Wednesday, November 25, 2009

Women’s self-defense in sexual assault




Women’s self-defense in sexual assault


ในปี พ.ศ. 2549 ไทยติดอยู่ในกลุ่ม 68 ประเทศ (จาก 189 ประเทศที่มีการสำรวจ) ที่มีสถิติคดีข่มขืนเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยพบคดีที่เกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย และเพศ อาทิ ทำร้ายร่างกาย ข่มขืนฆ่ากันตาย สูงถึง 33,669 คดี จำนวนคดีข่มขืนที่เพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นจิตใจของคนในสังคม ที่ไม่รับรู้ความทุกข์ของผู้อื่น

รายงานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติล่าสุดพบว่ามีคดีข่มขืนในครึ่งแรกปี พ.ศ. 2552 ถึง 4,644 คดี ซึ่งคดีเหล่านี้ผู้เสียหายได้เข้าแจ้งความแต่เชื่อว่ายังมีอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่กล้าเข้าแจ้งความ สำหรับการเกิดเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ 12% ของคดีทั้งหมดและคดีที่ขึ้นสู่ศาลเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า เมื่อเทียบกับ10 ปีที่แล้ว หรือเฉลี่ยมีผู้หญิงที่ถูกข่มขืนและแจ้งความวันละ 12 ราย แต่มีผู้ถูกข่มขืนเพียง 5% เท่านั้นที่ไปแจ้งความ ขณะที่สถานการณ์และรูปแบบการข่มขืนได้เปลี่ยนไปจากอดีตโดยผู้กระทำผิดไม่ใช่คนแปลกหน้าเพราะจากสถิติพบว่า 80% ของผู้กระทำผิดเป็นคนที่เหยื่อรู้จักหรือคนที่ไว้วางใจ เช่น คนในครอบครัว คู่รัก เพื่อน ครู นายจ้าง ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้ประกอบอาชีพหลากหลายและเป็นผู้ที่มีการศึกษา นอกจากนี้พบว่าเหยื่อการข่มขืนไม่ใช่เฉพาะหญิงสาวเท่านั้น แต่มีอายุตั้งแต่ 2-80 ปี และเหยื่อที่เป็นเด็กชายมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นด้วย

ในอเมริกามีการศึกษาพบว่า 84 เปอร์เซ็นต์ของเหยื่อรู้จักกับคนร้ายที่มาข่มขืน มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์เกิดเหตุการณ์ในบ้าน นอกจากนั้นพบว่าเหยื่อจะถูกทำร้ายทางร่างกายมากขึ้นหากร้องไห้ขอร้องหรือพยายามอ้อนวอน ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่หนีรอดมาได้โดยการร้องเสียงดัง และอีกประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่หนีรอดมาได้โดยการต่อสู้ขัดขืนอย่างรวดเร็วและรุนแรง

Laura Ann Kamienski เธอเป็นสายดำดั้งหนึ่งเทควันโด (Tae Kwon Do) และเป็นครูสอนการป้องกันตัวสำหรับผู้หญิง (Women's self-defense instructor) มาหลายปี ทั้งตัวเธอเองและเพื่อนของเธอคนหนึ่งซึ่งเป็นสายดำดั้งสามเทควันโดเคยเข้าสัมมนาเกี่ยวกับการป้องกันตัวครั้งหนึ่ง ซึ่งในการฝึกซ้อมนั้นไม่ว่าเธอหรือเพื่อนของเธอไม่มีใครสามารถหยุดการจู่โจมได้เลย ทำให้เธอเปลี่ยนมุมมองของการฝึกและพยายามหาคำตอบ

เธอรวบรวมข้อมูลและเนื้อหาของหลักสูตรการป้องกันตัวสำหรับผู้หญิงจำนวนมาก พบว่ามีความไม่สอดคล้องกันระหว่างสิ่งที่สอนกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นจากคำบอกเล่าของเหยื่อ

