Thursday, April 1, 2010

ทักษะสำคัญกว่าความรู้

ทักษะสำคัญกว่าความรู้



“ผม (ดิฉัน) อยากเรียนศิลปะป้องกันตัว จะเรียนอะไรดี แล้วจะหาครูเก่งๆได้ที่ไหน ผม (ดิฉัน) อยากเรียนกับครูซึ่งเก่งที่สุด”


ผมได้รับคำถามเช่นนี้บ่อยมาก ซึ่งทุกครั้งผมก็จะตอบเหมือนกับที่เคยเขียนไว้ในบทความก่อนหน้านี้ คือ “ระบบไหนถูกใจคุณก็เรียนไปเถอะ เลือกเรียนได้แล้ว หาที่เรียนใกล้บ้าน ถ้าคุณไม่เริ่มต้นเสียที ก็อาจต้องรอจนตลอดชีวิต”


เคยเขียนไว้ว่า ในเมืองไทยไม่ค่อยมีใครสอน Self defense โดยตรง ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องเลือกเรียน Martial Art ให้ดูว่าระบบใดถูกใจเราแล้วก็มองหาที่ใกล้บ้านเพื่อความสะดวก เรียนกับครูสอนคนใดก็ได้ที่เราเห็นว่าเขามีความเป็นครูมากพอที่จะจัดอยู่ในสองประเภทนี้ คือ ครูที่ดีหรือครูที่ฉลาด


ครูที่ดี คือ ครูที่ยินดีสอนทุกอย่างที่ตัวเองรู้


ครูที่ฉลาด คือ ครูที่ยินดีสอนทุกสิ่งที่ลูกศิษย์ควรรู้


ครั้งนี้ผมจะขอเพิ่มเติมว่า อย่าตัดสินครูของคุณจากสีของสายคาดเอว ถ้วยรางวัลหรือเหรียญที่ตั้งโชว์ในตู้ หรือคำคุยโม้โอ้อวดที่เขาพูดให้คุณฟัง สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถทำให้คุณเรียนรู้ได้ดี หากครูของคุณไม่มีหัวใจซึ่งพร้อมจะถ่ายทอดความรู้ให้อย่างแท้จริง คุณควรพูดคุยกับเขา บอกเขาตรงๆว่าคุณต้องการเรียน Martial Art ไปทำไม ถามเขาทุกเรื่องที่คุณสงสัย เมื่อเลือกครูได้แล้วก็ควรไว้วางใจที่จะเรียนรู้จากเขาต่อไป ต้องระลึกไว้ว่า สายดำ ถ้วยหรือเหรียญรางวัลใดๆของครูไม่มีส่วนช่วยคุณให้ประสบความสำเร็จได้ ถ้าคุณใช้วิธีเรียนแบบมาตรงเวลา กลับตรงเวลา ทำทุกอย่างที่ครูบอก เลียนแบบท่าทางที่ครูทำ โดยไม่พยายามทำความเข้าใจหรือกลั่นกรองเสียก่อน เพราะคุณมาเรียน Martial Art ด้วยเหตุผลเพื่อการใช้ป้องกันตัว และเนื่องจากคุณมีเวลาน้อย (อายุเลยวัยเรียนมาแล้ว และมีหน้าที่การงานต้องรับผิดชอบอยู่) ดังนั้นคุณต้องมีวิธีพิเศษในการเรียนรู้ คือ


1. ดูและฟังอย่างถี่ถ้วน นักเรียน Martial Art ส่วนใหญ่จะให้สนใจเฉพาะเวลามาเรียนเท่านั้น แต่ถ้าอยากเรียนรู้เร็วก็ต้องให้เวลากับมันมากกว่านี้ มีสื่อการเรียนการสอนมากมายในยุคสมัยนี้ทั้งหนังสือ ซีดีสาธิตก็มีขายหลายสำนัก ถ้าหามาดูมาศึกษาเพิ่มเติมนอกเวลาเรียนได้ก็จะทำให้เราเข้าใจและก้าวหน้าได้เร็วขึ้น การดูก็ต้องดูให้ชัดเจน ทุกการเคลื่อนไหวที่สัมพันธ์กันทั้งมือและเท้า การฟังครูอธิบายหรือในซีดีอธิบายเทคนิคและขั้นตอนก็ฟังให้ชัดเจน สามารถย้อนกลับมาฟังหรือดูใหม่ได้เรื่อยๆ ถามครูผู้สอนให้เข้าใจอย่างท่องแท้ ก็จะเป็นการใช้เวลาอย่างคุ้มค่า


