Friday, November 5, 2010

แทง VS. ฟัน

แทง VS. ฟัน



ในกลุ่มคนที่รักชอบในการ “เล่น” มีด ซึ่งมักจะทำสองสิ่งควบคู่กันไป หนึ่งคือ การสะสมมีด เพราะพอใจรูปทรงการออกแบบ ชื่นชมความพยายามขัดแต่งขัดเกลา ทั้งผสมผสานภูมิความรู้ทางโลหะวิทยาจนสรรสร้างออกมาเป็นเครื่องมืออันงดงามที่เรียกว่า “มีด” อีกอย่างคือ การเรียนรู้ฝึกฝนการใช้มีดเพื่อการต่อสู้ป้องกันตัว เมื่อคนที่รักชอบในสิ่งเดียวกันรวมตัวเป็นกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ และทำกิจกรรมร่วมกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความขัดแย้งด้านข้อมูล ความเชื่อ และแนวความคิดที่หลากหลาย ประเด็นหนึ่งที่ถกเถียงกันมานานคือ การใช้มีดต่อสู้ป้องกันตัว ผู้ใช้มีดควรจะ “แทง” หรือ “ฟัน” คู่ต่อสู้จึงจะหยุดยั้งการคุกคามได้ดีกว่ากัน


เชื่อว่าผู้ที่ยืนอยู่ด้าน “แทง” คงมีข้อมูลและเหตุผลมากมายที่สนับสนุนความคิดที่ว่า “ต้องแทงคู่ต่อสู้เท่านั้นจึงจะสามารถหยุดยั้งคนร้ายได้” ข้อพิสูจน์ยืนยันที่ชัดเจน คือ ส่วนใหญ่ผู้เสียชีวิตจากสถิติของเหยื่อผู้ถูกทำร้ายด้วยมีด มักถูกแทงอวัยวะสำคัญจนเสียชีวิต จึงจะขอกล่าวถึงเฉพาะเหตุผลสนับสนุนการ “ฟัน” เพื่อให้ผู้ที่ยังขัดข้องใจนำมาเปรียบเทียบดู


การ “ฟัน” หรือ “กรีด” หรือ “เฉือน” ฯลฯ แล้วแต่จะถูกกล่าวโดยใครมีความหมายเหมือนกันตรงที่สื่อถึงการใช้ประโยชน์จากด้านคมของมีดมากกว่าด้านแหลมนั่นเอง และเหตุผลที่ครูมีดหลายคนแนะนำให้เราป้องกันตัวด้วยการ “ฟัน” ด้วยเหตุผลดังนี้


1. เหตุผลด้านกายภาพ นาย Dave Spaulding ผู้สนใจและศึกษาเกี่ยวกับการใช้มีดป้องกันตัว เขียนไว้ว่า “ผมชอบการฟันมากกว่าแทง เพราะมันสร้างความเสียหายให้มากกว่า ส่วนใหญ่เกิดบริเวณ แขน มือ ของคู่ต่อสู้ บาดแผลขนาดใหญ่สร้างความเจ็บปวดมากกว่าและเลือดก็ไหลมากกว่าด้วย ผิดกับการแทง” จากการสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตจากการถูกแทง ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่าถูกแทงแล้ว และเลือดก็ไหลน้อยมาก การต่อสู้ยุติด้วยเหตุอื่นๆ เช่น มีคนมาห้าม ตำรวจมา หรือ เหนื่อยจนหมดแรง ซึ่งไม่ได้เกิดจากการถูกแทงหรือเสียเลือด


2. เหตุผลด้านจิตวิทยา เนื่องจากการฟันให้ผลทางกายภาพที่ชัดเจนกว่า (แผลขนาดใหญ่, เลือดออกมากกว่า, เจ็บมากกว่า) ยิ่งเป็นแผลที่มีผลกับเส้นเลือดหรือเส้นเอ็นตามแขนขา หรืออวัยวะสำคัญ เช่น ใบหน้า ยิ่งส่งผลกับจิตใจของคู่ต่อสู้ให้หวั่นไหว ท้อแท้ จนที่สุดต้องถอดใจล่าถอยไปเอง


