Friday, June 25, 2010

เรียน Self-defense ฉบับย่อ

เรียน Self-defense ฉบับย่อ



โลกปัจจุบันผู้คนมีกิจกรรมที่ต้องทำมากมายในแต่ละวัน ผมจึงได้รับคำปรารภเช่นนี้เสมอ “ผมอยากฝึกศิลปะป้องกันตัว….. แต่หาเวลาว่างไม่ได้เลย” “ก็รู้อยู่ว่าสังคมไม่ปลอดภัย….. แต่ดิฉันหาเวลาเรียนศิลปะป้องกันตัวไม่ได้เลย” ถ้าเป็นกรณีอื่นผมคงพอแนะนำอุปกรณ์หรือวิธีการใหม่ๆเพื่อช่วยแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ แต่สำหรับคนไม่มีเวลาเล่นกีฬาหรือฝึกฝน Martial Art ผมจนใจจริงๆ เพราะการฝึกกล้ามเนื้อและเพิ่มทักษะ ไม่มีทางลัดเสียด้วย


อย่างไรก็ตามหากใครไม่มีเวลาจริงๆ แต่มุ่งมั่นตั้งใจจะเรียน Martial Art เพื่อป้องกันตัว ผมขอแนะนำให้เรียนครึ่งเดียวก่อน ปกติ Martial Art และ Self-defense ทุกระบบ มักแบ่งการฝึกฝนเป็นสองส่วน คือ รุกและรับ


การรุก คือ ส่วนที่ว่าด้วยการจู่โจมเล่นงานคู่ต่อสู้ด้วยอวัยวะ หมัด เท้า เข่า ศอก หรืออาวุธมีด ไม้ ดาบ ทวน ฯลฯ ด้วยกลยุทธ์หรือวิธีการต่างๆตามแต่ระบบที่คุณเลือกเรียนเลือกใช้


การรับ คือ ส่วนที่ว่าด้วยการใช้อวัยวะมือ เท้า หรืออาวุธที่คุณมีปกป้องตัวคุณให้พ้นจากการทำร้ายของคู่ต่อสู้เมื่อถูกจู่โจม ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีว่า Martial Art และ Self-defense เกือบทุกระบบในปัจจุบันนี้ ต่างใช้กลยุทธ์ตั้งรับที่คล้ายๆกัน ซึ่งผมได้รวบรวมไว้เพื่อให้เข้าใจและจดจำง่าย ผมเรียกว่า “องครักษ์ทั้งแปด” ประกอบด้วย 8 วิธี ดังนี้ครับ


1. ปัด ใช้อวัยวะหรืออาวุธของเราเข้าปะทะจากด้านข้างไปยังแขน ขา หรืออาวุธของคู่ต่อสู้ ทำให้แรงกระทำหรืออาวุธของคู่ต่อสู้เบี่ยงเบนออกจากเป้าหมาย


2. ป้อง ใช้อวัยวะหรืออุปกรณ์ป้องกันยกขึ้นกั้นระหว่างแรงกระทำจากคู่ต่อสู้กับตัวเรา ไม่ให้แรงกระทำหรืออาวุธของคู่ต่อสู้กระทบเป้าหมายที่ตัวเราได้


3. เกี่ยว ใช้อวัยวะหรืออุปกรณ์ใดๆ เหนี่ยวนำจากด้านข้างของแขน ขา หรืออาวุธของคู่ต่อสู้เพื่อเบี่ยงเบนแรงนั้น ให้คลาดจากเป้าหมายและเปลี่ยนทิศทางไปตามที่เราต้องการ


4. กัน เป็นกิริยาซึ่งเกิดต่อเนื่องจากการปัดและเกี่ยว เมื่อแรงกระทำโดยคู่ต่อสู้เบนออกจากเป้าหมายแล้ว เราใช้อวัยวะหรืออุปกรณ์ใดๆกั้นไว้ไม่ให้คนร้ายตอบโต้กลับมาที่เราได้อีก


5. กุม เป็นกิริยาซึ่งเกิดต่อเนื่องจากการปัด การเกี่ยวและการกัน วิธีการคือ ใช้มือหรืออุปกรณ์ใดๆเกาะกุมอวัยวะหรืออาวุธที่พุ่งมาทำร้ายเรา จุดมุ่งหมายคือ เพื่อควบคุมแรงกระทำจากคู่ต่อสู้โดยสิ้นเชิง


