Friday, July 9, 2010

กรมธรรม์กันภัย โครงการ 2 (บ้านปลอดภัย)

กรมธรรม์กันภัย โครงการ 2 (บ้านปลอดภัย)



ในการแบ่งสถานการณ์เสี่ยงต่อภัยคุกคามออกเป็นหลายระดับ โดยมีรหัสสีกำกับ (ดูบทความ States of Awareness เพิ่มเติม) ไม่ว่าสำนักไหนๆก็ยกให้ “บ้าน” เป็นสถานที่ปลอดภัยที่สุด ซึ่งก็ถูกต้องแล้วผู้คนส่วนใหญ่จึงรู้สึกผ่อนคลายเมื่ออยู่ในบ้าน แต่จากสถิติของกรมตำรวจ อาชญากรรมทางเพศ ภัยคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สิน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในอาคารบ้านเรือนของเรานี่เอง เกิดอะไรขึ้นทำไมข้อมูลทั้งสองจึงขัดแย่งกันเอง เรามาค้นหาความจริงกัน


เจาะลึกลงแต่ละคดี พบว่าคนร้ายส่วนใหญ่ล้วนเป็น “คนนอก” ที่เข้ามาก่อคดีในบ้านของเหยื่อ ซึ่งวางใจใน “ที่มั่น” ของตัวเองจนเผลอปล่อยให้คนร้ายรุกล้ำเข้ามาในบ้านได้ ดังนั้นระบบรหัสสีจึงไม่ผิด ผิดที่เราประมาทเอง Thai self-defense.com จึงขอเสนอกรมธรรม์กันภัย โครงการ 2 เพื่อเป็นแนวทางให้คุณปรับปรุง “ที่มั่น” อันปลอดภัยนี้ให้ปลอดภัยอย่างแท้จริงและตลอดไป


เริ่มจากบริเวณบ้านก่อน ผมเคยแนะนำไว้ในบทความก่อนหน้านี้ถึงวิธีใช้จินตนาการสร้างทักษะ อยากให้คุณลองทำดูอีกครั้ง เลือกวันหยุดสักวันชวนเพื่อนผู้ชายที่ร่างกายแข็งแรงมาที่บ้าน คุณลงกลอนหน้าต่างทุกบาน ล็อกประตูหน้าบ้าน หลังบ้าน ปิดประตูรั่วให้เรียบร้อย คุณใช้จินตนาการสมมุติว่าคุณและเพื่อนเป็นขโมยที่ต้องหาทางเข้าบ้านให้ได้ เหตุที่ผมให้คุณชวนเพื่อนชายที่ร่างกายแข็งแรง เพื่ออาศัยความเห็นของเขาซึ่งเป็นคนนอก ทำให้เขาไม่มีอคติกับบ้านของคุณ เมื่อคุณตั้งโจทย์ให้เขาเป็นขโมยที่ต้องการหาทางเข้าบ้านให้ได้


เนื่องจากเขาแข็งแรงกว่าคุณเขาจึงมองดูระบบความปลอดภัยของบ้านคุณด้วยมุมมองที่แตกต่าง เช่น รั่วบ้านที่คุณปีนไม่ไหว เขาอาจปีนได้สบาย คุณก็จดไว้ว่าต้องเพิ่มเหล็กดัดบนรั่วให้สูงขึ้น กุญแจประตูหน้าที่คุณคิดว่าแข็งแรงเหลือเฟือ เขามองว่าใช้ไขควงงัดทีเดียวก็หลุด คุณก็ต้องเปลี่ยนกุญแจใหม่ให้แข็งแรงขึ้น ระเบียงห้องนอนที่คุณมองจากพื้นรู้สึกสูงสุดเอื้อม เพื่อนคุณอาจเหยียบกระถางบัวเหนี่ยวขอบระเบียงปีนขึ้นไปได้สบาย คุณก็ต้องย้ายกระถางบัวไปทางอื่น หรือลบเหลี่ยมมุมระเบียงอย่าให้มีที่เกาะได้ นอกจากนี้ยังมีอะไรอีกมากมาย ซึ่งอาจทำให้คุณแปลกใจ เช่น ต้นไม้ต้นเล็กๆที่พ่อแม่คุณเริ่มปลูกริมรั่วตอนคุณเกิด ตอนนี้มันโตแผ่กิ่งก้านออกมาให้ขโมยมันเอื้อมมือเข้ามาถอดกลอนประตูหลังได้ง่ายๆ ทุกอย่างที่คุณคิดว่าต้องแก้ไข ต้องรีบจัดการทันทีอย่าผลัดวันประกันพรุ่ง แล้วก็อย่าลังเลที่จะทำเหล็กดัดครอบหน้าต่างหรือเสริมประตูเหล็กหลังประตูไม้บานเดิม อันทำให้บ้านเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม แต่สังคมสมัยนี้ก็เปลี่ยนไปมากเมื่อครั้งคุณเริ่มซื้อบ้านหลังนี้เหมือนกัน


