เกินกว่าเหตุ! ตรงไหน?
เคยเขียนไว้ในบทความก่อนหน้านี้ว่า คนร้ายทุกคนมีสิ่งหนึ่งที่เหยื่อของเขาไม่มี คือ “ความเฉยเมยต่อชีวิตของเหยื่อและความละเลยต่ออนาคตของตนเอง” ขออธิบายว่า คนร้ายที่เผชิญหน้ากับคุณนั้นมีเหตุผลและแรงจูงใจอันแรงกล้าที่จะทำร้ายคุณให้ได้ เขาไม่สนใจว่าคุณจะบาดเจ็บ พิการหรือเสียชีวิต ไม่สนใจว่าครอบครัวของคุณ คนที่รักคุณจะเศร้าโศกเสียใจและต้องเผชิญอะไรหลังจากนั้น ตัวคนร้ายเองก็ไม่ใส่ใจว่าเมื่อก่อเหตุแล้วตัวเขาจะเป็นอย่างไรต่อไป จะต้องแบกข้อหา หนีหัวซุกหัวซุนไปนานแค่ไหน จะถูกจับติดคุกหรือถูกประหารชีวิตก็ไม่กังวล
แต่ในสถานการณ์เดียวกันนี้สุจริตชนอย่างคุณ ต่อให้ฝึก Martial Arts มาอย่างโชกโชน แต่มันก็แค่การฝึกซ้อมกับมิตรสหายในโรงฝึก บรรยากาศแตกต่างกันมากกับการต่อสู้จริง นอกจากความกังวลใจ คุณมีคนที่รัก คนในครอบครัวที่ต้องดูแลรับผิดชอบ คุณมีอนาคตที่ดีรออยู่ข้างหน้า ซึ่งต้องสิ้นสุดลงหากคุณถูกคนร้ายฆ่าตายหรือบาดเจ็บพิการ ดังนั้นสุจริตชนอย่างเราเมื่อเผชิญหน้ากับคนร้ายบนท้องถนนก็มักเสียเปรียบเพราะคุณธรรมในจิตใจของเรานั่นเอง ด้วยเหตุนี้ในการสอนการป้องกันตัวจึงมักแนะนำให้คุณหาอาวุธซ่อนรูปหรือพกพาอาวุธที่คุ้นเคยที่พอจะซุกซ่อนพกพาไปได้มาเสริมเพิ่มแต้มต่อให้คุณมีทางรอดมากขึ้น จะได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีทักษะในการใช้อาวุธที่มีแค่ไหน
ถึงขั้นนี้แล้วคุณยังไม่ได้ทำอะไร “เกินกว่าเหตุ” ในสายตาของกฎหมายเลยนะครับ แต่นักกฎหมายผู้เคร่งครัดจะเริ่มปรามทำให้คุณใจฝ่อวิตกไปแล้ว
อยากบอกว่าคุณจะก้าวล้ำเส้นไปถึงขั้น “เกินกว่าเหตุ” หรือไม่ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคุณต่อจากนี้ต่างหาก
เคยเขียนไว้ในบทความชิ้นหนึ่งว่าในการป้องกันตัวด้วยอาวุธหรือมือเปล่า “อย่าทำสิ่งที่อยากทำ อย่าทำสิ่งที่ควรทำ แต่จงทำสิ่งที่ต้องทำ”
“สิ่งที่คุณอยากทำ” ถ้าคุณคือผู้ที่ทักษะดีเยี่ยมในศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ก็ถือได้ว่าคุณมีอาวุธที่คุ้นเคยมาอยู่ในมือแล้ว สิ่งที่คุณอยากทำคือได้แสดงความสามารถให้สาธารณชนได้ประจักษ์ ใช้ท่าสวยๆฟาดฟันเชือดเฉือนทิ่มแทงเข้าใส่คนร้าย ความอยากเอาคืน กิเลสที่ขาดสติเหล่านี้ล้วนชักนำให้คุณเปลี่ยนจากเหยื่อมาเป็นผู้รุกรานเสียเอง คุณก็เริ่มบุกเข้าหาคนร้ายเพื่อ “เล่นงาน” มันตามอารมณ์พาไป ทีนี้จากการป้องกันตัวก็จะกลายเป็นการทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายกัน “โดยเจตนา” ไปแล้ว คุณเองไม่ว่าจะเอาตัวรอดโดยปลอดภัยหรือไม่ คุณก็ “แพ้” ตั้งแต่ต้นแล้ว
“สิ่งที่คุณควรทำ” คือ ระมัดระวังอย่าทำ “เกินกว่าเหตุ” ซึ่งนักกฎหมายผู้เคร่งครัดจะคอยเตือนคุณว่ามีขอบเขตที่คุณจะล้ำไม่ได้ มิเช่นนั้นกฎหมายจะเล่นงานคุณ ปัญหาคือ เขาไม่ได้บอกคุณว่าขอบเขตที่ว่านั้นมันอยู่ตรงไหนแน่ คุณก็เฝ้าแต่กังวลว่าจะ “เกินกว่าเหตุ” จนเกร็งและตกอยู่ในอันตรายในที่สุด เพราะคนร้ายมันไม่ลังเลเลยแม้แต่น้อย
