Thursday, May 26, 2011

พฤติกรรมเสี่ยง


พฤติกรรมเสี่ยง


เคยเขียนไว้ในบทความชิ้นแรกๆว่า องค์ประกอบสำคัญที่เอื้อต่อคนร้ายที่จะก่อกรรมทำเข็ญกับเหยื่อ คือ คนใช่ เวลาชอบ ทำเลช่วย ซึ่งทั้งสามปัจจัยนี้หากเกิดขึ้นแม้เพียงข้อเดียวก็อาจเป็นเหตุให้คนร้ายตัดสินใจเลือกเราเป็นเหยื่อได้แล้ว วันนี้จะขอกล่าวถึงองค์ประกอบแรก คือ คนใช่ ซึ่งคนนี้เองเป็นเหมือนสารตั้งต้นที่รอปัจจัยอื่นๆมาประกอบเพื่อผสมผสานกลายเป็นคดีอาชญากรรมให้ได้อ่านกันทุกๆเช้า


จะขอกล่าวถึงพฤติกรรมหลายอย่างเมื่อเราปฎิบัติเป็นอาจินก็เหมือนป้ายประกาศเชิญชวนคนร้ายให้เลือกเราเป็นเหยื่อ


1.      มีโลกส่วนตัวสูง เมื่ออยู่นอกบ้านระหว่างเดินทาง รอเวลานัด รอคน รอคิว รอเวลา หลายคนมีวิธีฆ่าเวลาที่แตกต่างกัน เช่น เสียบหูฟังเพลงจากเครื่องเสียงต่างๆ พูดโทรศัพท์ตลอดเวลาแม้แต่ตอนเดินข้ามถนนหรือวิ่งไปขึ้นรถโดยสารหรือรถไฟฟ้าก็ไม่หยุดพูด กดโทรศัพท์ส่ง BB อ่านหนังสือ เล่นอินเตอร์เน็ตผ่านโน้ตบุ๊ก เล่นเกมส์กด ฯลฯ พฤติกรรมเหล่านี้กีดกันผู้คนจากสภาพแวดล้อมอย่างสิ้นเชิง จนขาดความระมัดระวังตัว และเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนคนร้ายตัดสินใจเลือกคุณเป็นเหยื่ออย่างไม่ลังเล


2.      บ้าหอบฟาง ถ้าคุณมีรูปแบบชีวิตที่ต้องทำกิจกรรมต่างๆในแต่ละวันเพื่อให้ภาระกิจทั้งหมดลุล่วงโดยราบรื่น คุณเลยต้องมีกระเป๋าใบโตสะพายติดตัวตลอดเวลา แล้วเอาอุปกรณ์ที่คุณคิดว่าจำเป็นต้องใช้ในแต่ละวันใส่รวมกันไว้ในกระเป๋าเพื่อกันลืม เช่น โทรศัพท์มือถือหลายเครื่อง สมุดโน้ตจดงาน เครื่องแต่งหน้าครบชุด เครื่องประดับชุดใหญ่สำหรับงานกลางคืน กุญแจรถ กุญแจบ้าน บัตรเครดิต ฯลฯ แน่นอนของมากขนาดนี้กระเป๋าใบใหญ่นี้ก็เหมือนตู้โชว์สินค้าที่คุณแบกติดตัวไปทั่วเมือง แม้คุณพยายามกอดไว้กับตัวเพื่อความปลอดภัย แต่ความจริงแล้วถ้าคนร้ายตัดสินใจจะแย่งชิงมันไปซึ่งๆหน้าคุณก็ไม่อาจปกป้องมันไว้ได้หรอก การหอบหิ้วกระเป๋าใบโตนี้จึงเหมือนคุณคอยกวักมือเรียกคนร้ายให้มาเล่นงานคุณนั่นเอง ดังนั้นคุณควรพกพาเอกสารและเงินสดในกระเป๋าเท่าที่จำเป็น แล้วถ่ายสำเนาบัตรที่สำคัญเก็บไว้ที่บ้านหรือในรถอีกชุดเผื่อตัวจริงถูกแย่งชิงไปคุณจะได้แจ้งหายได้สะดวก มีเบอร์โทรบริษัทเจ้าของบัตรทุกใบที่คุณพกจดไว้ที่บ้านหรือในรถ เผื่อถูกขโมยหรือแย่งชิงไปจะได้แจ้งอายัดได้ทัน มีอุปกรณ์เสริมสวย อุปกรณ์สื่อสารหรือเครื่องประดับเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และพยายามแยกเก็บในกระเป๋าเล็กๆหลายใบ อย่ารวมไว้ในกระเป๋าใบใหญ่ใบเดียวเผื่อถูกขโมยจี้ปล้นจะได้เหลืออยู่บ้าง


