จินตนาการช่วยเพิ่มทักษะ
เคยเขียนไว้ว่า ทักษะอันเกิดจากการฝึกฝนอย่างช่ำชองอาจช่วยให้เรารอดพ้นจากอาชญากรที่คุกคามกระชั้นชิดได้ นำไปสู่การฝึกเทคนิคการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็มีบางสถานการณ์ที่ไม่อาจฝึกให้ชำนาญได้ อย่างเช่น จู่ๆมีคนแปลกหน้าพรวดพราดเข้ามานั่งคู่กับเราในรถยนต์เพราะเราลืมล็อกประตู หรือเรานอนหลับอยู่ในบ้านแต่ต้องสะดุ้งตื่นกลางดึกเพราะได้ยินเสียงคนรื้อค้นของภายในบ้าน หรือแฟนเก่าโทรมานัดไปพบเพื่อสะสางปัญหาส่วนตัว เป็นต้น สถานการณ์เหล่านี้คนร้ายไม่ได้จู่โจมทำร้าย จี้ชิงหรือฉุดรั้งโดยตรง แต่ภัยคุกคามเข้ามาใกล้ในลักษณะต่างๆ ถ้าเราไม่มีวิธีรับมือที่เหมาะสม ก็อาจนำมาสู่ความสูญเสียหรือภัยร้ายแรงถึงชีวิตได้ ในกรณีเช่นนี้ตัวช่วยที่เหมาะสมคือ "จินตนาการ"
ในประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนาเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติขึ้นครั้งใด ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว พายุเข้าหรือคลื่นยักษ์ โคลนถล่ม ก็มักปรากฎตัวเลขผู้เสียชีวิตหรือสูญหายนับพันนับหมื่นอย่างน่าเวทนา สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความสูญเสียมากมายเช่นนี้ คือ “ความไม่รู้” ไม่รู้ว่าจะเกิดภัยธรรมชาติ ไม่รู้ว่าเมื่อเกิดแล้วจะหลีกเลี่ยงอย่างไร หรือจะเคลื่อยย้ายอพยพหนีไปทางไหนให้ปลอดภัยจนต้องสังเวยชีวิตกันเป็นจำนวนมาก
ต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วเช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาหรือหลายประเทศในยุโรป ต่างก็มีแผนรับมือภัยพิบัติเหล่านี้อย่างครบถ้วน เริ่มจากแผนเตือนภัยล่วงหน้า แผนรับมือเบื้องต้น ถ้าภัยพิบัตินั้นรุนแรงเกินจะต้านทานก็มีแผนอพยพเป็นขั้นเป็นตอน รวมทั้งแผนกู้ภัยและฟื้นฟูเมื่อภัยธรรมชาติผ่านไปแล้ว ในพื้นที่เสี่ยงตลอดทางจะมีป้ายบอกทางชี้ไปยังทิศทางที่ปลอดภัย บริเวณเสี่ยงภัยสูงจะมีป้ายเตือนไว้อย่างชัดเจน ในอาคารบ้านเรือนจะมีแนวเส้นชี้ทางออกที่ใกล้สุด เส้นเหล่านี้เรืองแสงได้ในที่มืดเผื่อกรณีไฟดับมองไม่เห็น เป็นต้น แผนเหล่านี้ได้รับการทบทวน เผยแพร่และซักซ้อมเป็นประจำ ทำให้ประชาชนในพื้นที่สามารถพาตัวเองและครอบครัวหลีกเลี่ยงจากอันตรายเฉพาะหน้าได้อย่างปลอดภัย ผลคือ สถิติผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติของประเทศเหล่านี้ต่ำอย่างน่าพิศวง อันเนื่องจากมีแผนรับมือไว้ล่วงหน้านั้นเอง