“สิ่งที่ต้องทำ” คือ สิ่งที่ผมแนะนำให้คุณทำโดยขอย้ำว่า “อย่ามากหรือน้อยเกินกว่านั้น” เมื่อคุณถูกคุกคามไม่ว่าจะมีอาวุธร่วมด้วยหรือไม่ สิ่งที่คุณควรทำอันดับแรก คือ รวบรวม “สติ” ให้มีครบถ้วน เพื่ออ่านสถานการณ์ให้ชัดเจน ประเมินระดับของอันตรายที่คุกคามคุณอยู่แล้วกำหนดวิธีการป้องกันตัว “ให้รัดกุม” ตัดทอนอารมณ์ต่างๆอันอาจผลักดันให้คุณทำอะไรที่มากหรือน้อยกว่าการป้องกันตัวที่จำเป็น เมื่อคุณไม่มีอารมณ์มารบกวนจิตใจ คุณก็มีสมาธิกับการตั้งรับให้รัดกุม ไม่ต้องเร่งร้อนบุกเข้าเล่นงานคนร้ายเพราะเวลาจะเข้าข้างคุณ
แม้คุณมีอาวุธอยู่ในมือก็ยังคงใช้กลยุทธ์ “โจมตีเฉพาะภัยคุกคามเฉพาะหน้า” อย่างเช่น คนร้ายใช้หมัดชกหน้าคุณ ก็แค่ใช้อาวุธเล่นงานมือที่พุ่งเข้าหาคุณก็พอ เขาใช้มีดแทงคุณ ก็แค่ฟาดฟันทิ่มแทงเฉพาะมือที่ถือมีดซึ่งพุ่งเข้ามา สกัดกั้นความอยากที่จะบุกเข้าประชิดเพื่อเล่นงานจุดตายต่างๆตามร่างกายคนร้ายอย่างที่ได้ฝึกฝนร่ำเรียนมา เพราะมันเสี่ยงกับการถูกตอบโต้กลับด้วยอาวุธจนบาดเจ็บ
ในทางกฎหมายคุณก็แสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะทำร้ายร่างกายคู่ต่อสู้อย่างแน่ชัด ถ้าคุณรักษาสภาพเช่นนี้ได้ตลอด ก็จะสร้างบาดแผลสะสมตามแขนขา มือเท้าของคนร้ายจนในที่สุดหมดสภาพเลิกราไปเอง ภายหลังถ้าต้องขึ้นโรงขึ้นศาลก็ยังพอชี้แจงได้ว่า คุณไม่ได้มีเจตนาป้องกันตัว “เกินกว่าเหตุ” เพราะคุณกำหนดขอบเขตของการป้องกันตัวไว้แล้วอย่างชัดเจน
“อยากชนะอย่างแท้จริง ต้องชนะตัวเองก่อน”
เรียบเรียงโดย Snap shot
Friday, July 15, 2011
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comment:
ในแง่ของกฎหมายนั้นการป้องกันตัว “เกินกว่าเหตุ” หรือ “ไม่เกินกว่าเหตุ” นั้นเป็นที่ถกเถียงกันมากในทุกประเทศ เนื่องจากสถานการณ์จริงนั้นมีความแตกต่างหลากหลาย มีปัจจัยที่จะต้องนำมาพิจารณาหลายประการ ในหลายกรณีศาลในประเทศที่เจริญแล้วตัดสินว่าเป็นการป้องกันตัวสมควรแก่เหตุ แต่เหตุการณ์อย่างเดียวกันศาลไทยอาจตัดสินว่าเป็นการป้องกันตัวเกินกว่าเหตุก็ได้ เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมมีความแตกต่างกัน มุมมองและความเข้าใจในเรื่องการป้องกันตัวของศาลอาจแตกต่างกันได้ ก็ต้องยอมรับว่าทุกระบบกฎหมายมีทั้งจุดดีและด้อยอยู่เสมอ
ดังนั้นบางครั้งสิ่งที่เราคิดว่า “สมควรแก่เหตุ” และตัดสินใจทำไปนั้น แต่ “ศาล” อาจไม่คิดเช่นนั้น เราอาจมีความผิดและต้องรับโทษก็ได้ทั้งๆที่ทำไปเพื่อป้องกันตัว คงไม่มีใครรับประกันได้ว่าสิ่งที่คุณทำไปนั้นถูกต้องเหมาะสมอย่างแน่นอน
“คิดก่อนทำและตอบสนองให้เหมาะสมกับสถานการณ์” จึงเป็นเพียงหลักกว้างๆที่ควรยึดถือไว้
Batman
Post a Comment