6. สกัด เป็นเทคนิคที่มุ่งกระทำต่อแนวเส้นทางส่งกำลังมายังอาวุธที่มุ่งทำร้ายเรา ด้วยทฤษฎีที่ว่า แรงในการโจมตีได้จากสองเท้าที่ยืนบนพื้นอย่างมั่นคง ส่งกำลังต่อมาตามปลายเท้าผ่านสะโพก เอว เข้ามาที่ไหล่ ไหลไปตามแขน ผ่านศอก ถึงข้อมือไปที่สองมือ ถ้ามือถืออาวุธแรงนิ้วก็จะผ่านจากมือไปที่อาวุธ เพื่อส่งอาวุธนั้นสู่เป้าหมาย เทคนิคสกัดจะมุ่งโจมตีตามแนวส่งแรงที่ว่านี้ เช่น คู่ต่อสู้ชกหมัดขวาใส่ใบหน้าเรา โดยเราไม่กันหมัดแต่ยกเท้าถีบสกัดไปที่เข่าข้างใดข้างหนึ่งของคู่ต่อสู้ ทำให้คู่ต่อสู้บาดเจ็บและเสียการทรงตัว แรงที่ส่งมาที่หมัดถูกสกัดกั้น หมัดนั้นก็หมดแรงปะทะหรือเสียทิศทางไม่โดนเป้าหมาย


7. ถอย ในการใช้อาวุธเข้าทำร้าย ไม่ว่าจะเป็น หมัด เท้า เข่า ศอก หรืออาวุธใดๆก็ตาม มันมีระยะอันตรายไม่เท่ากัน เมื่อถูกโจมตีวิธีการป้องกันตัวอย่างหนึ่งซึ่งใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ ถอยให้พ้นระยะอันตรายของอาวุธนั้นๆ การถอยในความหมายของผม คือ การเคลื่อนเป้าหมายให้พ้นจากแนวแรงหรือพ้นระยะอันตรายของอาวุธนั้นๆ ไม่ว่าคุณจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ไปข้างๆ เฉียงๆหรือไปข้างหลังก็นับเป็นการถอยทั้งสิ้น


8. คล้อยตาม มีลักษณะคล้ายๆเทคนิคเกี่ยว หมายถึงการส่งแรงของเราเข้าร่วมกับแรงกระทำผ่านการกุมแล้วชักนำแรงกระทำไปในทิศทางที่เราต้องการ


ทั้ง 8 กลยุทธ์นี้อาจใช้เดี่ยวๆหรือจับกลุ่มเป็นสองเป็นสามกลยุทธ์ใช้ต่อเนื่องกันก็ได้ หากเรียนรู้ทั้ง 8 กลยุทธ์แล้วใช้ให้คล่อง ก็สามารถจะป้องกันตัวได้ระดับหนึ่ง อย่างน้อยคู่ต่อสู้ก็เล่นงานคุณได้ไม่ง่ายนัก ส่วนคุณจะตอบโต้กลับอย่างไรก็ขึ้นกับตัวคุณเองว่ามีทักษะในการต่อสู้แค่ไหน ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเรียนระบบไหน คุณก็รบเร้าให้ครูของคุณสอนส่วนนี้ให้ก่อน ฝึกให้คล่องไว้ก่อน ต่อจากนั้นถึงไม่มีเวลาฝึกส่วนอื่นก็นับว่ามีต้นทุนแห่งความปลอดภัยไว้ส่วนหนึ่งพออุ่นใจ


เรียบเรียงโดย Snap shot

Friday, June 18, 2010

Buzz Saw Mind Set

Buzz Saw Mind Set



ในการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยมีดนั้นสิ่งหนึ่งที่ต้องคิดไว้ในใจเสมอก็คือ โจมตีสิ่งที่อยู่ในระยะมีดของเรามากที่สุดไว้ก่อน คล้ายกับโต๊ะเลื่อยไม้ของฝรั่งที่มีใบเลื่อยกลม (Buzz saw) โผล่ออกมาจากกลางโต๊ะ ถ้าเราดันแผ่นไม้เข้าไปมันก็จะตัดไม้ออกเป็นสองท่อนทันที (ไม้ที่อยู่ในระยะของใบเลื่อยเท่านั้นที่ถูกตัด) เราจึงเรียกหลักการแบบนี้ว่า Buzz Saw Mind Set


