บันดาลโทสะ
คำว่า “บันดาลโทสะ” เป็นคำที่ใช้ในกฎหมายซึ่งก็คือ ความโกรธ ในความเข้าใจของชาวบ้าน เวลาโกรธมนุษย์มักยับยั้งชั่งใจยาก จึงก่อเรื่องผิดกฎหมายขึ้นได้ สายตากฎหมายก็มองพฤติกรรมที่เกิดจากอารมณ์ประเภทนี้ตามหลักธรรมชาติ แต่เพื่อความสงบสุขของสังคมจำต้องมีบทลงโทษเพื่อใช้เตือนใจคนเจ้าอารมณ์ทั้งหลายให้ระวังการแสดงออกด้วยความโกรธ
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 บัญญัติว่า ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ เราจักมองเห็นองค์ประกอบที่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแล้วว่า หากการใช้อาวุธด้วยบันดาลโทสะหรือความโกรธนั้น กฎหมายบังคับให้ลงโทษผู้นั้น แต่ยอมให้ลงโทษน้อยกว่าความผิดนั้นเพียงใดก็ได้โดยดุลพินิจของผู้ตัดสิน
การถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในเหตุบรรเทาโทษเรื่องบันดาลโทสะหรืออารมณ์โกรธ ตัวอย่างเช่น รุ่นพี่ไล่เตะรุ่นน้องด้วยความคึกคะนอง ต่อมารุ่นน้องใช้มีดคัตเตอร์แทงใส่รุ่นพี่ อย่างนี้จะเห็นพฤติกรรมการถูกข่มเหงจนระงับอารมณ์โกรธไม่ได้ หรือ แฟนหนุ่มเห็นสาวคนรักถูกฉุดไปต่อหน้า จึงเข้าไปช่วยเหลือและต่อสู้กับแฟนเก่าของเธอแล้วแทงมีดหรือยิงปืนด้วยความโกรธ หรือ ผัวซ้อมเมียจนบาดเจ็บสาหัส เมียโกรธใช้มีดปังตอทำร้ายผัว หรือ เจ้าหนี้ซ้อมทวงหนี้ ลูกหนี้ฮึดสู้แล้วใช้มีดแทงใส่เขา เป็นต้น มันเป็นพฤติกรรมที่ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรง สิ่งที่ต้องคำนึงด้วยคือ ระดับความร้ายแรงของการถูกข่มเหงนั้น เป็นดุลพินิจของผู้ตัดสินเป็นรายคดีและขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในคดี ไม่มีหลักตายตัว ดังเช่น เพื่อนสองคนเถียงกันเรื่องการเมืองคนละขั้ว เรื่องหมากัดกัน และอื่นๆ ศาลอาจมองว่าเป็นเหตุไม่ร้ายแรงพอจะอ้างบันดาลโทสะก็ได้
อีกตัวอย่างหนึ่งที่พิพาทและได้ข้อตัดสินในศาลมาแล้ว คือ เพื่อนสองคนเถียงกันในวงเหล้า คนหนึ่งเถียงแพ้แล้วเดินกลับบ้านด้วยความโมโหจัด เข้าบ้านไปหยิบปืนยาวเดินกลับไปบ้านคู่อริที่เถียงชนะ จากนั้นกระหน่ำยิงใส่จนตาย เขาอ้างในศาลว่าทำเพราะโกรธจัดที่เถียงสู้ไม่ได้ ขอให้ลดโทษด้วยเพราะขาดสติจริงๆ ศาลตัดสินคดีนั้นว่า ข้ออ้างเหตุบันดาลโทสะของเขาฟังไม่ขึ้นเนื่องจากระยะห่างจากบ้านเขากับบ้านผู้ตายห่างกันถึง 300 เมตรและยังเดินทางด้วยเท้าอีก ระยะทางและเวลานั้นน่าจะมีสติเพียงพอรู้ว่าควรยุติแล้ว อีกทั้งจะอ้างเหตุนี้ได้จักต้องทำร้ายกันในเวลาโต้เถียงกันเลย มิใช่ปล่อยเวลาผ่านไปมากกว่าสิบนาทีตามเวลาเดินทางของเขา จึงลงโทษจำคุกฐานฆ่าคนโดยเจตนาและใช้เหตุบันดาลโทสะเพื่อลดโทษมิได้
ข้อกฎหมายบังคับให้ศาลต้องลงโทษคนเจ้าอารมณ์ที่ใช้อาวุธก่อเหตุทำร้ายหรือฆ่าอีกฝ่าย คำถามหนึ่งจึงเกิดขึ้นว่า ทำไมหลายคนไม่ได้ถูกจำคุกจริงทั้งที่กฎหมายบังคับให้ลงโทษเขา ? คำตอบ คือ ศาลสั่งลงโทษจำคุกผู้ใช้อาวุธด้วยเหตุบันดาลโทสะน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ จึงลดโทษให้เหลือน้อยพอจะใช้อีกข้อกฎหมายหนึ่ง คือ รอการลงโทษจำคุกไว้ เท่ากับปล่อยให้เป็นอิสระ แม้จะมีความผิดและถูกลงโทษจำคุกก็ตาม
สายตากฎหมายมองมีดหรือปืนเป็นอาวุธอันตราย ทุกครั้งที่ใช้มัน ต้องมีความรับผิดชอบเกิดขึ้นเสมอ เหตุยกเว้นโทษจากกฎหมายนั้นต้องอาศัยดุลพินิจของศาลและข้อเท็จจริงในคดี มันยืนยันว่าตอนใช้อาวุธนั้นผู้ใช้ควบคุมสถานการณ์ได้ หลังจากใช้อาวุธแล้วคนอื่นเป็นผู้ตัดสินชะตากรรมของผู้ใช้เสมอ ดังนั้น การมีสติในการถือครองอาวุธเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพื่อควบคุมผลจากการใช้ให้อยู่ในขอบเขตที่กฎหมายยอมรับได้ เมื่อมีอาวุธก็ควรเรียนรู้เทคนิควิธีใช้ให้ปลอดภัยและควบคุมมันได้เต็มที่เพื่อป้องกันชีวิตและเลี่ยงคดีความในภายหลัง โดยเฉพาะมีดเป็นสิ่งที่กฎหมายควบคุมน้อย แต่ถือเป็นอาวุธที่ฆ่าหรือทำร้ายคนอื่นได้ อีกทั้งต้องรับโทษอาญาไม่ต่างจากการใช้ปืน จึงพึงระวังการใช้หรือพกพามีดด้วย ถ้ารู้ตัวว่าควบคุมโทสะไม่ค่อยได้ ก็ควรเลี่ยงพกมีดหรือของมีคมทุกชนิดก่อนจะต้องไปอยู่ในคุกแทนบ้านแสนสบาย มือเปล่าก็ใช้ป้องกันตัวเองได้ไม่ด้อยกว่ามีดหรือปืน แค่รู้จักเทคนิคใช้มันให้มีประสิทธิภาพเยี่ยงเดียวกับอาวุธ มือเปล่าควบคุมพลังหรือผลของมันได้ง่ายกว่ามีดหรือปืน ก่อนจะเลือกอาวุธใด ทำไมไม่ใช้มือเป็นอาวุธที่น่าจะง่ายและไม่มีต้นทุนสูงเลย ?
เรียบเรียงโดย Black Cuff
No comments:
Post a Comment