Saturday, May 1, 2010

กรมธรรม์กันภัย

กรมธรรม์กันภัย

ผมเขียนย้ำไว้ในบทความหลายชิ้นว่า วิธีเดียวที่จะมั่นใจในความปลอดภัยจากอาชญกรรมความรุนแรง เมื่อยามที่เราต้องเดินทางออกนอกบ้าน ก็คือ ต้องหลีกเลี่ยงเงื่อนไขที่จะเผชิญหน้ากับภัยคุกคามตั้งแต่แรก ระมัดระวังไม่ให้ปัจจัยเสี่ยงทั้ง 3 มีโอกาสมารวมกันได้ ปัจจัยเสี่ยงทั้งสาม คือ



1. คน...ใช่ คุณต้องไม่ประมาท หรือหมกมุ่นกับการใช้โทรศัพท์ฟังเพลงจากอุปกรณ์เสียงไฮเทคอย่างเพลิดเพลินในขณะเดินทาง จนคนร้ายเล็งเห็นและเลือกคุณเป็นเหยื่อ


2. ทำเลเอื้อ คุณควรหลีกเลี่ยงสถานที่อโคจรทั้งหลายรวมทั้งที่เปลี่ยวร้างห่างไกลผู้คน หรือที่ๆเราไม่คุ้นเคย


3. เวลาเหมาะ คือ เวลาที่คนร้ายชอบออกหาเหยื่อ ซึ่งมักเป็นเวลายามค่ำคืนจนถึงรุ่งสาง หรือเวลาดินฟ้าอากาศไม่ปกติ


ต้องเตือนตัวเองเสมอว่า เราอาจเป็นเหยื่ออาชญกรรมได้เสมอ ไม่มีข้อยกเว้นหรือมองในแง่ดีว่า “เราคงไม่โชคร้ายวันนี้หรอกน่า” จำไว้ว่า ผู้เคราะห์ร้ายชายหญิง ที่มีชื่อมีรูปอยู่หน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์วันนี้ เมื่อวานก็คิดเช่นนี้เหมือนกัน


คราวนี้ผมขอเสนอแนวทางปฏิบัติง่ายๆซึ่งเปรียบเหมือน กรมธรรม์กันภัย สำหรับคุณๆทั้งหลาย ทั้งชายและหญิงที่ต้องเดินทางโดยบริการแท็กซี่ (ซึ่งผมถือเป็นทำเลที่อันตรายแห่งหนึ่ง ในยามค่ำคืนหรือกลางวันก็ตาม โดยคุณปฏิบัติง่ายๆ จ่ายขั้นต่ำไม่เกิน 3 บาทต่อเที่ยว ก็จะช่วยลดโอกาสเกิดอันตรายได้มาก) มีขั้นตอนดังนี้


1. ทันทีที่คุณเรียกแท็กซี่และบอกจุดหมายปลายทางแล้ว คุณต้องขึ้นนั่งเบาะหลังโดยเลือกที่ด้านขวาหลังคนขับพอดี เป็นตำแหน่งที่คนขับไม่สะดวกที่จะทำอันตรายคุณด้วยอาวุธ คุณสามารถคุมเชิงเขาได้อย่างปลอดภัย


2. ทันทีที่รถเริ่มเคลื่อน คุณต้องหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายรูปป้ายแสดงตัวคนขับที่ตั้งอยู่ด้านซ้ายของคอนโซลหน้ารถ บนป้ายจะมีรูปถ่ายของคนขับพร้อมเลขรหัสประจำตัวและทะเบียนรถอย่างชัดเจน หรืออย่างน้อยก็ถ่ายป้ายทะเบียนรถซึ่งมักติดอยู่ที่ประตูรถ แล้วกดส่งไปยัง พ่อ แม่ แฟนหรือเพื่อนสนิทในคราวเดียวกัน (คุณอาจนัดแนะและบอกไว้ล่วงหน้า เขาจะได้ไม่แปลกใจ) ถ้าคนขับสงสัยให้บอกเขาว่า “ส่ง กท. รถไปให้เพื่อนเดี๋ยวเขาจะมารอที่ริมถนน” ถ้าคนขับบริสุทธิ์ใจ เขาจะเฉิยๆ แต่ถ้าเขาแสดงความโกรธเคืองหรือพร่ำบ่นเกินพอดี คุณก็บอกเขาให้จอดรถแล้วเรียกคันใหม่ดีกว่า คุณไม่ต้องเกรงใจหรือห่วงความรู้สึกของคนขับรถแท็กซี่หรอก ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคุณต่างหากที่ควรต้องกังวล