ดูนอกบ้านแล้ว ตอนนี้มาดูในบ้านบ้าง ห้องที่ควรปรับปรุงก่อน คือ ห้องนอนของคุณเอง มันเป็นหลุมหลบภัยส่วนตัวที่คุณจะหลับได้สนิทที่สุด ถามเพื่อนคุณว่า ห้องคุณแข็งแรงพอหรือไม่ ถ้าเขาพบจุดบกพร่องตรงไหน คุณควรรีบปรับปรุงเสีย เช่น เพิ่มกลอนประตูอีกชุดสองชุดพร้อมโซ่คล้องที่มั่นคง หากคุณติดกล้องวงจนปิดหรือมีโทรศัพท์พื้นฐานควรต่อสายพ่วงเข้ามาในห้องนอน คุณจะได้มีโทรศัพท์สำรองไว้โทรหาตำรวจหรือขอความช่วยเหลือ


จบเรื่องบ้านแล้วก็มาเรื่องคนในบ้าน ดังที่เขียนไว้ก่อนหน้านี้ว่า อาชญากรรมที่เกิดในบ้านส่วนใหญ่เพราะ “คนนอก” ที่แอบแฝงเข้ามาก่อเหตุ คำว่า “คนนอก” หมายถึง ใครก็ตามที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้น อาทิเช่น ญาติทั้งที่ใกล้ชิดและห่างๆ แฟน หรือเพื่อนสนิทของคนในบ้าน บ้านใกล้เรือนเคียง คนรู้จัก คนงานต่อเติมบ้าน ยามหมู่บ้าน คนจดมิเตอร์น้ำ-ไฟ คนล้างแอร์ ฯลฯ คุณต้องตั้งกฎเหล็กให้คนทั้งบ้านทำตาม คือ หากมีคนนอกเข้ามาในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นใคร ด้วยเหตุผลใดก็ตาม ต้องถือว่าบ้านคุณมีความเสี่ยงอยู่ในรหัสสีเหลืองหรือส้มทันที นั้นคือ ทุกคนในบ้านต้องถือเป็นหน้าที่ที่ต้องสอดส่องอย่างระแวดระวัง หากคนที่เข้ามาในบ้านเป็นคนแปลกหน้าโดยอาจอ้างว่า คนในบ้าน (ที่ไม่อยู่ตอนนั้น) ใช้ให้มา ให้คนในบ้านทำดังนี้ทันที


1. ใช้โทรศัพท์มือถือ ถ่ายรูปคนเหล่านั้นทุกคนแล้วส่งไปยังผู้ถูกอ้างชื่อเพื่อขอคำยืนยัน หากติดต่อไม่ได้ ห้ามคนเหล่นนั้นเข้ามาในบ้านเด็ดขาด


2. หากผู้มาเป็นคนคุ้นหน้าคุ้นตาแต่ในบ้านไม่มีผู้ชายอยู่เลย คนที่อยู่ต้องโทรขอคำยืนยันกับเจ้าของบ้าน แล้วอาจโทรตามเพื่อนบ้านหรือยามหมู่บ้านมาเป็นเพื่อน แต่หากติดต่อไม่ได้ ห้ามเปิดประตูเด็ดขาด


3. หากผู้มาเป็นเจ้าหน้าที่หรืออ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่มาเพราะมีคนแจ้งเหตุ แต่คนในบ้านติดต่อคนแจ้งเหตุไม่ได้ ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่คนนั้นเข้าเด็ดขาด แล้วต้องโทรตามเพื่อนบ้านหรือยามหมู่บ้านมาเพื่อให้มีคนอยู่มากขึ้น