การจะเป็นหลักสูตรป้องกันตัวสำหรับผู้หญิงที่ดีได้นั้นจำเป็นต้องมีปัจจัยหลายประการ เช่น ความรู้เรื่องการโจมตีของคนร้ายในสถานการณ์จริง (Actual attacks) โดยความรุนแรงทางเพศกับความรุนแรงในครอบครัวเป็นภัยคุกคามสำหรับผู้หญิงที่พบบ่อยที่สุด (จากการศึกษาของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ)

สื่อโทรทัศน์และภาพยนตร์มักให้ภาพลักษณ์ของการถูกข่มขืนที่ผิด เช่น คนร้ายมักเป็นชายแปลกหน้า หน้าตาอัปลักษณ์ แต่งตัวสกปรก หยาบกร้าน ย่องเข้ามาจู่โจมเหยื่ออย่างเงียบๆแล้วผลักเข้าป่าข้างทาง เหยื่อมักต่อสู้แบบไม่มีประสิทธิภาพและถูกช่วยด้วยผู้ชายกล้ามใหญ่หน้าตาดี หรือคนร้ายกลับกลายเป็นพระเอกเสียเองในตอนสุดท้าย เป็นต้น ซึ่งในความเป็นจริง 84 เปอร์เซ็นต์ของคนร้ายจะรู้จักเหยื่อ และเหยื่อจำนวนไม่น้อยยังอายุน้อยมาก

ความรุนแรงในครอบครัวก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้หญิงและเด็กมักตกเป็นเหยื่อ ในประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบ แต่ในสหรัฐพบว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นสาเหตุอันดับต้นๆของการบาดเจ็บของผู้หญิงอายุ 15 ถึง 44 ปี (มากกว่าอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนตร์ การจี้ชิงทรัพย์และการตายจากมะเร็งรวมกันเสียอีก)

ดังนั้นการประทุษร้ายทางเพศนั้นจึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากในการเผชิญเหตุ หลักสูตรการป้องกันตัวสำหรับผู้หญิง (ในอเมริกามีหลักสูตรสอนผู้หญิงโดยเฉพาะ) ส่วนใหญ่มักสอนวิธีในการใช้กำลัง (Physical technique) ในการแก้ไขสถานการณ์ แต่เนื่องจากคนร้ายมักรู้จักกับเหยื่อดังนั้นหลักสูตรที่ดีควรสอนการระแวดระวังภัยซึ่งอาจเกิดจากเพื่อนสนิท คนรู้จัก แฟน เพื่อนบ้าน หรือแม้แต่สามีของตนด้วย ควรสอนการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์และสภาพจิตใจของความสัมพันธ์ระหว่างเหยื่อกับคนร้ายซึ่งเป็นคนรู้จัก

ประการที่สอง คือ การส่งเสริมความนับถือตัวเอง (Promotes self-esteem) หลักสูตรที่ดีควรส่งเสริมผู้รับการฝึกให้เห็นถึงคุณค่าและความนับถือตัวเอง เพื่อการป้องกันตัวจำเป็นที่เหยื่อจะต้องเห็นถึงคุณค่าของตนเองมากกว่าคนร้ายและคิดว่าตนเองมีค่ามากพอที่จะปกป้อง

ประการที่สาม คือ หลักสูตรควรส่งเสริมสิ่งที่ผู้หญิงทำได้ดีอยู่แล้วเพื่อการป้องกันตัว นั้นก็คือ การใช้กลยุทธ์ด้านการพูดและการใช้กำลัง (Verbal and physical strategies) เสริมสร้างทักษะในการโน้มน้าว เพิ่มความเชื่อมั่นในการที่จะรับกับสถานการณ์เลวร้ายได้ โดยไม่ใช่มีเพียงแต่การใช้กำลังเท่านั้น

ประการสุดท้าย คือ หลักสูตรที่ดีควรเสริมสร้างบรรยากาศในการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เรียน (Feedback) และการใส่ใจ ให้กำลังใจกัน (Support) เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถเพิ่มความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองและความเชื่อมั่นได้

มีผู้ที่ให้ความช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกข่มขืนได้ให้ความเห็นไว้ว่า จากประสบการณ์ของเขากลยุทธ์ที่ช่วยให้เหยื่อรอดจากการถูกข่มขืนมักประกอบด้วยการพูดจาและการใช้กำลังร่วมกัน

ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชายก็อาจตกเป็นเหยื่อได้เพราะส่วนใหญ่คิดว่า เรื่องเลวร้ายเหล่านี้จะไม่เกิด คงไม่เกิด ไม่น่าจะเกิดกับเรา จึงตั้งอยู่ในความประมาท

หลักสูตรการป้องกันตัวนั้นไม่ควรสอนเฉพาะภัยคุกคามที่เห็นเด่นชัดเท่านั้น เพราะในหลายกรณีคนร้ายไม่ใช่คนแปลกหน้าและพวกเขาพยายามใช้กลอุบายทำให้เหยื่ออยู่ในที่เปลี่ยวเพื่อสะดวกแก่การลงมือ ซึ่งคนร้ายมักมีการพูดจาข่มขู่ บีบบังคับเหยื่อเพื่อให้ทำตามที่เขาต้องการ โดยคำพูดเหล่านี้ถือว่าเป็นความตั้งใจที่อาจจะก่อเหตุ

หลายหลักสูตรสอนอยู่บนพื้นฐานของศิลปะการต่อสู้ (Martial art) ที่ครูผู้ฝึกชำนาญ โดยสอนเฉพาะภัยคุกคามจากคนร้ายแปลกหน้าหรือการทำร้ายกันตามท้องถนนเท่านั้น จึงยังขาดข้อมูลสำคัญในสถานการณ์จริงที่ภัยคุกคามส่วนใหญ่เกิดจากคนใกล้ชิดกับเหยื่อ

ครูสอนศิลปะการต่อสู้ (Martial artists) ส่วนใหญ่มักไม่ได้ทำการศึกษาและหาข้อมูลก่อนออกแบบหลักสูตรการป้องกันตัว พวกเขาจึงสอนวิธีใช้กำลังซึ่งดูง่ายดายและคุ้นเคยสำหรับเขา แต่อาจไม่เหมาะสำหรับผู้หญิงซึ่งมีความกลัวเมื่อเผชิญเหตุการณ์ร้าย ส่วนใหญ่จึงมีหลักสูตรสอนการต่อสู้ (Combative course) มากกว่าเนื่องจากขายได้ดีกว่าการป้องกันตัว การใช้ทักษะและข้อมูลของการเกิดเหตุร้ายร่วมกันเพื่อนำไปสู่หลักสูตรการป้องกันตัวที่เหมาะสำหรับผู้หญิงจึงเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าหลักสูตรเรียนการต่อสู้

ผู้หญิงหลายคนที่สนใจการป้องกันตัวมักเข้าเรียนศิลปะการต่อสู้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมักไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อผู้หญิง การได้ฝึกกับผู้หญิงเท่านั้นอาจดีในแง่ที่สามารถพูดคุยได้ทุกเรื่องแต่การฝึกกับผู้ชายก็อาจช่วยให้คุ้นเคยกับการได้ปะทะกับผู้ชาย เรียนรู้การใช้เสียงดังให้เป็นประโยชน์ เช่น การตะโกนว่า “หยุด! ทำอย่างนั้น ..... เดี๋ยวนี้” เป็นการบอกว่าเราไม่กลัวและอาจตอบโต้กลับ

หลักสูตรการป้องกันตัวที่ดีจึงควรประกอบด้วยการเสริมสร้างความพร้อมในการรับสถานการณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ อาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงในการฝึกอบรมและฝึกฝนด้วยความปลอดภัย เรียนรู้วิธีเอาตัวรอดจากสถานการณ์วิกฤติโดยใช้สมองมากกว่ากำลัง

สุดท้ายนี้ขอให้ตั้ง “สติ” ทุกครั้งเมื่อเผชิญเหตุ และขอให้ “พลังจงอยู่กับท่าน”

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจาก หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 ต.ค. - 1 พ.ย. 2552, หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, บทความเรื่อง Women's Self-defense ของ Laura Ann Kamienski

No comments:

 

Samsung LCD televisions