Wednesday, December 23, 2009

Palm Heel Strike

Palm Heel Strike

การจู่โจมลักษณะหนึ่งที่มีประสิทธิภาพมากในเชิงการป้องกันตัว คือ การใช้ส้นมือกระแทกเป้าหมาย (Palm Heal Strike)

โดยปกติการใช้หมัดนั้นเป็นอาวุธที่มีประโยชน์และมีประสิทธิภาพมาก แต่ผู้ที่จะใช้หมัดได้ดีก็จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนมากและนานพอสมควรกว่าจะชำนาญ หากคนทั่วไปซึ่งไม่ค่อยได้ใช้หมัดนอกจากจะใช้ได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพแล้วยังอาจเกิดการบาดเจ็บบริเวณมือได้ง่ายด้วย (ผู้ที่ฝึกการใช้หมัดเป็นประจำ ผิวหนังและเส้นเอ็นบริเวณข้อนิ้วมือข้อแรกซึ่งเป็นบริเวณที่กระทบเป้าหมายจะมีการเปลี่ยนแปลงหนาตัวขึ้นเพื่อรับแรงกระแทก อีกทั้งกระดูกนิ้วมือมีการหนาตัวขึ้นเพื่อเสริมความแข็งแรงไม่หักง่าย แต่กับคนทั่วไปซึ่งไม่ค่อยได้ใช้หมัดจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เมื่อใช้หมัดจึงอาจเกิดการบาดเจ็บที่มือได้ เช่น ผิวหนังฉีกขาด กระดูกมือหรือนิ้วหัก เป็นต้น)

การใช้ส้นมือกระแทกเป้าหมายแทนการชกด้วยหมัดจึงเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่ง เพราะเรียนรู้ได้เร็วไม่ต้องได้รับการฝึกมากนักก็สามารถใช้ได้ดี โอกาสบาดเจ็บจากการใช้ส้นมือกระแทกนั้นน้อยกว่าหมัด มีประสิทธิภาพในระดับที่ยอมรับได้ในการป้องกันตัว สามารถใช้ได้ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และ เด็ก

ตำแหน่งที่สามารถใช้ส้นมือโจมตีได้ดี อาทิเช่น คาง ดั้งจมูก ขากรรไกร หู กลางหน้าอก อีกทั้งจู่โจมจากด้านหน้าหรือด้านข้างก็ได้

การโจมตีควรต่อเนื่องจนกว่าภัยคุกคามจะไม่สามารถตอบโต้หรือไล่ตามเราได้อีก และทำให้เรามีเวลามากพอที่จะหนีออกมาจากสถานการณ์ร้ายนั้นได้

ในสถานการณ์วิกฤตินั้นเราจำเป็นต้องใช้ทักษะทุกอย่างเพื่อนำพาตัวเราให้รอดพ้นออกมาจากภยันตรายนั้นๆ การป้องกันการโจมตีจากคนร้ายร่วมกับการตอบโต้กลับเป็นแนวทางหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการเอาตัวรอด ไม่ว่าการใช้หมัดหรือส้นมือก็เป็นสิ่งที่ควรเรียนรู้ไว้ วันหนึ่งมันอาจช่วยเราให้รอดพ้นจากภัยคุกคามก็ได้

สุดท้ายนี้ขอให้ตั้ง “สติ” ทุกครั้งเมื่อเผชิญเหตุ และขอให้ “พลังจงอยู่กับท่าน”

เรียบเรียงโดย Batman

Friday, December 11, 2009

Prey, Predator or Sheepdog?


Prey, Predator or Sheepdog?

คุณคือ เหยื่ออย่างแกะ (Sheep) เป็นผู้ล่าอย่างหมาป่า (Wolf) หรือ เป็นสุนัขเลี้ยงแกะ (Sheepdog) ? เป็นคำถามที่นาย Dave Grossman ถามผู้อ่านในหนังสือของเขาชื่อ “On killing” โดยส่วนใหญ่แล้วผู้อ่านซึ่งเป็นผู้หญิงจะตอบว่าเป็น “แกะ”

ไม่ต้องอายที่จะเป็นแกะเพราะแกะนั้นมีคุณค่าในสังคม มีนิสัยรักสันติจะทำร้ายแกะตัวอื่นในกรณีอุบัติเหตุเท่านั้น มักใช้กลไกป้องกันแบบปฏิเสธ เช่น ปฏิเสธว่ามีนักล่าที่ใช้ความรุนแรงอยู่ในสังคมซึ่งก็คือ หมาป่านั้นเอง