3.      หมายกำหนดการ “อันตราย” ในสังคมเมืองนั้นผู้คนส่วนหนึ่งที่มีเศรษฐกิจดีกว่าคนทั่วไปมักมีรูปแบบชีวิตที่เต็มไปด้วยหมายกำหนดการต่างๆ เพราะเชื่อว่าการบริหารจัดการเวลาอย่างมีระบบระเบียบจะทำให้ทำกิจกรรมต่างๆได้มากขึ้นในแต่ละวัน เป็นการใช้เวลาอย่างคุ้มค่า ซึ่งมันก็ถูกเมื่อคิดเช่นนี้ในขณะทำงานอาชีพ แต่มันกลับกลายเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ช่วยให้คนร้ายเล่นงานเราในชีวิตประจำวันได้ง่าย ดังนั้นถ้าคุณมีหมายกำหนดการประจำ เช่น เช้าวันเสาร์ไปฟิตเนส บ่ายวันอาทิตย์ไปล้างรถที่คาร์แคร์เจ้าประจำ ฯลฯ ขอให้รู้ว่าหมายกำหนดการเหล่านี้เป็นเหมือนการนัดหมายให้คนร้ายมารอเล่นงานเราตามเวลาและสถานที่ดังกล่าว เพราะผลการวิเคราะห์เพื่อการป้องกันอาชญากรรมของหน่วยงานสังกัดกระทรวงมหาดไทยของชาติตะวันตกระบุว่า คนร้ายส่วนใหญ่มักเลือกเหยื่อที่เขาเคยพบเคยเห็นมาก่อนในพื้นที่ๆเขาคุ้นเคย และตัดสินใจเลือกลงมือโดยมาดักรอเหยื่อตามเวลาและสถานที่ตามหมายกำหนดการครั้งต่อๆไปของเหยื่อเอง ดังนั้นหากคุณมีกำหนดนัดหมายใดๆที่ทำประจำก็ควรจะลองเปลี่ยนเวลาและสถานที่เสียบ้าง หรือถ้าเปลี่ยนแปลงไม่ได้จริงๆก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ต้องตระหนักว่าคุณกำลังอยู่ในสภาวะเสี่ยงอย่างยิ่ง


4.      คิกคุ ปูนิ่ม จากการจัดอันดับเหยื่อยอดนิยม บรรดาคนร้ายทั้งหลายล้วนยกให้เด็กวัยรุ่นชายหญิงที่มีบุคคลิกไร้เดียงสาไม่รู้เรื่องรู้ราวใดๆมีท่าทางอ่อนแอขาดความมั่นใจอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะแกล้งทำเพื่อให้ดูน่ารักตามสมัยนิยมหรือถูกเลี้ยงดูมาอย่างนั้นเองก็เป็นที่ชื่นชอบของเหล่าร้ายที่จะเจาะจงเลือกเหล่านี้เป็นเหยื่ออย่างไม่ต้องสงสัยเพราะมีโอกาสสำเร็จสูงมาก


5.      ที่เก็บของติดล้อ คนที่มีรถใช้ส่วนตัวเพื่อเดินทางเป็นประจำ หลายคนขนทรัพทย์สินมีค่าต่างๆไปในรถด้วย เช่น เครื่องประดับต่างๆหรืออุปกรณ์ประกอบการทำงาน เช่น อุปกรณ์มีเดียร์ต่างๆ โน้ตบุ๊ก รูปเคารพ กล้องถ่ายรูป ฯลฯ หลายชิ้นราคานับหมื่นนับแสนก็ยังวางไว้ในรถล่อตาล่อใจคนร้ายอย่างไม่ระแวงว่าจะสูญหาย โดยลืมไปว่ารถของเรามีกระจกเป็นส่วนประกอบรอบคันและกระจกนั้นไม่ได้แข็งแรงอะไรเลย ขอเตือนว่าการเก็บของมีค่าไว้ในรถเหมือนเอาใส่ตู้โชว์ไปตามถนน ใครเห็นก็อดใจไม่ไหวต้องพังรถคุณให้ได้


“อย่าเป็นคนที่ใช่ก็ปลอดภัยไปกว่าครึ่ง”
                                                                                                เรียบเรียงโดย Snap shot

No comments:

 

Samsung LCD televisions