ทุกท่านที่กำลังอ่านบทความนี้เคยฉุกคิดหรือไม่ เวลาที่เราอ่านข่าว เห็นภาพเหยื่อเคราะห์ร้าย และรับรู้ถึงพฤติกรรมการคุกคามของคนร้ายหลายๆรูปแบบดังตัวอย่างที่เสนอไว้ในช่วงต้น เคยถามตัวเองไหมว่า “ถ้าฉันประสบเหตุการณ์เช่นนั้น ฉันจะรับมืออย่างไร” สมมุติว่าคุณอ่านข่าวพบว่า “สาวออฟฟิตขับรถกลางดึก แล้วมีคนขี่มอร์เตอร์ไซด์มาทำมือทำไม้หลอกว่ายางรถของคุณแบน แล้วถือโอกาสจี้ชิงทรัพย์” คุณตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ถ้าฉันเป็นสาวออฟฟิตคนนั้น ฉันจะรับมืออย่างไร” แล้วใช้จินตนาการคิดต่อ “ฉันจะไม่จอดรถแน่ เดี๋ยวถูกจี้อย่างในข่าว จะขับรถไปอย่างนั้นแหละ ยางรถยนต์ราคาไม่กี่พันบาท จะแบนก็ให้มันแบนไป ฉันจะขับไปจอดในปั๊มใกล้ที่สุดซึ่งมีคนหลายคนอยู่ในนั้นไม่เปลี่ยว แล้วให้ช่างช่วยปะยางให้ แต่ถ้าในปั๊มไม่มีร้านปะยางฉันคงต้องจ้างเด็กปั๊มช่วยเปลี่ยนยางให้” แล้วอาจคิดต่อ “เอ..... ยางอะไหล่ยังมีลมอยู่หรือเปล่า เดี๋ยวต้องตรวจดูเสียหน่อย แล้วต้องดูเครื่องมือถอดล้อกับแม่แรงยกรถด้วย ไม่รู้มันยังอยู่ที่เดิมหรือไม่” แน่ล่ะความคิดของคุณจะไหลไปเรื่อยๆ จินตนาการไปต่างๆนาๆเพราะจะมีคำว่า “ถ้า.....” อีกมาก แล้วคุณก็คิดหาทางแก้ปัญหา (ในจินตนาการ) ไปทีละข้อ ผิดบ้างถูกบ้าง เป็นไปได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ทุกๆแผนที่คุณคิดออกมา ก็จะเป็นเหมือนทักษะที่สะสมไว้เป็นแนวทางแก้ไขสถานการณ์ถูกคุกคามในรูปแบบต่างๆ พร้อมทั้งเตือนคุณให้ตรวจสอบเตรียมอุปกรณ์ต่างๆที่จำเป็นให้พร้อมล่วงหน้า
บรรดามืออาชีพในสาขาวิชาการต่างๆล้วนแต่เอาประสพการณ์ ความผิดพลาดในอดีตมาเป็นข้อมูลในการสร้างจินตนาการ คิดแก้ปัญหาล่วงหน้าก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้นหรือป้องกันไม่ให้ปัญหาเดิมๆเกิดขึ้นมาอีก เราจึงมียางอะไหล่พร้อมอุปกรณ์เปลี่ยนยางติดประจำรถทุกคัน มีบันไดหนีไฟอยู่ในอาคารทุกหลัง มีเสื้อชูชีพติดประจำเรือทุกลำ ฯลฯ เราทุกคนอยากเป็นมืออาชีพในการดำรงชีวิตก็ต้องใช้จินตนาการเพิ่มทักษะในการดำเนินชีวิตให้ปลอดภัย อย่ารอให้ปัญหามาจ่อตรงหน้าแล้วค่อยคิดแก้ปัญหากระทันหัน เพราะในชีวิตจริงนั้นพลาดแล้วพลาดเลย คุณไม่สามาถรกดปุ่ม START เล่นใหม่ได้เหมือนเกมส์คอมพิวเตอร์
เรียบเรียงโดย Snap shot
No comments:
Post a Comment