3. ด้านกฎหมายและสังคม ผมได้เขียนรายงานไว้แล้วในบทความเรื่อง “ทำสิ่งที่ถูกต้องเถอะ” ย้อนกลับไปอ่านได้


4. ด้านเทคนิค เนื่องจากอาวุธมีดในปัจจุบันมีขนาดมาตรฐานเล็กและสั้นกว่าในอดีตมาก ใบมีดหนาขึ้น คมมีดยาวไม่เกิน 3 – 4 นิ้ว และมักเป็นมีดพับเป็นส่วนใหญ่ เพื่อปรับตัวเข้ากับสังคมเมืองและข้อจำกัดของกฎหมายของแต่ละประเทศหรือพื้นที่ เทคนิคการใช้มีดจึงต้องเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะของอาวุธที่ใช้ ใบมีดที่สั้นเกินไปอาจแทงได้ไม่ลึกพอจะสร้างความเจ็บปวดหรือหวั่นไหวแก่คู่ต่อสู้ ยิ่งในประเทศที่มีอากาศเย็นใบมีดที่หนาและสั้นไม่อาจแทงทะลุเสื้อผ้าหนาๆได้ดีพอ ครูมีดสมัยใหม่จึงแนะนำให้ใช้มีดกรีดหรือฟันตามข้อมือ แขน ขา หรือร่างกายส่วนที่ไม่มีเสื้อผ้าปกคลุม เพื่อสร้างบาดแผลสะสมจนคู่ต่อสู้ยอมแพ้ไปเอง


ทั้งหลายนี้เป็นเหตุผลหลักๆที่ครูมีดซึ่งมีชื่อเสียงหลายคนแนะนำให้คนเล่น “มีด” ยุคใหม่ใช้ การ “ฟัน” เพื่อป้องกันตัวและทุกท่านก็มักจะกล่าวเสริมว่า “ไม่ห้ามการแทง แต่ขอให้ใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น และอย่าเล็งผลเลิศจนเกินไป จากสถิติที่รวบรวมได้มีน้อยรายที่แทงทีเดียวจอด และถ้าเป็นการต่อสู้ระหว่างมีดกับมีดก็มีโอกาสที่จะเสียชีวิตทั้งคู่


“คุณเลือกคู่ต่อสู้ไม่ได้ แต่คุณเลือกวิธีการป้องกันตัวได้”


เรียบเรียงโดย Snap shot
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความในนิตยสารอาวุธปืน ประจำเดือน มกราคม 2551 ของ Dave Spaulding

1 comment:

  1. การฟันและการแทงต่างก็มีข้อดีและข้อด้อยด้วยกันทั้งสิ้น โดยส่วนตัวแล้วจะใช้ทั้งสองวิธีโดยไม่คำนึงว่าจะต้องพยายามฟันให้มากกว่าแทง จะใช้เทคนิคใดในการใช้มีดขึ้นกับว่าเรามีมีดแบบใดในมือ คู่ต่อสู้มีรูปร่างลักษณะอย่างใด และในขณะต่อสู้ป้องกันตัวนั้นตำแหน่งของมีด ตำแหน่งของตัวเราอยู่ที่ใดเมื่อเทียบกับคู่ต่อสู้ (Relative position) เพื่อสร้างความไหลลื่น (Flow) ของการใช้มีด

    ไม่ว่าการฟันหรือแทงก็สามารถสร้างความเสียหายได้มากด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้นเมื่อต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามด้วยมีดจึงต้องตั้ง “สติ” ให้ดี ใช้ทักษะและความรู้ที่ฝึกมาเพื่อเอาตัวเองให้รอดพ้นออกมาได้อย่างปลอดภัย

    Batman

    ReplyDelete