Fight or Flight
เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤติอันอาจเป็นภัยต่อชีวิต (Life Threatening Situation) จะมีกระบวนการทางจิตใจหลายอย่างเพื่อนำไปสู่การตอบสนองทางร่างกายต่อสถานการณ์นั้นๆเพื่อความอยู่รอด เราเรียกว่า การตอบสนองแบบสู้หรือหนี (Fight or Flight Response) สมองและจิตใต้สำนึกจะเป็นตัวกำหนดว่าในสถานการณ์นั้นๆเราจะสู้หรือหนีเพื่อเอาตัวรอด ในคนมีการเปลี่ยนแปลงหลายประการ อาทิเช่น การมองเห็นจะชัดบริเวณกลางภาพแต่จะไม่ชัดบริเวณขอบๆคล้ายกับมองผ่านอุโมงค์ (Tunnel Vision) เป็นการให้ความสนใจกับภัยคุกคามเบื้องหน้าเป็นสำคัญซึ่งกำลังจะเข้ามาทำอันตรายเราจนถึงชีวิตได้ ความสามารถในการควบคุมการเคลื่อนไหวที่ละเอียดอ่อน เช่น การเคลื่อนไหวของนิ้วหรือมือ จะไม่ราบรื่นเท่าช่วงปกติ มีการตื่นตัวของร่างกายอย่างเต็มที่เนื่องจากมีการกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาทีทิก (Sympathetic autonomic nervous system) อย่างรุนแรง
การตอบสนองแบบสู้หรือหนีนี้มีในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดแต่จะเด่นชัดในสัตว์ชนิดอื่นมากกว่าในมนุษย์เนื่องจากเป็นสัญชาติญาณดิบอย่างหนึ่งในการเอาตัวรอดจากภัยคุกคามที่ร้ายแรง ในมนุษย์อาจมีการตอบสนองหลายรูปแบบซึ่งซับซ้อนกว่า เช่น การตอบสนองในการเอาตัวรอดด้วยการสู้นั้นนอกจากการใช้กำลังเข้าแก้ไขปัญหาแล้วยังอาจรวมไปถึงพฤติกรรมก้าวร้าว อารมณ์โกรธที่รุนแรงต่างๆ เป็นต้น
สภาพจิตใจจะมีสามสิ่งที่เกิดขึ้นตามลำดับ คือ
ความกังวลต่อภัยคุกคาม (Threat Anxiety) จะเกิดขึ้นเมื่อเผชิญกับภัยคุกคามร้ายแรง เป็นความกังวล ความกลัว (Fear) ที่จะถูกทำร้ายร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บ พิการ หรือ เสียชีวิต เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการตอบสนองแบบสู้หรือหนี ซึ่งจะนำไปสู่การเตรียมพร้อมของร่างกายต่อสถานการณ์นั้นๆ เรียกว่า Survival Stress ร่างกายจะเกิดการกระตุ้นอย่างรุนแรงทั้งจากระบบประสาทและฮอร์โมน ทำให้หัวใจเต้นแรงขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น กล้ามเนื้อตื่นตัว รูม่านตาขยาย การมองเห็นเป็นแบบ Tunnel Vision การได้ยินเสียงอาจลดลง การควบคุมการเคลื่อนไหวที่ละเอียดอ่อนทำได้ยากขึ้น เช่น การหยิบจับอาวุธ การเปลี่ยนซองกระสุน เป็นต้น ดังนั้นผู้คนที่เคยผ่านประสบการณ์เฉียดตายมาแล้วจึงมักจำรายละเอียดของเหตุการณ์ไม่ค่อยได้นอกจากภัยคุกคามเท่านั้น เนื่องจากประสาทรับรู้ต่างๆจะถูกจำกัดลงและมุ่งความสนใจไปที่ภัยคุกคามเป็นส่วนใหญ่
ระยะสุดท้ายคือ Combat Stress เมื่อภัยคุกคามได้ผ่านพ้นไปแล้ว ร่างกายก็ค่อยๆกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หากมีบาดแผลก็จะเริ่มรู้สึกเจ็บปวด มีเลือดออกมากขึ้น (จากระบบประสาทอัตโนมัติพาราซิมพาทีทิก (Parasympathetic autonomic nervous system) ทำงาน หลอดเลือดบริเวณผิวหนังจะขยายตัว เลือดจึงออกมากขึ้นได้)
พบว่าผู้ชายมักตอบสนองด้วยการสู้เป็นส่วนใหญ่ ส่วนผู้หญิงมักตอบสนองด้วยการหนีหรือยอมจำนนเป็นส่วนใหญ่ อาจเนื่องมาจากความได้เปรียบหรือเสียเปรียบของร่างกาย นั้นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้ผู้หญิงมักตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงหรืออาชญากรรมในสังคม
ผลลัพธ์ของการตอบสนองนั้นอาจมีได้ทั้งดีและร้าย แต่มนุษย์นั้นมีสิ่งซึ่งสัตว์อื่นมีอยู่อย่างจำกัดมากกว่า นั้นก็คือ สติปัญญา (สติ + ปัญญา) หากเราใช้สัญชาติญาณนี้ร่วมกับสติปัญญาจะทำให้เราสามารถเลือกการตอบสนองที่เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น
การเอาตัวรอดนั้นบางสถานการณ์การตอบสนองแบบหนีอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด แต่ในหลายกรณีการตอบสนองแบบสู้นั้นอาจเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้มากกว่า ซึ่งการตอบสนองแบบสู้นี้ไม่ได้หมายความเพียงแค่การใช้กำลังเท่านั้น ยังหมายความรวมถึงการใช้พฤติกรรมที่ก้าวร้าวไม่ยอมจำนน การใช้น้ำเสียงที่หนักแน่นหรือการทำทุกอย่างเพื่อให้มีชีวิตรอดอีกด้วย
การฝึกฝนทักษะในการเอาตัวรอดและการป้องกันตัวจากสถานการณ์วิกฤติจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่ง เพื่อเพิ่มโอกาสและทางเลือกในการเอาตัวรอดจากภัยคุกคามในสังคม
สุดท้ายนี้ขอให้ตั้ง “สติ” ทุกครั้งเมื่อเผชิญเหตุ และขอให้ “พลังจงอยู่กับท่าน”
เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Fight or Flight, The Three Stages ของ Warren Breckenridge, Wikipedia
No comments:
Post a Comment