ในสังคมมนุษย์นั้นมีประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ที่จัดอยู่ในกลุ่มนักล่าหรือหมาป่า ซึ่งจะก่ออาชญากรรมโดยมองหาเหยื่อเพื่อให้ได้สิ่งที่เขาต้องการโดยวิธีการที่รุนแรง เช่น ชกต่อย เอาไม้ฟาด ใช้มีด ใช้ปืน ข่มขืน ขโมย หรือแม้แต่ฆาตกรรม

พวกที่อยู่ในกลุ่มหมาป่าเหล่านี้จะชอบใช้ความรุนแรง เข้าใจและใช้มันเพื่อให้ได้สิ่งที่เขาต้องการโดยไม่สนใจว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรต่อการกระทำของเขา และไม่ลังเลที่จะทำร้าย ทำให้คุณพิการหรือแม้แต่ฆ่าคุณ ศัตรูอย่างเดียวของหมาป่าก็คือ สุนัขเลี้ยงแกะ

สุนัขเลี้ยงแกะนั้นมีความก้าวร้าวอยู่ภายใน พวกมันจะตอบโต้ความรุนแรงด้วยความรุนแรงเพื่อปกป้องตนเองและสังคมของมัน โดยปกติมันจะไม่ค่อยใช้กำลังกับหมาป่าแต่มันจะไม่ใช้กำลังเลยกับพวกแกะ

คนที่อยู่ในกลุ่มสุนัขเลี้ยงแกะมักเป็นทหาร เจ้าหน้าที่รักษากฎหมาย หรือผู้ที่อยู่ในแวดวงการต่อสู้ป้องกันตัว และคนกลุ่มนี้มักทำให้พวกแกะรู้สึกไม่ค่อยสบายใจเพราะชอบเตือนแกะว่ามีหมาป่าอยู่ข้างนอกนั้น สุนัขเลี้ยงแกะมักถูกหัวเราะเยอะจากพวกแกะอย่างที่ Grossman เขียนไว้ว่า “พวกมันมีเขี้ยวเหมือนหมาป่า มีขนเหมือนหมาป่า แต่กลับชอบหาโอกาสที่จะโจมตีหมาป่าซึ่งเป็นสิ่งที่พวกแกะกลัว”

ถ้าคุณเลือกที่จะเป็น “แกะ” นั้นก็คือสิ่งที่คุณเลือก เพียงแต่จำไว้ว่าตัวคุณเองหรือคนที่คุณรักอาจถูกทำร้ายหรือเสียชีวิตได้หากไม่มีสุนัขเลี้ยงแกะเข้ามาช่วยรับมือกับหมาป่า ควรรู้ไว้ว่ามันไม่จำเป็นจะต้องเป็นเช่นนั้นตลอดไป ประชาชนธรรมดาอาจเปลี่ยนมาเป็นสุนัขเลี้ยงแกะได้เมื่อจำเป็น อย่างเช่นเหตุการณ์จี้เครื่องบิน 9/11 ของสายการบิน American Airlines ที่ประชาชนลุกขึ้นต่อต้านผู้ก่อการร้ายบนเครื่องบิน

ถ้าคุณต้องการเรียนรู้ว่าจะกลายเป็นสุนัขเลี้ยงแกะและสามารถป้องกันตัวเองจากหมาป่าได้อย่างไร ก็ควรต้องหาความรู้และเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนทักษะในการเอาตัวรอดจากสถานการณ์วิกฤติ

TAS Defensive Course, Easy Defense Club, Thai self-defense เป็นทางเลือกหนึ่งในการเพิ่มพูนความรู้และทักษะที่จำเป็นในการเอาตัวรอดจากภัยคุกคามในสังคม

สุดท้ายนี้ขอให้ตั้ง “สติ” ทุกครั้งเมื่อเผชิญเหตุ และขอให้ “พลังจงอยู่กับท่าน”



เรียบเรียงโดย Batman

อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจาก Prey, Predator or Sheepdog? ของ women’s self-defense institute