อย่างที่เคยกล่าวไว้ว่า บาดแผลที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่อันเกิดจากการต่อสู้ด้วยมีดนั้น มีผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจเสมอ บางครั้งแม้จะเป็นบาดแผลเล็กน้อยมีผลต่อร่างกายไม่มากแต่อาจมีผลทางจิตใจสูง เช่น บริเวณใบหน้า ซึ่งอาจทำให้คนร้ายถอดใจยอมถอย เลิกคิดที่จะมาทำร้ายเราอีกทำให้การต่อสู้สิ้นสุดลง


หลัก Buzz Saw Mind Set ในการต่อสู้ด้วยมีดนั้น ไม่ว่าคนร้ายจะยื่นส่วนหนึ่งส่วนใดเข้ามาอยู่ในระยะที่มีดของเราสามารถทำอันตรายได้ ก็ให้รีบโจมตีไปยังตำแหน่งนั้นทันที ไม่ว่าจะเป็นการปาดฟัน (Slash) สะบัดมีด (Snap cut หรือ Hack) หรือแทง (Stab หรือ Thrust) ขึ้นอยู่กับจังหวะ เราไม่ต้องตั้งหน้าตั้งตาคอยจะโจมตีเฉพาะตำแหน่งที่สำคัญของร่างกายคู่ต่อสู้หรือจ้องแต่จะโจมตีเพื่อให้เกิดบาดแผลฉกรรจ์เท่านั้น บาดแผลที่เกิดขึ้นไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ก็ทำให้เราได้เปรียบคู่ต่อสู้ทั้งสิ้น


หากคนร้ายยังไม่ยอมแพ้การบาดเจ็บเล็กๆน้อยๆในตำแหน่งต่างๆเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นมือข้างที่ถือมีด ใบหน้า แขน ขา สะสมมากขึ้นเรื่อยๆล้วนมีผลกระทบต่อความสามารถในการจับอาวุธ การเคลื่อนไหวหรือเคลื่อนที่ของคนร้าย ทำให้เราเป็นฝ่ายได้เปรียบมากขึ้น


ในการป้องกันตัวนั้นเราคงไม่ต้องการที่จะทำร้ายคู่ต่อสู้จนถึงแก่ชีวิตโดยไม่จำเป็น หลักการ Buzz Saw Mind Set นี้หากเราใช้ได้ดี จะทำให้คนร้ายถอดใจยอมถอยไปก่อนที่การต่อสู้จะรุนแรงมากขึ้น


นอกจากนั้นไม่ว่าคนร้ายจะใช้มือเปล่าหรืออาวุธใดก็ตามในระยะประชิด เราสามารถนำหลัก Buzz Saw Mind Set ไปปรับใช้ได้เช่นกัน


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับมีดขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman

Friday, June 11, 2010

สัญญาณอันตราย

สัญญาณอันตราย



เคยยืนยันไว้หลายครั้งว่า ทักษะความสามารถในการต่อสู้ไม่ว่าจะสูงส่งแค่ไหนก็เทียบไม่ได้กับความระแวดระวัง และความเชี่ยวชาญในการอ่านสัญญาณภัย ซึ่งคอยเตือนเราให้ตระหนักถึงภัยอันตรายที่รอเล่นงานเราอยู่ แต่สัญญาณที่ว่านั้นคืออะไร มาลองศึกษากันดู


สัญญาณภัยที่ส่งมามีรูปแบบต่างๆกัน ทั้งรูป รส กลิ่น เสียงและการสัมผัสด้วยผิวกาย ครั้งนี้ขอกล่าวถึงรูปแบบที่ง่ายที่สุดก่อน คือ ภาษาพูด ผมรวบรวมประโยคหรือวลีซึ่งเปรียบเหมือนสัญญาณที่บอกให้เรารู้ว่า ผู้พูดประโยคเหล่านี้มีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงอย่างใดอย่างหนึ่ง


