Thursday, September 22, 2011

ถามจริง... ตอบตรง (2)


ถามจริง... ตอบตรง (2)

กล่าวไว้แล้วว่าช่วงนี้จะนำคำถามของใครต่อใครที่เคยตอบสดๆมารายงานทบทวนให้ได้อ่านอย่างละเอียดอีกครั้ง เผื่อจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นที่มีคำถามเหมือนกัน

ถาม ผมเริ่มฝึกช้ากว่ารุ่นพี่ๆเขาร่วมปี ซ้อมคู่กันทีไรถูกต้อนเป็นหมูทุกที น่าอายจัง ทำอย่างไรผมถึงจะเอาชนะพวกเขาได้บ้าง

ตอบ ไม่มีทางที่คุณจะก้าวล้ำหน้าคนอื่นได้ ถ้าคุณยังเข้าแถวเดินเป็นขบวนตามกันไปอย่างนี้ สุภาษิตจีนว่า “ทนทุกข์เหนือทุกข์ จึงเป็นคนเหนือคน” คุณเคยทุ่มเทเวลาและหยาดเหงื่อฝึกซ้อมมากกว่าคนอื่นหรือไม่ คุณเคยสละเวลาอ่านหนังสือ ดู VCD าธิตเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการและแก่นแท้ของสิ่งที่คุณกำลังฝึกฝนเรียนรู้หรือไม่ หากคุณไม่ทุ่มเทให้มากกว่าคนอื่นคุณย่อมไม่อาจพัฒนาทักษะให้ทันเขาได้ เพราะสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องมีเพื่อชัยชนะในการแข่งขัน การต่อสู้ทุกชนิด อีกอย่างคือ คุณต้องศึกษาและใช้ยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มโอกาสเข้าใกล้เป้าหมายของคุณ ในกรณีนี้ผมมีคำแนะนำ 2 ข้อ

1. ตั้งเป้าหมายให้เหมาะสมกับความสามารถ คุณถามผมว่าทำอย่างไรถึงจะชนะ คุณนิยามคำว่าชนะไว้อย่างไร ถ้าหมายถึงคุณไล่ต้อนรุ่นพี่คุณจนน็อคเอ๊าหมดสภาพยังงั้นก็จบกัน คุณไม่มีทางบรรลุเป้าหมายได้ ลองตั้งเป้าหมายใหม่ เอาเป็นว่าคุณรับมือรุ่นพี่ของคุณได้จนหมดเวลาโดยไม่แพ้อย่างนี้ง่ายกว่าหรือไม่ ถ้ายังยากไปก็เลื่อนเป้าหมายให้ใกล้เข้ามาอีกนิด เช่น เลื่อนเวลาพักให้เร็วขึ้น พักให้นานขึ้น เป็นต้น คุณต้องประเมินศักยภาพของตัวเองอย่างยุติธรรม แล้วกำหนดเป้าหมายที่มีทางเป็นไปได้ถึงจะสำเร็จ

