ต้องเร็วพอจึงจะปลอดภัย
จากบทความของคุณ Batman เมื่อ 26 มี.ค. 2553 ซึ่งกล่าวถึงสามองค์ประกอบสำคัญ อันจะทำให้การต่อสู้ป้องกันตัวของคุณประสบความสำเร็จได้ ประกอบด้วย
ความเร็ว- ความแรง-ความแม่นยำ ซึ่งถูกทดแทนด้วยสัญลักษณ์รูปสามเหลี่ยม เรียกว่า “สามเหลี่ยมแห่งชัยชนะ” หลายคนอาจสงสัยว่าจะทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงองค์ประกอบทั้งสามที่ว่ามานั้น ผมจะขอให้แนวคิดที่สำคัญบางอย่าง
“ความเร็ว” คุณจะป้องกันตัวให้ปลอดภัย จะรุกหรือรับก็ต้องเร็วพอ ปัญหาคือ เร็วแค่ไหนจึงจะนับว่า “พอ” คำตอบคือ ไม่ต้องเร็วมาก ขอให้เร็วกว่าคู่ต่อสู้ของคุณก็แล้วกัน การจะเข้าถึงตรงนั้นได้ ผมขอเสนอวิธีดังนี้
1. ต้องอ่านคู่ต่อสู้ของคุณให้ออก ถ้าคุณกำลังจะขึ้นสะพานลอยเพื่อข้ามถนน สังเกตเห็นชายสองคนยืนรีรออยู่บริเวณกลางสะพานแต่ตาจ้องมาทางคุณตลอด คุณเลยเปลี่ยนใจเดินเลยไปข้ามถนนทางอื่น นับว่าคุณป้องกันตัวสำเร็จแล้ว เพราะคุณอ่าน “คู่ต่อสู้ของคุณได้อย่างรวดเร็ว ปฏิกิริยาหลบหลีกของคุณจึง “เร็ว” เกินพอ คุณป้องกันตัวก่อนที่คนร้ายจะลงมือเสียอีกซึ่งถือว่าดีที่สุด ถ้าเผอิญคุณพลาดท่าต้องเผชิญกับคนร้ายที่แสดงตัวคุกคามคุณอย่างชัดเจน ขอแนะนำให้คุณมองดู “มือทั้งสองข้าง” ของเขาอย่างระมัดระวัง บางท่านอาจจ้องหน้ามองตาคนร้าย พยายาม “อ่าน” หรือข่มขวัญ แต่ไม่เป็นผลหรอก สิ่งที่จะทำร้ายคุณ คือ มือหรือมีด ไม้ ในมือเขาต่างหาก เมื่อเขามีเจตนาจะทำร้ายคุณ มือเขาจะต้องออกอาการก่อน เมื่อคุณอ่านออกย่อมรู้ล่วงหน้าทั้งอาวุธและทิศทาง คุณก็ป้องกันตัวได้ง่ายขึ้น
2. อย่าตั้งใจไว้ก่อน, อย่าเกร็ง, อย่าเงื้อง่า ผมแนะนำให้คุณปิดบังความคิด อย่าให้คู่ต่อสู้อ่านออก เวลาต้องต่อสู้กับใคร คุณเห็นจังหวะปล่อยหมัดก็ปล่อยเลย อย่าคิดล่วงหน้า ถ้าคุณตั้งใจไว้ล่วงหน้าว่าจะชกหมัดขวา แต่คู่ต่อสู้เปิดช่วงล่าง คุณก็ไม่ได้เตะเพราะไม่ได้เตรียมตัว มือของคุณเกร็งรอจนล้า พอได้จังหวะจะชกเพื่อให้แรงก็อดที่จะเงื้อไม่ได้ ทั้งหมดนี้ทำให้คู่ต่อสู้ของคุณอ่านออกอาจชิงออกอาวุธหรือป้องกันได้ก่อน เท่ากับคุณเคลื่อนไหวช้าเกินไป
3. เส้นตรงสั้นที่สุด ในการต่อสู้จริงๆสิ่งที่แตกต่างกับการซ้อม คือ ความเร็วและแรงในการจู่โจมของคนร้าย ถ้าคุณอยากเอาตัวให้รอดก็ต้องเคลื่อนไหวเร็วกว่าคนร้าย หมัด เท้า เข่า ศอก ที่พุ่งเข้าหาคุณไม่มีเวลาสำหรับท่าสวยๆ ตามหลักเลขาคณิต เส้นตรงเป็นเส้นที่สั้นที่สุด ดังนั้นทุกๆท่าที่คุณใช้ป้องกันตัวและตอบโต้ จึงต้องรวบลัดตรงไปตรงมา มิเช่นนั้นไม่ทันการณ์แน่