2. วิเคราะห์สิ่งที่ครูสอนอย่างละเอียด Martial Art ทุกระบบได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น นับย้อนเวลาได้เป็นร้อยเป็นพันปี ย่อมแตกกิ่งก้านสาขาจนมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย บางส่วนก็ไม่เหมาะกับยุคสมัย บางส่วนก็เป็นท่าแสดงที่มีลูกเล่นแพรวพราว อาจใช้เทคนิคชั้นสูงที่ละเอียดอ่อนมากๆหรือใช้สมรรถภาพของร่างกายกล้ามเนื้ออย่างชนิดที่ต้องใช้เวลาฝึกกันห้าปีสิบปีเป็นอย่างน้อย จึงเป็นหน้าที่ของผู้รับการฝึกเองที่จะกลั่นกรองสิ่งที่ครูสอน สิ่งที่อ่านพบในหนังสือหรือสิ่งที่เห็นในซีดี ถ้าส่วนไหนที่ไม่เข้ากับหลักเกณฑ์ของ Self defense ก็ไม่ต้องให้ความสำคัญมากนัก หลักเกณฑ์นั้นคือ


2.1 ไม่เน้นการรุกเข้าปะทะ แต่มุ่งปัดป้องกันตัวให้ปลอดภัยเป็นหลัก


2.2 มีการเคลื่อนไหวเรียบง่ายไม่ฝืนธรรมชาติของเรา


2.3 ทั้งการตั้งรับและตอบโต้เป็นไปอย่างกระชับไม่ยืดเยื้อ

2.4 สำคัญที่สุดคือ ไม่ต้องมีกระบวนท่าเยอะแยะมากมาย ยิ่งน้อยยิ่งดี

3 ฝึกให้ชำนาญจริงๆ ข้อนี้สำคัญที่สุด เมื่อเลือกเทคนิคที่ถูกใจของเราแล้ว ต้องฝึกบ่อยๆ ทำซ้ำๆหลายครั้ง อย่าเบื่อหน่าย อย่ารีรอเพราะคิดว่าอาจมีท่าอื่นหรือเทคนิคอื่นที่ดีกว่าหรือยอดเยี่ยมกว่านี้ ผมขอยืนยันว่าในโลกนี้ไม่มีท่าไม้ตาย วิชาสุดยอด หรือคำภีร์ลับใดๆทั้งสิ้น เทคนิคไหนที่คุณใช้ได้คล่องที่สุดก็คือ ไม้ตายของคุณ เพราะการต่อสู้ป้องกันตัวเป็นเรื่องเฉพาะตัว การไปดูในหนัง ในซีดีสาธิต Martial Art หรือดูจากคนเก่งอื่นๆแล้วพยายามลอกเลียนแบบท่าทางที่ดูเท่ ดูสวยงาม อาจใช้ไม่ได้ผล เพราะท่าเหล่านั้นอาจเป็นท่าสาธิตที่เน้นความคล่องแคล่วสวยงามแต่ไม่คำนึงถึงการใช้งานจริงและอาจไม่เหมาะกับสรีระหรือความถนัดของคุณ อย่าผูกตัวเองไว้กับกฎเกณฑ์ของ Martial Art ที่คุณเรียน เช่น บางระบบเขาไม่ให้เตะ บางระบบไม่ให้ต่อย แต่คนร้ายในชีวิตจริงมันไม่สนใจกติกาเหล่านี้ คุณสร้างระบบ Self defense ของคุณขึ้นมาได้เอง เพื่อปกป้องชีวิตของคุณและคนที่คุณรัก “ฝึก ฝึก ฝึก ฝึกท่าเดียวอย่างหนัก ดีกว่ามี 20 ท่าแต่ใช้ไม่ได้สักท่า”

เรียบเรียงโดย Snap shot

1 comment:

Batman said...