2. อย่าลงแข่งขันด้วยกติกาของคนอื่น มนุษย์ถูกความยะโสและทิฐิอันโง่เขล่าผลักดันให้โดดลงสู่การเปรียบเทียบแข่งขันโดยไม่เฉลียวใจว่าตนเองกำลังเสียเปรียบด้วยเงื่อนไขกติกาต่างๆ อย่างคุณคิดจะเอาชนะรุ่นพี่ที่มีทักษะล้ำหน้าไปเป็นปีโดยใช้เทคนิคและทักษะที่เรียนจากแหล่งเดียวกัน ย่อมเป็นไปได้ยาก ถ้าคุณคิดจะเพิ่มโอกาสชนะ คุณต้องดึงคู่ต่อสู้ของคุณมาแข่งขันในกติกาหรือทักษะหรือเงื่อนไขที่คุณถนัด เริ่มด้วยการ “อ่าน” คู่แข่งของคุณก่อน ดูลักษณะภายนอกหาว่ามีจุดอ่อนอะไรบ้าง ลักษณะภายนอกจะบอกถึงจุดอ่อนของบุคคลได้คร่าวๆ เช่น คนตัวสูงมักมีปัญหาเรื่องจัดระเบียบร่างกายแขนขา เนื่องจากแขนขายาวการส่งกำลังจากร่างกายออกไปมักจะไม่สะดวกและช้ากว่าปกติ ช่วงล่างจากเอวลงไปมักมีจุดอ่อนให้เล่นงานได้ง่ายกว่า คุณเสียเปรียบเรื่องความสูงแต่ถ้าคุณย่อตัวลงต่ำแล้วจู่โจมแขนขาคู่ต่อสู้ก็มีโอกาสทำคะแนนตีตื้น อีกอย่างถ้าคู่ต่อสู้มีน้ำหนักมากๆหรืออ้วน ถึงแม้จะมีกล้ามเนื้อเยอะแต่จะยืนระยะได้ไม่นานเพราะหัวใจทำงานหนักเนื่องจากการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายที่ใหญ่โต แล้วขาจะอ่อนแอเพราะรับน้ำหนักมาก ถ้าคุณผอมกว่าก็จะได้เปรียบเรื่องความคล่องแคล่ว ถ้าเคลื่อนที่ไปรอบๆใช้ความเร็วโจมตีร่างกายส่วนล่าง อย่าปล่อยคู่ต่อสู้ประชิดตัวคุณได้ ในระยะยาวคุณอาจทำคะแนนเอาชนะได้ เหล่านี้เป็นแค่ตัวอย่างเพื่ออธิบายให้คุณเข้าใจว่า การต่อสู้หรือแข่งขันใดๆ ไม่ใช่เรื่องของการโหมใช้กำลังเข้าปะทะกันอย่างเดียว แต่ชัยชนะเกิดจากการผสมผสานระหว่างยุทธศาสตร์และยุทธวิธีอย่างลงตัว ผู้ชนะอาจไม่ใช่คนที่แข็งแรงที่สุด ผู้แพ้ก็อ่าจไม่ใช่คนที่มีทักษะด้อยที่สุด การฝึกฝนยุทธวิธีและศึกษายุทธศาสตร์อย่างลึกซึ้ง ก็อาจไม่ช่วยให้คุณชนะเลิศ แต่จะช่วยให้คุณแพ้ยากขึ้น และถ้าคุณวางเป้าหมายไว้ที่การ “ไม่แพ้” แทนการ “ชนะ” แค่นี้คุณก็ “ชนะ” แล้ว

            “ไม่มีเรื่องอย่าออกไปหาเรื่อง มีเรื่องอย่ากลัวมีเรื่อง”

                                                                                                เรียบเรียงโดย Snap shot

Thursday, September 15, 2011

ถามจริง... ตอบตรง (1)


ถามจริง... ตอบตรง (1)

เมื่อทำหน้าที่เขียนบทความแบ่งปันความรู้ใน Thai self-defense ผมได้รับคำถามมากมาย ส่วนใหญ่ผมให้คำตอบในทันทีเพื่อไขข้อข้องใจแก่ผู้นั้น ถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง ซึ่งผมก็เน้นย้ำว่าผู้ฟังจะต้องใช้วิจารณญาณให้ดี เพราะความเห็นบางอย่างก็อาจผิดพลาดได้เช่นกัน ครั้งนี้จะขอยกคำถามของคนขี้สงสัยมาตอบให้ ช่วยกันลองพิจารณาอีกครั้ง

ถาม คุณเคยบอกว่านอกจากป้องกันตัวแล้ว การฝึก Martial Arts หรือ Self-defense ยังมีประโยชน์อื่นๆอีกมากมาย มันคืออะไรกันแน่

ตอบ ทางกายภาพ เด็กที่ออกกำลังกายโดยการฝึก Martial Arts ตั้งแต่เล็กจะมีพัฒนาการอย่างเห็นได้ชัด สามารถจัดระเบียบร่างกายแขนขาได้ดีกว่าเด็กในวัยเดียวกัน มีสมาธิดี มีวิธีคิดย่างเป็นระบบ และมีการเติบโตทางร่างกายที่ชัดเจน ในวัยรุ่น วัยกลางคนหรือผู้สูงอายุไม่ว่าก่อนหน้านี้จะเป็นอย่างไร หลังจากการฝึกสักพักคุณจะรู้สึกได้ว่ามีร่างกายที่กระชับคล่องแคล่วขึ้น แม้ไม่มีกล้ามเนื้อล่ำสันเหมือนเข้าฟิตเนสหรือยิมเพาะกาย แต่ก็แข็งแรงขึ้นว่องไวขึ้น ยิ่งถ้ามีการควบคุมอาหารอย่างถูกวิธีร่วมด้วย น้ำหนักคุณจะลดลงได้แน่นอน การฝึกซ้อมเป็นประจำอาทิตย์ละ 2 – 3 ครั้ง วันละ 1 – 2 ช.ม. อย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ระบบการทำงานของอวัยวะภายในมีสมดุลดี ทำให้สามารถควบคุมโรคประจำตัวบางอย่างได้ เช่น ความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, อาการนอนไม่หลับ, ปวดหัว, เบื่ออาหาร, หวัด เป็นต้น