Tuesday, December 1, 2009

4 weak points











4 weak points


การใช้กำลังเข้าแก้ไขสถานการณ์วิกฤตินั้นควรเป็นทางเลือกสุดท้าย หากเจรจาได้ควรเจรจา หากหนีได้ควรหนี เลี่ยงได้ควรเลี่ยง แต่หากจำเป็นจริงๆก็ห้ามลังเลที่จะทำ ถ้ามีสิ่งของใกล้ตัวที่สามารถใช้เป็นอาวุธได้ก็รีบใช้ พยายามทำให้เราเป็นฝ่ายได้เปรียบมากที่สุด

ในหลายกรณีเพียงแค่เราใช้เสียงดังและท่าทางที่จริงจังแสดงการห้ามปรามก็อาจหยุดภัยคุกคามได้ หรือเพียงแค่แก้ไขจากการถูกกอด ถูกฉุดแล้วรีบหนีก็ใช้ได้แล้ว แต่หากไม่ได้ผลการใช้กำลังตอบโต้ก็อาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราควรต้องรู้ว่าจะใช้กำลังอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดด้วยวิธีการที่ง่ายที่สุด แม้ผู้หญิงตัวเล็กๆก็สามารถล้มผู้ชายตัวโตได้

ร่างกายของมนุษย์โดยเฉพาะผู้ชายมีจุดอ่อนหลายแห่ง ไม่ว่าคนนั้นจะมีร่างกายใหญ่โตเพียงใด ไม่ว่าจะมีกล้ามใหญ่แค่ไหน หากเรารู้วิธีโจมตีในตำแหน่งที่ถูกต้องก็สามารถหยุดคนร้ายได้เช่นกัน การป้องกันตัวจะอาศัยการเรียนรู้จุดอ่อนของร่างกายและใช้ประโยชน์จากมันในการนำพาตัวเองให้รอดพ้นจากภัยคุกคาม วิธีการป้องกันตัวหลายอย่างนำมาจากหรือดัดแปลงมาจากศิลปะการต่อสู้หลายๆแขนงเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่หลากหลาย

การป้องกันตัวโดยใช้กำลังมีหลักใหญ่ๆอยู่สองอย่าง คือ การแก้ไขเหตุ เช่น วิธีการแก้การถูกกอด ถูกจับมือถือแขน ถูกรัดคอ ถูกมีดจี้ ถูกปืนจี้ ถูกตีด้วยไม้ ถูกกดลงกับพื้น เป็นต้น รวมถึงการปัดป้องการทำร้ายจากคนร้าย เช่น การปัดหมัด การรับการถูกเตะ เป็นต้น อีกประการคือ การตอบโต้ ซึ่งรวมไปถึงการใช้กำลังทำร้ายหรือการควบคุมคนร้าย การจะใช้กำลังตอบโต้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ในภัยคุกคามหนึ่งๆนั้นอาจมีวิธีแก้หลายวิธีทั้งที่ใช้และไม่ใช้กำลังตอบโต้ เราควรเรียนรู้และฝึกฝนหลายๆอย่างเพื่อสามารถเลือกนำมาใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้

ร่างกายของเรามีจุดอ่อนที่สำคัญอยู่ 4 จุดซึ่งควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ การโจมตีไปยังตำแหน่งเหล่านี้ด้วยวิธีที่ถูกต้องจะสามารถหยุดคนร้ายได้ เปิดโอกาสให้เราหนี (เมื่อมีโอกาสให้รีบหนีทันที อย่าพยายามทำร้ายจนกว่าคนร้ายจะลุกไม่ขึ้น หรือพยายามควบคุมคนร้ายให้อยู่หมัดเพราะจะเพิ่มความเสี่ยงให้กับเราเองด้วย ยกเว้นว่าไม่อาจเลี่ยงได้จริงๆ)

- ดวงตา (Eyes) เป็นอวัยวะที่มีการปกป้องน้อยมาก เราสามารถใช้นิ้วจิ่มตาเพื่อให้พร่ามัวและเจ็บปวด หากคนร้ายหลับตาก็ยังสามารถใช้นิ้วกดไปที่ลูกตาอย่างแรงเพื่อให้เกิดความเจ็บปวดได้ เมื่อคนร้ายใช้ดวงตาไม่ได้ในขณะนั้นก็ลดโอกาสและประสิทธิภาพที่จะทำร้ายคนอื่นลงไปได้มาก จึงควรเรียนรู้วิธีในการโจมตีดวงตาอย่างมีประสิทธิภาพ