4. ให้เป้าหมายเป็นแค่ทางผ่าน ปัญหาอย่างหนึ่งของผู้ที่จำเป็นต้องต่อสู้ป้องกันตัวในชีวิตจริง คือ การเคลื่อนไหว ออกอาวุธ หรือ ป้องกันตัว เป็นครั้งๆตามสถานการณ์ เช่น คุณชกหมัดขวาเข้าใบหน้าคู่ต่อสู้ ก็ออกหมัดไปโดยไม่มีโปรแกรมไว้ก่อนว่าหลังจากหมัดขวาจะออกอาวุธอะไรต่อ ทำให้หมัดขวาต้องชะลอช้าลงก่อนกระทบเป้าหมาย เมื่อกระทบเป้าแล้วก็ชะงักอีก หรือ ถอยกลับมาตั้งต้นใหม่ แต่ถ้าเป็นนักมวยอาชีพ เขาจะออกหมัดเป็นชุด 4 -5 หมัดต่อเนื่องกัน กล้ามเนื้อถูกสั่งให้เคลื่อนไหวออกอาวุธโดยไม่หยุดเลย แต่ละหมัดจึงมีความรวดเร็วจนหวังผลได้ การป้องกันก็เช่นกัน หลังการป้องกันอาวุธของคู่ต่อสู้แล้วจะตอบโต้อย่างไร หากคุณมีทักษะที่ต่อเนื่องกันแล้ว การป้องกันของคุณก็จะเร็วจน “พอ” แน่นอน
ทั้งหมดนี้เป็นเทคนิคเบื้องต้นเพื่อช่วยให้คุณสามารถเคลื่อนไหวได้เร็วขึ้นเมื่อเทียบกับคู่ต่อสู้ แต่จะเป็นไปได้ คุณต้องมี “สติ” อยู่กับตัวเสมอ หากเผชิญหน้าคนร้ายหรือคู่ต่อสู้แล้วคุณสติแตกไปก่อน สิ่งที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของคุณก็มีแต่อารมณ์เพียงอย่างเดียว นอกจากจะไม่เร็วแล้วยังไร้ทิศทางและนำคุณสู่อันตรายในที่สุด
คราวหน้าจะกล่าวถึงองค์ประกอบส่วนที่เหลือ
เรียบเรียงโดย Snap shot
“สามเหลี่ยมแห่งชัยชนะ” ซึ่งประกอบด้วย ความเร็ว (Speed) ความแม่นยำ (Accuracy) และ พละกำลัง (Power) นั้นเป็นหลักพื้นฐานของการต่อสู้ป้องกันตัว อันเป็นทักษะที่ต้องอาศัยการชี้แนะและฝึกฝน หากเรารู้จักการใช้หลักการดังกล่าวอย่างถูกต้องและปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้จะเกิดประโยชน์อย่างมาก
ReplyDeleteดังนั้นการป้องกันตัวนั้นนอกจากการเรียนรู้วิธีหลีกเลี่ยงภัยคุกคาม และการเผชิญกับภัยคุกคามด้วยการไม่ใช้กำลังแล้ว การใช้กำลังเข้าแก้ไขปัญหาก็เป็นส่วนหนึ่งซึ่งไม่อาจละเลยได้ ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝนพอสมควร ถึงแม้จะไม่ยุ่งยากหนักหน่วงเหมือนการฝึกศิลปะการต่อสู้ แต่ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ผมมักเน้นย้ำถึงความสำคัญของการป้องกันตัวเสมอ โดยให้บุคคลเหล่านั้นตั้งคำถามให้ตัวเองว่า “หากคุณต้องตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้าย เช่น ถูกคนร้ายเอามีดจี้คอ ถูกปืนจี้ ถูกไม้ตี ถูกรัดคอ ถูกคนร้ายจะข่มขืน คุณจะรับมืออย่างไร มีความรู้พอที่จะเอาตัวรอดหรือไม่ ถ้า “ไม่” ก็จงหาความรู้และฝึกฝนการป้องกันตัวจากภัยคุกคามเหล่านั้น ถ้ารอให้เผชิญเหตุแล้วค่อยคิดจะมาฝึกมันก็สายไปเสียแล้ว
มีคนกล่าวประโยคที่น่าสนใจไว้ว่า “คุณเลือกที่จะเป็นสถิติผู้เสียชีวิต หรือจะเป็นผู้รอดชีวิตได้”
Thai self-defense พยายามรวบรวมแนวคิดและวิธีที่จะช่วยให้ผู้สนใจมีความรู้และสามารถรับมือกับภัยคุกคามในสังคมได้
Batman