1. “เคลียร์” เช่น “เสี่ยหนุ่มพกปืนไปเคลียร์กับเพื่อนบ้านเรื่องนกร้องหนวกหู ที่สุดชักปืนยิงเป็นศพ”, “โจ๋จอดรถเคลียร์คู่อริเรื่องแย่งแฟนสาว เลยถูกแทงดับ”, “หนุ่มขอเคลียร์สาวบอกเลิก ที่สุดยิงสาวตาย ตัวสาหัส” เราได้พบได้เห็นคำเหล่านี้ในข่าวบ่อยมาก ขอเตือนว่าถ้าหากได้ยินคำนี้ให้ระวังตัวให้จงหนัก ไม่ว่าคุณจะถูกเรียกไปเคลียร์หรือเรียกใครมาเคลียร์ก็ตาม


2. “ฝากไว้ก่อน” เวลาใครสักคนพลาดท่ารู้ตัวว่าไม่มีทางเรียกร้องอะไรได้ แล้วกล่าวคำนี้ทิ้งท้ายก่อนจากไป คู่กรณีของเขาต้องตระหนักว่าไม่ใช่คำอวยพรแน่นอน แต่เป็นสัญญาณเตือนว่านับแต่นี้เขาจะลงใต้ดินแอบเล่นลับหลังรอเวลาเอาคืน


3. “เดี๋ยวเจอกัน” เช่น “โจ๋ชกกันในผับ ฝ่ายน้อยกว่าสู้ไม่ได้ หนีกระเจิงกลับไปก่อน ทิ้งท้าย “เดี๋ยวเจอกัน” ฝ่ายชนะดื่มกินกันต่อจนผับเลิกเดินออกมา พบคู่อริพร้อมพวกนับสิบ ไล่แทงตาย 2 สาหัส 3” เด็กพวกนี้ไม่มีสำนึกระวังภัยเสียเลย ลองคิดดูถ้าคุณมีเรื่องทะเลาะกับใคร แล้วพวกน้อยกว่าต้องเผ่นหนีกล่าวทิ้งท้าย “เดี๋ยวเจอกัน” ถามว่าเขาจะกลับบ้านไปนอนรึ หรือจะกลับไประดมพวกพ้องมารอเอาคืน ใครได้ยินคำนี้แล้วยังนอนใจ กินดื่มรอที่เดิมเท่ากับตั้งอยู่ในความประมาทอย่างร้ายแรง


4. “อย่าอยู่เลย(คุณ)!” หากคนสองคนโต้เถียงกันอย่างรุนแรง แล้วฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอุทานคำนี้ออกมา อีกฝ่ายถ้าเป็นคนมีสัญชาติญาณระวังภัย ต้องรู้ทันทีว่าฝ่ายตรงข้ามตั้งใจจะมีเรื่องอย่างแน่นอน ต้องรีบตั้งรับให้ทันกาล หรือแม้คุณเองไม่ได้ทะเลาะกับใครอยู่ก็ตาม แต่มีใครคำรามคำนี้ให้เข้าหู เขากำลังส่งสัญญาณว่าจะเล่นงานใครสักคน ต้องมองหาคนพูดให้เจอแล้วตั้งรับให้ดี เพราะคนที่เขาจะเล่นงานอาจเป็นคุณก็ได้


5. “ตกลง(คุณ)จะ.....แน่ใช่ไหม” หากคู่เจรจาของคุณกล่าวคำนี้ออกมาแสดงว่าเขาตัดสินใจจะเล่นงานคุณแล้ว แต่ใช้วิธีส่งปุ่มกดระเบิดให้คุณเลือก คำตอบของคุณจะเป็นดังรหัสส่งให้ระเบิดทำงานหรือยกเลิกไป ดังนั้นคุณต้องแน่ใจว่าพร้อมรับสถานกาณ์แล้วหากคำตอบของคุณไม่เป็นที่พอใจของคู่กรณี


6. “แล้วจะทำไม.....ช่วยไม่ได้” สองวลีนี้เป็นเหมือนสลักระเบิดที่ถูกดึงออกนั้นเอง เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ยึดเหนี่ยวคุณกับคู่กรณี หากคุณเป็นคนกล่าวก็ขอให้รู้ว่าคุณเพิ่งส่งสัญญาณให้อีกฝ่ายเล่นงานคุณได้เลย หรือถ้าคู่กรณีของคุณเป็นคนกล่าวก็แสดงว่าการเจรจาโดยสันติวิธีได้จบลงแล้ว หากคุณยังเซ้าซี้เขาอาจเล่นงานคุณได้ทุกเมื่อ เพราะเขาได้ประกาศสงครามไปแล้ว


