Post-incident Planning
ในการป้องกันตัวนั้นมีการเตรียมตัวหรือแผนที่จะต้องคิดใหญ่ๆอยู่ 3 ประการ คือ ก่อนเกิดเรื่อง (Pre-incident Planning) ขณะเกิดเรื่อง (Incident Planning) และ หลังเกิดเรื่อง (Post-incident Planning)
การเกิดเรื่องราวกับบุคคลอื่น (Incident) นั้นจะรวมไปถึงการโต้เถียงขัดแย้งอย่างรุนแรงโดยไม่มีการใช้กำลังไปจนถึงการต่อสู้ด้วยความรุนแรง (Fighting) ซึ่งการเตรียมตัวก่อนเกิดเรื่องจะเน้นไปที่การป้องกันหรือหลีกเลี่ยงภัยคุกคามไม่ให้เกิดกับตนเอง หรือมีความขัดแย้งเล็กน้อยเกิดขึ้นก็พยายามไม่ให้ลุกลามไปเป็นความขัดแย้งที่รุนแรง
ส่วนการเตรียมตัวขณะเกิดเรื่องนั้นหากมีความขัดแย้งรุนแรงก็พยายามไม่ให้ลุกลามไปจนถึงขั้นการใช้กำลัง พยายามทำให้สถานการณ์บรรเทาลงด้วยวิธีการต่างๆ แต่หากมีการต่อสู้ใช้กำลังเกิดขึ้นเราก็ต้องมีแผนในการรับมือให้เหมาะสมกับสถานการณ์ รู้ว่าจะต้องตอบโต้หรือป้องกันตัวเองอย่างไรเพื่อพาตนเองออกมาจากเหตุการณ์ร้ายนั้นได้อย่างปลอดภัย เป็นต้น
การเตรียมตัวหลังเกิดเรื่อง (Post-incident Planning) เมื่อการโต้เถียงรุนแรงหรือการต่อสู้สิ้นสุดลง หากคุณเป็นฝ่ายได้เปรียบอยู่ มีหลักการที่ควรปฏิบัติดังนี้
- หากคุณอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบก็จงอยู่อย่างนั้นจนกว่าจะแน่ใจว่าภัยคุกคามนั้นจะไม่สามารถตอบโต้กลับมาได้
- อย่าหันหลังให้กับภัยคุกคามในขณะที่คุณกำลังถอยห่างออกมา
- อย่าลดมือที่ใช้ป้องกันตัว (Guard) ลง จนกว่าจะออกมาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยแล้ว
- เมื่ออยู่ในพื้นที่ปลอดภัยให้โทรบอกบุคคลที่เหมาะสมทันที เช่น ตำรวจหรือโรงพยาบาล เป็นต้น
- ตื่นตัวตลอดเวลาอย่างน้อยสองถึงสามวันหลังเหตุการณ์ เพราะภัยคุกคามอาจกลับมาแก้แค้นได้
การใช้กำลังเข้าแก้ไขเหตุการณ์ร้ายขอให้เป็นทางเลือกสุดท้าย แต่หากจำเป็นต้องใช้นอกจากรู้วิธีการป้องกันตัวแล้ว ก็ยังต้องรู้วิธีในการถอยห่างออกจากสถานการณ์นั้นด้วยความ “ไม่ประมาท”
จงจำไว้ว่าภัยคุกคามมักไม่ได้มีแค่คนเดียว (ถึงแม้ว่าเราจะมีเรื่องหรือเห็นคนร้ายแค่หนึ่งคน ก็ต้องคิดว่าอาจมีคนร้ายคนอื่นอีกอยู่ใกล้ๆเสมอ) จึงควรรีบถอยออกจากการต่อสู้ให้เร็วที่สุด หลีกเลี่ยงการต่อสู้บนพื้น (Ground fighting) ซึ่งแตกต่างจากกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสานทั่วไปหรือ MMA (Mixed Martial Arts) เนื่องจากการต่อสู้ในสังเวียนมักจบลงที่การต่อสู้บนพื้น เพราะเขาไม่ต้องกังวลว่าจะมีคู่ต่อสู้คนอื่นจะเข้ามาทำร้ายเขาอีก แต่ในสถานการณ์จริงคนร้ายอาจมีหลายคนเมื่อเรานอนอยู่บนพื้นจะทำให้การเคลื่อนไหวหรือหลบหนีทำได้ยากขึ้นมาก จึงตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบหากต้องเผชิญกับภัยคุกคามหลายคน
แต่การป้องกันตัวบนพื้น (Self-defense on the ground) ซึ่งอาศัยทักษะของการต่อสู้บนพื้นยังถือว่าสำคัญสำหรับการเรียนรู้การป้องกันตัว เพราะหากเราไม่รู้วิธีแก้ไขสถานการณ์เมื่อถูกทำให้นอนลงกับพื้นเราก็จะเป็นฝ่ายเสียเปรียบทันที และเหตุการณ์ร้ายๆมักเกิดขึ้นในขณะที่เราถูกทำให้นอนลงบนพื้น เพราะคนร้ายรู้ว่าการเคลื่อนไหวและการตอบโต้ของเราจะถูกจำกัดลงทันที
การเตรียมตัวหลังเหตุการณ์ยังรวมไปถึงการรับมือกับผลกระทบที่ตามมาของเหตุการณ์ด้วย เช่น การขึ้นโรงขึ้นศาล การรักษาพยาบาล วิธีการให้การต่างๆ เป็นการเยียวยาทั้งทางร่างกายและจิตใจ นอกจากนั้นยังรวมไปถึงการหาแนวทางป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ร้ายๆเหล่านี้เกิดขึ้นอีก เป็นต้น
การมี “สติ ความตระหนักรู้ ความไม่ประมาท” เป็นสิ่งสำคัญที่จะนำพาตนให้พ้นภัย โดยอาศัยความรู้และทักษะในการป้องกันตัวเป็นเครื่องมือ
สุดท้ายนี้ขอให้ตั้ง “สติ” ทุกครั้งเมื่อเผชิญเหตุ และขอให้ “พลังจงอยู่กับท่าน”
เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Disengage Safely from the Fight ของ Defense University
Friday, December 3, 2010
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment