Wednesday, January 13, 2010

สังคมไม่ปลอดภัย ทำอย่างไรดี


สังคมไม่ปลอดภัย ทำอย่างไรดี



ทุกวันนี้หากใครสักคนเกิดฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า ตนกำลังใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเมืองที่ไม่ปลอดภัยอย่างยิ่ง อาจเป็นเพราะได้อ่านข่าวความรุนแรงในสื่อต่างๆ พบเห็นด้วยตาหรือได้ประสบกับตนเอง และคงไม่มีใครอยากเป็นส่วนหนึ่งของข่าวร้ายเหล่านั้น ในขณะที่ความรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


คุณมีทางเลือกอยู่สองทางๆแรก คือ ดำเนินชีวิตไปเรื่อยๆราวกับว่าความรุนแรงเหล่านั้นมันไกลตัวมากไม่มีทางเกิดกับเราอย่างแน่นอน หรือหากเกิดภัยคุกคามกับตัวคุณก็ถือเสียว่าเป็นเคราะห์กรรมของเราเองไม่อาจเลี่ยงได้ เป็นสิ่งที่สมควรจะได้รับอยู่แล้วจากเจ้ากรรมนายเวรในชาติปางก่อน


ทางที่สอง คือ คุณเลือกที่จะปกป้องตนเองจากภัยคุกคามและความรุนแรงในสังคม เพราะคุณมีสิ่งที่จะต้องทำอีกมาก มีคนที่คุณรักและต้องดูแลอยู่ข้างหลัง หากคุณเป็นอะไรไปพวกเขาเหล่านั้นจะทำอย่างไร



แล้ว “ฉันจะปกป้องตนเองได้อย่างไร”


เคยมีการสำรวจคนนับพันต่อคำถามที่ว่า “ถ้าคุณคิดว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในอันตราย คุณจะปกป้องคุ้มครองตัวเองได้อย่างไร” พวกเขาให้คำตอบที่น่าสนใจไว้สี่ข้อ ดังนี้


1 หาซื้อปืนมาไว้เฝ้าบ้านและป้องกันตัวเอง


2 หาอาวุธอื่นที่ราคาถูกกว่าเอาไว้ใกล้ตัวเพื่อป้องกัน


3 หาคนมาคุ้มครอง


4 ฝึกศิลปะการต่อสู้ไว้เพื่อป้องกันตัว


แล้วคุณล่ะ ...... เลือกข้อไหน? หากคุณเลือกข้อสุดท้ายก็ต้องพบกับคำถามต่อไปอีกว่า จะฝึกวิชาอะไร (ยูโด, ไอคิโด, เทควันโด, คาราเต้ ฯลฯ) วิชาไหนดีที่สุด ซึ่งสามารถนำไปใช้อย่างได้ผล จะหาครูดีๆเก่งๆได้ที่ไหน ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจความหมายระหว่างคำว่า Martial art และ Self-defense


Martial art หมายถึง ศิลปะการต่อสู้ที่มีการจัดระบบการเรียนรู้และฝึกฝนเป็นหลักสูตรที่ชัดเจน ถ่ายทอดต่อเนื่องกันมารุ่นต่อรุ่นเป็นระยะเวลายาวนาน มีสัญลักษณ์แสดงขั้นตอนความสำเร็จในการฝึกฝนอย่างแน่ชัด เป็นสายคาดเอวสีต่างๆ เป็นประกาศนียบัตรหรือเครื่องหมายต่างๆตามแต่จะกำหนด



มีแนวทางในการใช้พละกำลังต่อสู้หรือปรัชญาในการใช้อวัยวะร่างกายเป็นอาวุธอยู่ในแนวทางเดียวกันตลอดตั้งแต่ระดับล่างจนถึงระดับสูงสุด เน้นภาคปฏิบัติที่ต้องฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ถูกจัดเป็น “กีฬา” ที่อาศัยการจัดแข่งขันวัดความสามารถกันเองภายใน ต่างค่าย หรือต่างโรงฝึก แต่ต้องเป็นระบบเดียวกันทั้งในและต่างประเทศ


Self-defense หมายถึงการป้องกันตัว ส่วนใหญ่เน้นสอนทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ โดยภาคทฤษฏีมักสอนเกี่ยวกับวิธีการหลีกเลี่ยงอันตรายในสถานการณ์คับขัน การระแวดระวังภัยอันเนื่องมาจากอาชญากรรมความรุนแรงต่างๆ แนะนำหน่วยราชการที่พร้อมให้ความช่วยเหลือเมื่อเราตกในอันตราย รวมทั้งแง่มุมทางกฎหมาย



ส่วนภาคปฏิบัติก็มุ่งเน้นให้เราใช้พละกำลังป้องกันตัวอย่างเหมาะสมแก่สภาพการณ์ โดยไม่ผูกพันกับแนวทางการต่อสู้ของระบบใดระบบหนึ่งโดยเฉพาะ แนะนำให้รู้จักและคุ้นเคยกับการใช้อาวุธพื้นฐานต่างๆ เพื่อให้เราสามารถหยิบจับวัสดุและอุปกรณ์รอบกายมาใช้ป้องกันตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ครูฝึกในระบบ Self-defense ที่ดีจะต้องไม่แนะนำหรือยั่วยุให้ลูกศิษย์เข้าต่อสู้กับคนร้ายหรือผู้อื่น ด้วยคำพูดประมาณว่า “คุณจบจากที่นี่ไปแล้วคุณไม่ต้องกลัวใครทั้งนั้น” หรือ “คุณสู้ได้อยู่แล้ว” อันจะทำให้ลูกศิษย์เกิดความมั่นใจผิดๆ แล้วอาจนำตนเองต้องตกอยู่ในอันตรายถึงชีวิตได้