ในประเทศไทยมีศูนย์ฝึกอบรมการป้องกันตัวโดยตรงน้อยมาก ส่วนใหญ่มักผูกติดกับศิลปะการต่อสู้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ภัยคุกคามต่อร่างกายในปัจจุบันนั้นมีหลายรูปแบบทั้งที่ใช้และไม่ใช้อาวุธ อีกทั้งอาวุธที่ใช้นั้นก็มีความหลากหลาย เช่น ปืน มีด ไม้ เชือก เป็นต้น

แม้แต่การป้องกันตัวด้วยมือเปล่าในปัจจุบันก็มีสถานการณ์ที่หลากหลายมากขึ้น ศิลปะการต่อสู้ส่วนใหญ่มักสอนการต่อสู้ในท่ายืน แต่หากเราถูกกดหรือล้มลงกับพื้น เช่น ภัยคุกคามทางเพศ เราจะแก้ไขอย่างไร ดังนั้นไม่มีศิลปะการต่อสู้เพียงรูปแบบเดียวที่สามารถครอบคลุมทักษะที่จำเป็นในการเอาตัวรอดได้มากกว่าการป้องกันตัวแบบผสมผสาน (นำความรู้ที่สำคัญมาจากศิลปะการต่อสู้หลายแขนงเพื่อประยุกต์ใช้)

เมื่อเลือกเรียนศิลปะการต่อสู้ (Martial Art) ระบบใดก็ตาม ก็ต้องดำเนินไปตามที่วิชานั้นกำหนดไว้เป็นขั้นตอนอย่างชัดเจน ไม่สามารถเลือกเรียนเฉพาะที่สามารถนำไปใช้จริงได้เท่านั้น ต้องเรียนทั้งหมดให้ครบถ้วนซึ่งเป็นหน้าที่ของครูฝึกสอน

เคยมีคนรู้จักซึ่งเขาได้สายดำ Karate, Aikido และ Hapkido พูดไว้ว่า “เรียนมาห้าปีได้สายดำแต่ความรู้ทั้งหมดที่สามารถนำมาใช้ได้จริงๆประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ที่เหลือไม่เหมาะสมกับการใช้งานจริง”

การเรียน Martial Art นั้นเป็นการเรียนรู้ความสมบูรณ์ของท่วงท่า ปรัชญาทางวัฒนธรรม จึงใช้เวลานานในการทำท่าทางต่างๆให้สมบูรณ์

สีของสายคาดเอวเป็นเพียงเครื่องบงบอกว่าเรียนครบตามเวลาที่กำหนด ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันถึงทักษะความรู้ที่มีอยู่จริง ดังนั้นจึงอย่าไปยึดติดกับสีของสายคาดเอว ลองนึกดูว่าหากถูกจู่โจม ถูกทำร้าย ถูกทำให้ล้มลงกับพื้น ถูกปืนหรือมีดจี้ ถูกทำร้ายในรถหรือในพื้นที่คับแคบ เราคิดว่าสามารถแก้ไขและป้องกันตัวได้หรือไม่ ถ้ายังไม่ได้สิ่งนั้นเป็นเครื่องบ่งบอกว่าเราต้องหาความรู้ให้มากกว่านี้

เมื่อเรียน Martial Art ก็จะเน้นหนักไปที่การฝึกฝนร่างกายเป็นหลัก ไม่ได้แนะนำหรือสอนวิธีการเผชิญเหตุร้าย การเอาตัวรอดที่ถูกต้อง ดังนั้นผู้รับการฝึกจึงขาดทักษะและความรู้หลายด้านเกี่ยวกับการป้องกันตัว (การใช้กำลังเข้าปะทะเป็นเพียงสอนน้อยของการป้องกันตัว แต่เป็นส่วนใหญ่ของศิลปะการต่อสู้)

Thai self-defense จึงพยายามให้ความรู้กับประชาชน รวมทั้งแนวคิดเกี่ยวกับการป้องกันตัว อีกทั้งพยายามแยกแยะความแตกต่างระหว่าง ศิลปะการต่อสู้ (Martial Art) กับ การป้องกันตัว (Self-defense) ถึงแม้ในหลายมิติทั้งสองอย่างนี้มีความเกี่ยวพันกันอยู่ และหากต้องการฝึกเทคนิคในการป้องกันตัวก็สามารถเข้ารับการฝึกอบรมได้ในหลักสูตรที่กำหนดไว้

Batman

 

Samsung LCD televisions