4. สั่งเด็กคนรับใช้ เด็กวัยรุ่นหรือผู้สูงอายุในบ้าน ว่าหากไม่ได้บอกล่วงหน้าแต่มีใครก็ตามมาอ้างว่ามาส่งของ มาขนของ คนที่อยู่นอกบ้านเกิดอุบัติเหตุให้ไปเยี่ยม อยู่โรงพักให้เตรียมเงินไปประกัน ฯลฯ จะอย่างไรก็ตามให้ติดต่อแจ้งทุกคนให้ทราบเพื่อตัดสินใจ อย่าปล่อยให้ผู้แอบอ้างเข้ามาหรือตามเขาออกไปเป็นอันขาด


เพียงสี่ข้อนี้หากทุกคนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เท่ากับคุณซื้อกรมธรรม์กันภัยที่มั่นคงให้กับบ้านของคุณแล้ว บ้านก็จะเป็นวิมานของคุณไปนานแสนนาน


เรียบเรียงโดย Snap shot

1 comment:

Batman said...

ระบบรักษาความปลอดภัยในอาคารไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือที่ทำงาน แบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ การป้องกันก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ

การป้องกันก่อนเกิดเหตุ (สำคัญที่สุด) เป็นมาตรการเพื่อลดโอกาสที่คนร้ายจะเลือกเข้ามาก่ออาชญากรรมในสถานที่ของเรา เช่น การไม่เลือกสถานที่อยู่อาศัยในบริเวณที่เปลี่ยวหรือใกล้แหล่งเสื่อมโทรม เลือกอยู่ในหมู่บ้านที่มีระบบรักษาความปลอดภัยอย่างดี การแสดงให้ผู้คนภายนอกรู้ว่าบ้านของเราติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยภายในบ้าน เป็นต้น อีกทั้งความระแวดระวังภัยและไม่ประมาทของคนในบ้านก็มีส่วนสำคัญของความปลอดภัยในบ้านเช่นกัน

การป้องกันขณะเกิดเหตุ การติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยในบ้าน เช่น ระบบตรวจจับความเคลื่อนไหวซึ่งสามารถตรวจจับคนร้ายได้ขณะที่เราไม่อยู่บ้าน ระบบกล้องวงจรปิดที่มีคนคอยดูหน้าจอตลอดเวลา (มักใช้ในอาคารที่ต้องการระดับรักษาความปลอดภัยสูง) เป็นต้น แต่หากภัยคุกคามเข้ามาในขณะที่เราอยู่ในบ้าน คงต้องพึ่งพาทักษะในการเอาตัวรอดของผู้เผชิญเหตุเป็นสำคัญ

การป้องกันหลังเกิดเหตุ ส่วนใหญ่เป็นการสืบทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้วและหาทางแก้ไข เช่น ระบบกล้องวงจรปิดเราสามารถดูบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในหรือภายนอกบ้านและอาคาร เพื่อนำไปสู่การตามจับคนร้ายมาดำเนินคดีและติดตามทรัพย์สินที่สูญหายไป สุดท้ายก็หาวิธีการหรือมาตรการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ร้ายเช่นนั้นเกิดขึ้นอีก

การเตรียมความพร้อมตั้งแต่ที่ตั้งอาคารสถานที่ ตรวจสอบความปลอดภัยทั้งภายในและภายนอกอาคาร การเลือกระบบรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ การเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ในบ้านและผู้อยู่อาศัยภายในบ้านเกี่ยวกับความปลอดภัยก็เป็นส่วนสำคัญเช่นกัน เราไม่จำเป็นจะต้องเลือกระบบรักษาความปลอดภัยที่แพงที่สุดแต่เลือกระบบที่เหมาะสมที่สุดเท่าที่เราพอจะจัดหามาได้

จะเห็นได้ว่าการป้องกันเหตุร้ายในบ้านและอาคารต้องอาศัย 2 ปัจจัย คือ คนและอุปกรณ์ เป็นสำคัญ การเตรียมตัวและความตระหนักรู้ของคนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด อุปกรณ์เป็นเพียงส่วนเสริมเท่านั้น

Batman

 

Samsung LCD televisions