วลีเหล่านี้เป็นเหมือนสัญญาณภัยที่ดังขึ้นก่อนมหันตภัยจะโถมมาหากคุณอยู่แถวนั้น หรืออยู่ใกล้ๆกับผู้ที่กล่าวคำเหล่านี้ ต้องตื่นตัวทันที ตั้งรับไว้แต่ไม่ได้ใช้ยังดีกว่าโดนเล่นงานโดยไม่ได้ตั้งตัว

เรียบเรียงโดย Snap shot

Friday, June 4, 2010

Defanging the Snake

Defanging the Snake



ในการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยมีดนั้นวิธีหนึ่งที่นิยมและได้ผลดี คือ Defanging the Snake หรือ การถอนเขี้ยวงู ซึ่งเป็นการโจมตีไปที่แขนข้างที่ถืออาวุธของคู่ต่อสู้ เพื่อให้แขนข้างนั้นไม่สามารถใช้งานหรือถืออาวุธต่อไปได้ ในกรณีที่คู่ต่อสู้ไม่ได้ถืออาวุธการกระทำอย่างเดียวกันนี้ เรียกว่า Limb destruction หรือ การทำลายแขน


Defanging the snake เริ่มต้นในศิลปะการต่อสู้ด้วยมีดในอินโดนีเซียและแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น Silat, Filipino martial arts เป็นต้น แล้วแพร่กระจายไปยังตะวันตก โดยบางครั้งถูกนำไปใช้ในความหมายที่กว้างขึ้น เช่น ใช้ในการเล่นงานแขน นิ้วหรือมือของคู่ต่อสู้ข้างที่ถืออาวุธอื่นๆ เช่น ไม้สั้น (Stick) กระบองสั้น (Baton) เป็นต้น


มีดที่อยู่ในมือของคนร้ายเปรียบเสมือนเขี้ยวของงูพิษ ในการโจมตีด้วยมีดนั้นไม่ว่าจะเป็นการฟันหรือแทง คู่ต่อสู้จะพุ่งมีดเข้าหาเราอย่างรวดเร็วราวกับงูฉก การ Defang the snake ทำโดยการใช้มีดในมือเราปาดฟันไปที่ท้องแขนด้านในต่ำกว่าข้อศอกของคู่ต่อสู้เพื่อตัดเส้นเอน กล้ามเนื้อหรือเส้นประสาท ซึ่งจะทำให้คนร้ายไม่สามารถกำอาวุธต่อไปได้ ส่วนใหญ่แล้วอาวุธจะหลุดจากมือไปด้วย


สามารถนำหลักการนี้มาปรับใช้กับคนร้ายที่ถืออาวุธอื่นๆได้ โดยเราต้องให้ความสนใจกับอาวุธเหล่านั้นอย่างมาก มือหรือแขนข้างที่ถืออาวุธเป็นเป้าหมายหลักในการป้องกันและโจมตีตอบโต้ของเรา เพื่อให้คนร้ายไม่สามารถใช้อาวุธนั้นมาทำร้ายเราได้ หรือไม่สามารถถืออาวุธต่อไปได้


มือที่ถืออาวุธของคนร้ายนั้นเป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจ การป้องกันตัวนั้นมีหลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการปัดป้อง ถอยหนี หลบหลีก ตอบโต้ วิธี Defanging the snake เป็นวิธีหนึ่งที่ได้ผลดี เพราะเมื่อคนร้ายไม่สามารถถืออาวุธต่อไปก็จะทำให้การต่อสู้สิ้นสุดลงโดยไม่ต้องทำร้ายคู่ต่อสู้จนถึงแก่ชีวิต


ดังนั้นไม่ว่าคนร้ายถืออาวุธอะไรเราก็สามารถนำหลักการ Defanging the snake ไปใช้ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธมีดในการตอบโต้เสมอไป สิ่งของใกล้มือสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อป้องกันตัวได้ หรือแม้แต่มือเปล่าก็สามารถใช้หลักการนี้ได้เช่นกัน


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับมีดขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
 

Samsung LCD televisions