางซึ่งนิยมพกติดตัวได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นมีดขนาดใบ 5 ถึง 8 นิ้ว เป็นต้น ส่วนใหญ่มักจะใช้มีดใบตายมากกว่ามีดพับเนื่องจากให้ความแข็งแรงมากกว่ามีดพับ อีกทั้งน้ำหนักเบากว่าพร้าซึ่งมักยาวมากกว่าสิบนิ้ว และพกพาได้สะดวกมากกว่าสามารถใช้งานจิปาถะเล็กๆน้อยๆได้ดี

มีดถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือยังชีพที่สำคัญ ดังนั้นหลายครั้งเรามักจะพกทั้งพร้าและมีดสำรองเหน็บเอวเอาไว้อีกเล่มหนึ่งเพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการเลือกมีดใช้งานหากจำเป็นต้องเข้าป่าเป็นเวลาหลายวัน

สำหรับประชาชนทั่วไปหากจำเป็นต้องเดินทางเข้าไปในพื้นที่ซึ่งไม่คุ้นเคยและเป็นป่าเขา การพกมีดใบตายขนาดพอเหมาะสักเล่มก็ถือว่าเป็นการไม่ประมาทจนเกินไป

มีดยังชีพมีหลายแบบหลายขนาด ส่วนใหญ่ปลายมีดที่นิยมมักจะเป็น Drop หรือ Clip point (อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง Knife Blade Shapes เมื่อ 21 April 2011) เนื่องจากปลายมีดไม่หักหรือบิ่นง่าย นอกจากนั้นมีดแบบนี้ยังสามารถใช้ในการต่อสู้ป้องกันตัวได้ดีอีกด้วย

ส่วนใหญ่มักเป็นมีดคมเดียวและแบบใบเรียบ (Plain Blade) แต่บางครั้งก็มีใบกึ่งหยักซึ่งใช้ตัดเอ็นตกปลาหรือเลื่อยกิ่งไม้เล็กพอได้ โดยทั่วไปนิยมมีดซึ่งเป็นใบเรียบตลอดความยาวและหากเป็นมีดซึ่งมีด้ามเหล็กยาวตลอดถึงปลายด้าม (Full tang) ก็จะยิ่งให้ความแข็งแรงกับมีดได้ดียิ่งขึ้น (มีดเพื่อการยังชีพต้องเน้นความสมบุกสมบัน ทนต่องานหนักได้ดี ไม่หักหรือบิ่นง่าย)

คุณภาพของเหล็กที่ทำใบมีดก็มีให้เลือกหลากหลายตั้งแต่เหล็กธรรมดาซึ่งเป็นมิตรกับสนิม ไปจนถึง Stainless steel (มีโอกาสขึ้นสนิมได้น้อย) หรือทำจากเหล็กซึ่งกันสนิมได้ 100 เปอร์เซ็นต์ก็มี ราคาของมีดก็ขึ้นกับเหล็กที่ใช้ ความยาวของใบมีด การออกแบบ และชื่อเสียงของยี่ห้อที่ผลิต

มีดแบบนี้นิยมในหมู่ทหารเวลาปฏิบัติภาระกิจเช่นกัน เนื่องจากสามารถนำมาใช้ได้อย่างหลากหลายวัตถุประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ป้องกันตัวและการยังชีพ อีกทั้งขนาดไม่ใหญ่จนเกินไปสามารถพกติดตัวเดินทางระยะไกลได้

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับมีดขอให้มี “สติ”
                                                                                                            เรียบเรียงโดย Batman

Sunday, March 18, 2012

Police and Edged Weapon Training


Police and Edged Weapon Training

นาย Ernest R. Emerson ให้ความเห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจควรได้รับการฝึกฝนเกี่ยวกับอาวุธมีดอย่างเป็นระบบทั้งในระดับแผนกและส่วนบุคคล ถึงแม้ว่าตำรวจส่วนใหญ่จะพกอาวุธมีดไว้กับตัวขณะปฏิบัติหน้าที่ แต่หน่วยงานไม่มีนโยบายหรือข้อกำหนดเกี่ยวกับอาวุธมีดที่ควรพกพา อีกทั้งไม่มีการฝึกอบรมการใช้มีดอย่างปลอดภัยหรือข้อกำหนดในการใช้อาวุธมีดที่ชัดเจน

ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้มีดเพื่อช่วยเหลือเหยื่อซึ่งประสบอุบัติเหตุแล้วเกิดทำมีดบาดเหยื่อ เขาอาจต้องขึ้นศาลเป็นจำเลย ในขณะที่ตำรวจมีการฝึกยิงปืนกันอย่างแพร่หลายและมีกฏระเบียบกำหนดขอบเขตการใช้งานอย่างชัดเจน แต่มีดกลับไม่มีสิ่งเหล่านี้

ปัจจุบันพบว่ามีดเป็นอาวุธที่ถูกนำมาใช้ก่อเหตุอย่างกว้างขวางและเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องตอบโต้กับการถูกโจมตีด้วยอาวุธมีดมากขึ้น ดังนั้นตำรวจควรได้รับการเรียนรู้เกี่ยวกับอาวุธมีดหรือไม่? คำตอบคือ ควร แต่ไม่จำเป็นจะต้องเรียนตอบโต้กลับด้วยอาวุธมีดเสมอไป แต่เรียนรู้จุดอ่อนของอาวุธมีด