การฝึกของกลุ่ม Self-defense มักพยายามฝึกรับมือกับเหตุคับขันเมื่อถูกจู่โจมเข้าทำร้ายด้วยอาวุธหรือมือเปล่า โดยจำลองสภาพใกล้เคียงความจริงเพื่อให้ผู้ฝึกคุ้นเคยกับความกดดันเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์เลวร้าย



ในต่างประเทศมีการแบ่งแยกระบบการต่อสู้ป้องกันตัวทั้งสองแนวทางนี้มานานแล้ว แต่ในเมืองไทยไม่มีการแยกแยะอย่างชัดเจน เราต้องเลือกเองให้เหมาะกับจุดมุ่งหมายตนเอง คุณสามารถเลือกเรียนศิลปะการต่อสู้ใดก็ได้ที่คิดว่าสามารถตอบสนองความต้องการของคุณ พึงระลึกไว้เสมอว่าเรียนเพื่อการป้องกันตัว จึงควรเน้นและจดจำสิ่งที่มีประโยชน์เพื่อการป้องกันตัว


หลักพิจารณาง่ายๆว่า Martial art ที่เหมาะจะใช้ป้องกันตัวนั้น ควรมีลักษณะดังนี้


1 ต้องเน้นป้องกันตัวไม่ใช่ทำร้ายคู่ต่อสู้


2 มีการเคลื่อนไหวที่ลื่นไหลไม่ฝืนความรู้สึก


3 ความเรียบง่ายไม่ซับซ้อน


4 ทักษะสำคัญกว่าความรู้ที่มากมายเหลือเฟืออันเนื่องมาจากการฝึกฝน


“เรียนรู้ฝึกฝนไว้แล้วไม่ได้ใช้ ดีกว่าจำเป็นต้องใช้แล้วไม่รู้”


เรียบเรียงโดย Snap shot

1 comment:

Batman said...

คุณ Snap shot ได้กรุณาส่งบทความดีๆของตนเองมาให้ผมอ่าน จึงอยากแบ่งปันให้ผู้อ่านท่านอื่นได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น คุณ Snap shot เป็นคนหนึ่งที่ฝึกศิลปะการต่อสู้และรู้เรื่องการป้องกันตัว

การป้องกันตัว (Self-defense) เป็นสัญชาติญาณอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิตเพื่อการเอาตัวรอด เมื่อมีการพัฒนามากขึ้นเป็นรูปแบบที่ชัดเจนมีประสิทธิภาพจึงนำไปสู่ ศิลปะการต่อสู้ (Martial art) รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ดังนั้นทั้ง Self-defense และ Martial art จึงไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด ทั้งสองต่างเกื่อหนุนซึ่งกันและกัน

Martial art นั้นมีรูปแบบที่ตายตัว มีความซับซ้อน ต้องใช้เวลาเรียนรู้นานกว่าจะทำได้ดี ไม่ยืดหยุ่น ซึ่งรูปแบบการต่อสู้ในปัจจุบันนั้นเปลี่ยนไปมาก นอกจากการใช้มือเปล่ายังมีการใช้ มีด ปืน หรือใช้ไม้ เข้ามาเกี่ยวข้อง มีคู่ต่อสู้มากกว่าหนึ่งคน สถานที่เกิดเหตุอาจอยู่ในรถยนตร์หรือในบ้าน ในที่คับแคบ ดังนั้นจึงยังไม่มีศิลปะการต่อสู้ใดเพียงวิชาเดียวที่สามารถลองรับความหลากหลายนี้ได้ นอกจากนั้น Martial art ส่วนใหญ่ถูกนำมาเป็น “กีฬา” จึงถูกตัดทอนความรุนแรงและความสามารถหลายด้านลงไปเพื่อความปลอดภัยของนักกีฬา ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจมีประโยชน์อย่างมากเมื่อใช้ในการป้องกันตัว

Self-defense มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน เรียบง่าย ใช้เวลาเรียนรู้ไม่นาน ไม่มีกฏเกณฑ์ที่มาจำกัดความสามารถ ไม่ยึดติดกับรูปแบบศิลปะการต่อสู้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งโดยเฉพาะ มีประสิทธิภาพปานกลางจนถึงดีในการเอาตัวรอดในสถานการณ์หนึ่งๆ ผู้ที่เรียนไม่จำเป็นต้องมีร่างกายแข็งแรงแบบนักกีฬาก็สามารถเรียนรู้ได้จึงเหมาะกับ “ประชาชนทั่วไป”

ในประเทศไทยยังไม่มีโรงเรียนสอน Self-defense โดยเฉพาะ ยังผูกติดกับ Martial art อยู่ซึ่งมีข้อจำกัดดังที่กล่าวไปแล้ว แต่อีกไม่นานทาง Thai self-defense จะเปิดอบรมการป้องกันตัวในสถานการณ์วิกฤติให้กับประชาชนทั่วไป

หมายเหตุ หากท่านใดสนใจส่งบทความมาลงหรือสอบถามเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ thaiselfdefense@gmail.com (ขอสงวนสิทธิในการดัดแปลงบางคำในบทความเพื่อความเหมาะสม แต่จะคงใจความสำคัญของบทความไว้ให้มากที่สุด)
Batman

 

Samsung LCD televisions