3. ระหว่างเดินทาง คอยสังเกตุให้ดี ถ้าคนขับเอามือมาป้วนเปี้ยนแถวช่องแอร์ โดยอ้างว่าแอร์ไม่เย็น หรือหยิบจับผ้าหรือแอร์สเปรมาฉีดที่ช่องแอร์หรือแม้แต่ได้กลิ่นผิดปกติใดๆ ให้ระวังตื่นตัวทันที ถ้ารู้สึกง่วง มึนหัวหรือเบลอๆให้บอกคนขับรถจอดรถทันที (ใช้เสียงที่เฉียบขาดหรือโวยวายดังๆว่าคุณเห็นเพื่อนยืนอยู่ที่ทางเท้า เลยนึกได้ว่าต้องจอดครับ) ถ้าคนขับทำท่าไม่ยอมจอด ให้คุณเปิดประตูด้านที่คุณนั่งออกไปเลย เปิดค้างไว้อย่างนั้น เพื่อให้ลมเย็นข้างนอกเข้ามาเรียกสติคุณ คนขับกลัวประตูพัง จะได้ไม่กล้าขัดขืน เขาต้องจอดรถแน่


4. ถ้าคนขับชวนคุย อย่าพูดคุยมากนัก เขาอาจพยายามหาข้อมูลเพื่อประเมินตัวเราว่าเราเหมาะจะเป็น “เหยื่อ” หรือไม่ พูดให้น้อยที่สุด หรือแกล้งโทรหาเพื่อน บอกเขาว่าเราอยู่ตรงไหน (นัดแนะกับเพื่อนหรือแฟนไว้ก่อนก็ได้) อาจบอกเลขทะเบียนรถและแกล้งนัดให้มารับที่จุดนัดหมาย ถ้าคนขับรู้ว่ามีพยานรู้เห็นว่าเราอยู่บนรถ กท. อะไร เขาย่อมไม่กล้าคิดร้ายกับคุณ


5. ทันทีที่คุณรู้สึกว่า รถวิ่งออกนอกเส้นทางหรือเลี้ยวเข้าซอยโดยไม่จำเป็น (แม้เขาจะบอกว่าเป็นทางลัดเพื่อช่วยเราประหยัดเงิน) ให้บอกเขาให้หยุดรถทันที ต้องสั่ง! ด้วยน้ำเสียงเฉียบขาดมั่นใจ ให้ไปตามทางที่คุณคิดว่าถูกต้องทันที ถ้าคุณไม่รู้เส้นทางก็สั่งให้เขาหยุดแล้วลงจากรถทันที อย่ากลัวเสียเวลา เพราะอย่างน้อยคุณก็มีเวลาของชีวิตพอที่จะเสีย (ถ้าคนขับไม่ยอมจอดให้ทำเหมือนข้อ 3)


ตำรวจหรือกลุ่มภัยผู้หญิง มักแนะนำให้ทำขั้นตอนเหล่านี้เมื่อคนขับมีพิรุธน่าสงสัย แต่ผมขอยืนยันว่า ข้อ 1 และ 2 ต้อง! ทำทันทีเมื่อขึ้นรถ ไม่ว่าคุณจะเป็นหญิงหรือชาย ไปคนเดียวหรือหลายคน กลางวันหรือกลางคืน การรอให้คนขับมีพิรุธก่อนอาจช้าเกินไป การแสดงให้คนร้ายเห็นว่า คุณไม่ได้โดดเดี่ยวมีพยานรู้ว่าคุณขึ้นรถไปกับเขาจะเป็นยันต์กันภัยให้คุณเป็นอย่างดี คุณเองก็ไม่ต้องเกรงอกเกรงใจจนเกินเหตุ จำไว้ว่า คนบริสุทธิ์ใจ เขาไม่โกรธหรอกถ้าเราจะป้องกันตัวเราเอง


วิธีเหล่านี้สามารถนำมาปรับใช้กับการใช้บริการรถตุ๊กๆ รถมอร์เตอร์ไซด์รับจ้างได้ด้วย (อย่างน้อยก็ถ่ายรูปป้ายทะเบียนรถแล้วส่งให้คนที่รู้จัก)


เรียบเรียงโดย Snap shot


ขอขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ “ผู้หญิงสู้คน” ของ คุณ อริยา จินตพานิชการ

No comments:

Post a Comment