การถูกโจมตีด้วยอาวุธมีดมักมาจากคนร้าย ซึ่งหลักสูตรส่วนใหญ่จะพยายามให้เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามชักมีดหรือปืนออกมาเพื่อจะได้ตอบโต้กลับให้เร็วที่สุด ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง ทันทีที่ถูกโจมตีด้วยอาวุธมีดควรรีบป้องกันตัวด้วยมือเปล่าไปก่อน เพื่อให้พ้นอันตรายซึ่งกำลังเกิดขึ้นเบื้องหน้า อย่างน้อยก็อาจทำให้ได้รับบาดเจ็บน้อยลง เพื่อให้มีเวลาหรือระยะห่างซึ่งมากพอที่เราจะชักอาวุธออกมาใช้ได้

การถูกโจมตีส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันไม่ทันได้ตั้งตัว ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงควรใช้เวลาส่วนใหญ่ในการฝึกฝนตอบสนองเพื่อป้องกันตัวด้วยมือเปล่าจากภัยคุกคามที่มีอาวุธ

ถึงแม้เจ้าหน้าที่หลายคนอาจอยากเรียนรู้วิธีตอบโต้กลับหรือต่อสู้ด้วยอาวุธมีด แต่สิ่งแรกที่นาย Ernest R. Emerson แนะนำว่าควรเรียนรู้ก่อนก็คือ การเอาตัวรอดจากการถูกโจมตีด้วยอาวุธมีด

หลักสูตรการฝึกอบรมควรเริ่มด้วยเรื่องของการใช้อาวุธมีดอย่างปลอดภัยก่อน อีกทั้งสอนการใช้มีดเพื่องานกู้ภัยหรือยามฉุกเฉิน สอนการถือมีดอย่างถูกวิธีและการใช้มีดให้ปลอดภัยในระยะประชิดกับตัวเหยื่อในงานกู้ภัย เป็นต้น

ขณะนี้เริ่มมีหน่วยงานราชการตำรวจหลายแห่งในสหรัฐมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับอาวุธมีดสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ลักษณะของมีดที่ใช้งานประจำควรดูเหมือนอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย (Safety tool) มากกว่าที่จะดูเป็นอาวุธ มีมีดหลายแบบที่มีรูปลักษณ์ภายนอกเพื่อใช้ในงานกู้ภัย (Rescue tool) แต่ก็สามารถนำมาใช้เพื่อการป้องกันตัวได้ด้วย

โดยส่วนตัวแล้วการฝึกการป้องกันตัวด้วยอาวุธมีดนั้นจะทำให้เราเรียนรู้ข้อเด่นและข้อจำกัดของการโจมตีหรือถูกโจมตีด้วยอาวุธมีด ซึ่งนำไปสู้วิธีการป้องกันตัวจากอาวุธมีดไม่ว่าจะใช้มือเปล่าหรือใช้วัตถุอื่นใดเพื่อการป้องกันตัว นอกจากนั้นทักษะการใช้อาวุธมีดอาจนำมาปรับใช้กับสิ่งของรอบตัวหรือแม้แต่มือเปล่าในการป้องกันตัวจากภัยคุกคามร้ายแรงได้อีกด้วย

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับมีดขอให้มี “สติ”
                                                                                                 
เรียบเรียงโดย Batman
                                                                        อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Offensive weapons or simply tools? ของ Ernest R. Emerson
หมายเหตุ นาย Ernest R. Emerson เป็นเจ้าของบริษัทผลิตมีดยี่ห้อ Emerson และเป็นครูฝึกมีดที่มีชื่อเสียงของอเมริกา

Sunday, March 4, 2012

Boot Knife


Boot Knife

Boot knife ได้ชื่อนี้มาจากทหารเยอรมันในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อมาแพร่หลายไปทั่วโลก โดยทหารเหล่านี้เหน็บมีดสำรองไว้ที่รองเท้าบูธเป็นมีดใบตายขนาดเล็ก ส่วนใหญ่จะมีสองคม (Dagger) โดยใบมีดมักยาว 3 ถึง 5 นิ้ว มีซองมีดพร้อมคลิปหนีบ มีดอาจพกซ่อนไว้ภายในหรือภายนอกรองเท้าบูธก็ได้

มีดแบบนี้ถือเป็นมีดพกซ่อนแบบหนึ่ง สำหรับประชาชนทั่วไปซึ่งไม่ได้ใส่รองเท้าบูธเป็นประจำก็อาจนำมีดแบบนี้มารัดไว้บริเวณข้อเท้า (หากระบบล็อกมีดแน่นหนาอาจหันด้ามชี้ลงพื้น เพื่อสะดวกในการดึงมีดออกมาใช้งาน ยกเว้นบางแบบบางรุ่นซึ่งต้องให้ด้ามชี้ขึ้นด้านบน) สามารถนำมาใช้ได้ในยามฉุกเฉิน

ในบางประเทศห้ามประชาชนพกมีดใบตาย มีดสองคม หรือมีดพกซ่อน ซึ่ง Boot knife จะถูกจัดอยู่ในทุกกลุ่มเหล่านี้ หากไปต่างประเทศจึงควรศึกษากฏหมายของประเทศเหล่านั้นให้ดีก่อนจะพกมีด (วิธีดีที่สุดก็คือ ไม่ควรพกมีดในต่างประเทศ เพราะหากถูกจับผิดกฏหมายคงไม่เป็นเรื่องที่สนุกอย่างแน่นอน)

การใช้มีดสองคมแบบนี้มีวิธีการใช้ที่หลากหลาย ถือเป็นหนึ่งในมีดที่มีประสิทธิภาพมากในการต่อสู้ป้องกันตัวหากรู้วิธีใช้อย่างถูกต้อง (โดยส่วนตัวแล้วชอบมีดแบบนี้มาก)

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับมีดขอให้มี “สติ”

                                                                                    เรียบเรียงโดย Batman
                                                                        อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง History of Boot Knives and Daggers
 

Samsung LCD televisions