ทางจิตวิทยา การออกกำลังกายโดยการเล่นกีฬาทั่วๆไป หรือการสร้างกล้ามเนื้อจากการเข้าฟิตเนสหรือยิมเพาะกายอาจทำให้คุณมีร่างกายล่ำสันกล้ามเนื้อใหญ่โต แต่ไม่ได้แสดงว่าคุณจะสามารถใช้เรี่ยวแรงนั้นในการต่อสู้ป้องกันตัวได้ เพราะไม่ได้เรียนรู้หรือฝึกฝนวิธีการหรือท่าทางในการใช้กำลังปกป้องตัวเองให้ปลอดภัย ยิ่งไม่ได้รับการฝึกจิตใจให้พร้อมเผชิญกับความรุนแรงในการต่อสู้กันแล้ว กล้ามเนื้อที่มีก็แทบจะไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง สำหรับผู้ฝึก Martial Arts หรือ Self-defense เพื่อใช้ในการป้องกันตัวจริงๆจะได้รับการย้ำเตือนให้ตระหนักว่าคนร้ายบนท้องถนนไม่ยึดถือกติกาใดๆ นอกจากความมุ่งมั่นจะทำร้ายเราให้ได้เท่านั้น อีกทั้งกริยาท่าทางที่ใช้ในการฝึกจะทำให้เรา คุ้นเคยและเตรียมพร้อมสำหรับการต่อสู้ป้องกันตัวในสถานการณ์จริง

สำหรับผู้สูงอายุที่หันมาฝึก Martial Arts เพื่อออกกำลังกายคุณจะพบว่า การออกท่าทางและการเคลื่อนไหวที่ถูกวิธีจะทำให้คุณใช้เรี่ยวแรงที่มี ออกอาวุธปัดป้องหลบพ้นจากการโจมตีด้วยหมัดเท้าเข่าศอก หรืออาวุธต่างๆจากคู่ฝึกอย่างได้ผล มิหนำซ้ำยังสามารถคว้าจับ ล็อก ทุ่ม คู่ฝึกที่อาจอายุน้อยกว่าคุณลงนอนกับพื้นได้อย่างไม่ยากเย็น

ความรู้สึกที่ได้รับตีราคาเป็นเงินทองไม่ได้เลย คุณรู้สึกได้ถึงความคล่องแคล่ว กระตือรือร้นของวัยหนุ่มที่กลับคืนมา คุณไม่ต้องการการประคับประคองจากลูกหลานหรือการเอาใจใส่กังวลจากคนรอบข้างอีกต่อไป ตรงกันข้ามญาติพี่น้องเพื่อนฝูงกลับรู้สึกว่าสามารถพึ่งพิงคุณได้มากกว่าเดิม ลูกหลานจะไม่มองว่าคุณเป็นภาระเหมือนอย่างเคย คุณยืนบนลำแข้งของตัวเองได้อย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรีเหมือนเดิม ความรู้สึกนี้เงินทองซื้อไม่ได้ แต่คุณใช้หยาดเหงื่อของคุณแลกมา คุ้มค่าแน่นอน

“ครูที่ดีสอนทุกอย่างที่ท่านรู้ ครูที่ฉลาดสอนเท่าที่ศิษย์ควรรู้”

                                                                                                เรียบเรียงโดย Snap shot

Thursday, September 8, 2011

Knife Fighting Principles


Knife Fighting Principles

William Edwart Fairbairn  (W. E. Fairbairn) เป็นนายทหารอังกฤษ (นาวิกโยธิน) เคยเป็นนายตำรวจ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อสู้ด้วยมือเปล่าและการต่อสู้ระยะประชิด (Close Quarter Combat) มีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1885-1960 เขาเคยทำงานเป็นตำรวจสากลที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ได้เรียนรู้วิธีการต่อสู้ด้วยมือเปล่าและอาวุธมีดจากอาจารย์หลายท่านในขณะนั้น เขาได้พัฒนามันมาสู่รูปแบบการต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพมากที่ชื่อ Defendu

เขามีประสบการณ์การต่อสู้ระยะประชิดกับคนร้ายมาหลายร้อยครั้งตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ทำงานในหน้าที่นี้ ได้รับการยอมรับให้เป็นครูฝึกตำรวจปราบจลาจลของนครเซี่ยงไฮ้ มีส่วนร่วมในการออกแบบการฝึกยิงปืนให้กับตำรวจหลายหลักสูตร และร่วมออกแบบเสื้อเกราะกันกระสุนในสมัยนั้น

