Friday, October 30, 2009

Every Day Carry (EDC)






















Every Day Carry (EDC)





ถึงแม้จะทราบปัจจัยส่งเสริมให้เกิดอาชญากรรมแต่ในบางครั้งเราไม่สามารถเลี่ยงได้ จึงควรมีอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่อาจใช้ในยามจำเป็น เช่น เหตุการณ์ร้ายมักเกิดในเวลาหรือสถานที่ที่มีแสงน้อยเราก็ควรมีไฟฉายติดตัวไว้เผื่อกรณีจำเป็น (มีคำกล่าวที่ว่า “จงทำที่มืดให้สว่างเสีย”) โดยใช้ไฟฉายที่มีความสว่างเพียงพอ (แนะนำให้ใช้ Tactical flashlight ที่มีความสว่างมากกว่า 50 ลูเม็นส์) นอกจากใช้ในการส่องสว่างช่วยในการมองเห็นสภาพแวดล้อมแล้ว หากต้องเผชิญกับคนร้ายยังสามารถใช้ไฟฉายส่องตาคนร้ายเพื่อให้พร่ามัวได้ชั่วขณะ ทำให้มีเวลาหนีหรือช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น อีกทั้งตัวกระบอกไฟฉายซึ่งมีความแข็งแรงก็สามารถนำมาใช้เป็นอาวุธป้องกันตัวได้อีกด้วย (ควรเลือกไฟฉายให้มีขนาดเหมาะสมสำหรับการพกพาทุกวันและตรวจสอบสภาพการทำงานของไฟฉายอย่างสม่ำเสมอ)

สเปรย์พริกไทย (Pepper spray) มีหลายแบบ หลายยี่ห้อ สามารถพกติดตัวได้ แต่ต้องระวังเรื่องการใช้งานซึ่งอาจไม่ได้ประสิทธิภาพตามที่ผลิตภัณฑ์ได้กล่าวอ้างไว้ ปัญหาที่พบบ่อยคือ ก๊าซซึ่งบรรจุอยู่ในสเปรย์พริกไทยรั่วซึมออกมาทำให้แรงดันในกระป๋องไม่มากพอที่จะใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับ Kimber peper blaster นั้นทำขึ้นมาอย่างดีมีประสิทธิภาพเชื่อถือได้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่สูงขึ้น

มีด (Knife) มีหลายแบบ หลายขนาด หลายวัตถุประสงค์ มีดบางแบบโดยรูปลักษณ์แล้วเป็นอาวุธต่อสู้ (Combat knife) บางแบบใช้เพื่อการล่าสัตว์ (Hunting knife) บางแบบใช้เพื่องานกู้ภัย (Rescue knife) มีการทำมีดเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะด้านอีกมากมาย แต่ที่นิยมมากในปัจจุบัน คือ มีดต่อสู้ (Combat or Tactical knives) อย่าลืมว่ามีดทุกชนิดสามารถใช้เป็นอาวุธได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นมีดต่อสู้เท่านั้น มีดปลอกผลไม้ มีดทำครัวก็สามารถนำมาใช้เป็นอาวุธได้ มีดต่อสู้ถือว่าเป็นอาวุธโดยสภาพห้ามพกพาเข้าไปในสถานที่สำคัญบางแห่ง ห้ามนำขึ้นเครื่องบิน และผู้ที่จะพกมีดเพื่อป้องกันตัวควรเรียนรู้มีดของตนเองอย่างดี ทำความคุ้นเคยและฝึกฝนการใช้มีดเพื่อต่อสู้ป้องกันตัว ไม่เช่นนั้นมีดเล่มนั้นอาจกลายเป็นอาวุธให้กับคนร้ายเสียเอง

เครื่องช็อกไฟฟ้า ในประเทศไทยถือเป็นเครื่องยุทธภัณฑ์ห้ามพกพาไปในที่สาธารณะ แต่มีโทษแค่ปรับ

ปากกา (Pen) โดยสภาพแล้วไม่ใช่อาวุธแต่หากรู้วิธีก็สามารถนำมาใช้เป็นอาวุธเพื่อปกป้องตัวเองได้เช่นกัน นอกจากนี้มีการทำปากกาที่มีลักษณะพิเศษเพื่อใช้ในการป้องกันตัวโดยเฉพาะ เรียกว่า Tactical pen

กระบองสั้น Baton หรือ ดิ้ว เป็นกระบองสามท่อนที่ยืดและหดได้ มีหลายความยาว หลายวัสดุ หลายราคา มีประโยชน์มากหากรู้วิธีใช้อย่างถูกต้อง ถือเป็นคู่ปรับตลอดกาลของมีดต่อสู้ ถึงแม้จะหดกระบองจนสั้นสุดก็ยังถือว่ายาวอยู่มาก อีกทั้งมีน้ำหนักมากกว่ามีดดังนั้นจึงขาดความคล่องตัวในการพกพาหรือพกซ่อน

ยังมีอุปกรณ์อีกมากที่ไม่มีลักษณะเป็นอาวุธโดยสภาพแต่สามารถนำมาใช้ในการป้องกันตัวได้ อาทิเช่น หนังสือ หากรู้วิธีสามารถนำมาใช้ต่อสู้กับมีดได้ เชือก หมวก เข็มขัด ร่ม กุญแจรถ กุญแจบ้าน เป็นต้น

โทรศัพท์มือถือ (Cell phone) ประโยชน์หลักคือใช้ในการโทรขอความช่วยเหลือหรือแจ้งตำรวจ โทรศัพท์สมัยใหม่ส่วนใหญ่สามารถถ่ายภาพหรืออัดวีดิโอได้ ซึ่งอาจใช้บันทึกภาพเหตุการณ์หรือคนร้ายได้ ควรมีเบอร์โทรของบุคคล ตำรวจ หรือสถานพยาบาลที่เราสามารถติดต่อได้ในยามฉุกเฉินและใช้วิธีการโทรออกได้อย่างรวดเร็ว

นกหวีด (Whistle) เป็นอุปกรณ์เรียกร้องความสนใจจากคนรอบข้าง อาจทำให้คนร้ายเปลี่ยนใจที่จะไม่เข้ามาจู่โจมได้ (หากเป็นคนที่ชอบเดินป่าหรือออกทะเล นกหวีดถือเป็นอุปกรณ์กู้ภัยอย่างหนึ่งทีเดียว เช่น ถ้าเดินหลงป่าหรือตกทะเลอาจใช้นกหวีดเพื่อบอกตำแหน่งของตนเองได้)

การเลือกอุปกรณ์พกพาประจำวันเพื่อใช้ในการป้องกันตัวนั้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะสามารถใช้มันให้เกิดประโยชน์ได้หรือไม่ เรียนรู้ข้อดี ข้อจำกัดของอุปกรณ์ต่างๆ เรียนรู้วิธีการใช้งาน ควรรู้ว่าจะเก็บอุปกรณ์ต่างๆเหล่านี้ที่ไหน (หากเก็บทุกอย่างไว้ในกระเป๋าถือ ถ้าถูกขโมยหรือถูกคนร้ายยึดไปก็จะเหลือแต่ตัวเปล่าๆ)


สุดท้ายนี้ขอให้ตั้ง “สติ” ทุกครั้งเมื่อเผชิญเหตุ และขอให้ "พลังจงอยู่กับท่าน"
เรียบเรียงโดย Batman

No comments:

 

Samsung LCD televisions