จนกระทั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงถูกเรียกตัวกลับมารับใช้ชาติ ได้เป็นครูฝึกร่วมกับ Eric Sykes ซึ่งทั้งคู่สอนหน่วยรบพิเศษของอังกฤษ สหรัฐและแคนนาดา เกี่ยวกับการต่อสู้ระยะประชิด การยิงปืน และการต่อสู้ด้วยมีด พวกเขาทั้งสองได้ออกแบบมีดต่อสู้ที่มีชื่อเสียงมากในช่วงเวลานั้น คือ Fairbairn-Sykes Fighting Knife หรือ F-S fighting knife หรือ Commando knife นอกจากนั้นยังได้เขียนตำราเกี่ยวกับการยิงปืนและการต่อสู้ป้องกันตัวไว้หลายเล่ม ซึ่งเล่มหนึ่งที่โด่งดังมากก็คือ Complete Book of Knife Fighting ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1975

เขาได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการต่อสู้ด้วยอาวุธมีดไว้อย่างน่าสนใจ

-          ท่ายืนเตรียมพร้อมที่ดีควรงอเข่าและสะโพกเพื่อให้สามารถยืดหยุ่นได้ดี

-          การถือมีดด้วยมือข้างถนัดโดยนิ้วโป้งเหยียดยาวทาบอยู่บนด้ามมีด และมีดวางอยู่บนนิ้วชี้ระหว่างข้อแรกและข้อกลาง ส่วนนิ้วทั้งสามที่เหลือกำรอบด้ามมีด อย่างไรก็ตามลักษณะการกำด้ามมีดนี้อาจแตกต่างจากนี้ได้บ้างขึ้นกับขนาดของนิ้วแต่ละคน ขอให้ทดลองถือกำด้ามมีดให้แน่นเพียงพอ ในบางครั้งอาจเหยียดนิ้วโป้งไปวางบนสันมีดเลยก็ได้

-          การกำด้ามมีดโดยปกติจะค่อนข้างหลวมๆเพื่อให้ผ่อนคลายไม่เกร็งจนเกินไป เมื่อต้องทำการฟันหรือแทงจากด้านไม่ถนัดไปด้านถนัดให้กำแน่นขึ้นโดยใช้พลังจากทุกนิ้ว แต่นิ้วที่สำคัญที่สุดในการควบคุมมีดก็คือ นิ้วโป้ง (ให้พลัง) และนิ้วชี้ (ให้ความแม่นยำ)

-          ในการต่อสู้กับภัยคุกคามที่ใช้มีดด้วยกัน มือทั้งสองข้างของเราไม่ควรอยู่ต่ำกว่าสะดือหรือสูงกว่าหัวไหล่ของเรา

-          หากต้องเผชิญหน้ากับคู่ต่อสู้มากกว่าหนึ่งคนควรหลีกเลี่ยงการแทง เพราะเมื่อเราแทงจนสุดมือจะทำให้เราเปิดพื้นที่ส่วนใหญ่ของลำตัวให้กับคู่ต่อสู้คนอื่นๆ ซึ่งจะทำให้เราถูกโจมตีได้ง่าย

-          ไม่ควรปล่อยให้ภัยคุกคามที่มีอาวุธมีดในมือเข้ามาใกล้กว่าระยะ 5 ฟุต เพราะช่วงยาวของแขนรวมกับมีดในมือของภัยคุกคามก็อาจยาวประมาณ 3 ฟุตเข้าไปแล้ว ดังนั้นเราจะมีระยะเหลือประมาณ 2 ฟุต ก็จะถึงตัวเราซึ่งยากแก่การป้องกัน ดังนั้นมีทางเลือก 2 ทาง อย่างแรกหากคุณติดอาวุธก็จงใช้อาวุธ หรือไม่ก็หันหลังแล้ววิ่งหนี

จะเห็นได้ว่าวิชาการใช้อาวุธมีดนั้นจะมีหลักใหญ่ๆที่เหมือนกันแต่แตกต่างในรายละเอียด จึงทำให้การใช้อาวุธมีดนั้นมีความหลากหลายมาก

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับมีดขอให้มี “สติ”

                                                                เรียบเรียงโดย Batman
                                                                        อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง The Fairbairn Manual of Knife Fighting ของ W. E. Fairbairn
 

Samsung LCD televisions