- หู (Ears) การใช้ฝ่ามือตบไปที่หูทั้งสองข้างหรือข้างใดข้างหนึ่งอย่างแรง ซึ่งแรงดันของอากาศจะถูกอัดตรงไปที่แก้วหูทำให้เกิดการฉีกขาดได้ สามารถสร้างความเจ็บปวดอย่างมากอีกทั้งการทรงตัวของคนร้ายอาจเสียไปชั่วขณะเปิดโอกาสให้เราหนี

- หลอดลม คอหอย หรือ ลูกกระเดือก (Trachea or Adam’s apple) เป็นตำแหน่งสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่ง่ายแก่การโจมตี หากคนร้ายถูกกระแทกอย่างแรงบริเวณเหล่านี้จะทำให้การหายใจติดขัดและเจ็บปวดรุนแรงหมดโอกาสที่จะทำร้ายคนอื่นต่อไปได้

- อัณฑะ (Testis) ในผู้ชายอัณฑะถือเป็นจุดอ่อนที่สำคัญมากตำแหน่งหนึ่ง การเตะผ่าหมาก (Kick to the groin) การกระแทกเข่าหรือกำปั่นไปที่ตำแหน่งดังกล่าว จะสามารถสร้างความเจ็บปวดรุนแรงให้กับคนร้ายได้จนไม่สามารถทำร้ายหรือไล่ติดตามเหยื่อต่อไปได้

ทั้งสี่ตำแหน่งนี้ผู้ที่เรียนการป้องกันตัวควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก เพราะเป็นจุดที่ง่ายแก่การโจมตีและมีประสิทธิภาพในการหยุดยั้งคนร้าย

มีวิธีในการโจมตีตำแหน่งดังกล่าวหลายวิธี จงเรียนรู้และฝึกฝน (ภายใต้การดูแลของครูฝึกและมีอุปกรณ์ป้องกันการบาดเจ็บจากการฝึกซ้อม) นอกจากสี่จุดดังกล่าวแล้วยังมีอีกหลายตำแหน่งที่สามารถโจมตีได้ โดยอาศัยสรีรวิทยาของมนุษย์เพื่อสร้างความได้เปรียบในการป้องกันตัว

พึงระลึกไว้ด้วยว่าการใช้กำลังตอบโต้นั้นอาจทำให้คนร้ายบาดเจ็บอย่างรุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้ เราควรมองเห็นคุณค่าในตัวเราเองก่อนว่ามีค่ามากกว่าคนร้าย และเราควรต้องปกป้องตัวเองไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม

จงจำไว้ว่าการป้องกันตัวในสถานการณ์จริงนั้น “ไม่ใช่กีฬา” ไม่มี “กรรมการ” มาคอยห้าม ไม่มีคำว่า “ผิดกติกา” เราต้อง “ทำทุกอย่าง” เพื่อให้รอดพ้นจากภัยคุกคาม

สุดท้ายนี้ขอให้ตั้ง “สติ” ทุกครั้งเมื่อเผชิญเหตุ และขอให้ “พลังจงอยู่กับท่าน”

เรียบเรียงโดย Batman

Wednesday, November 25, 2009

Women’s self-defense in sexual assault




Women’s self-defense in sexual assault


ในปี พ.ศ. 2549 ไทยติดอยู่ในกลุ่ม 68 ประเทศ (จาก 189 ประเทศที่มีการสำรวจ) ที่มีสถิติคดีข่มขืนเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยพบคดีที่เกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย และเพศ อาทิ ทำร้ายร่างกาย ข่มขืนฆ่ากันตาย สูงถึง 33,669 คดี จำนวนคดีข่มขืนที่เพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นจิตใจของคนในสังคม ที่ไม่รับรู้ความทุกข์ของผู้อื่น

รายงานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติล่าสุดพบว่ามีคดีข่มขืนในครึ่งแรกปี พ.ศ. 2552 ถึง 4,644 คดี ซึ่งคดีเหล่านี้ผู้เสียหายได้เข้าแจ้งความแต่เชื่อว่ายังมีอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่กล้าเข้าแจ้งความ สำหรับการเกิดเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ 12% ของคดีทั้งหมดและคดีที่ขึ้นสู่ศาลเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า เมื่อเทียบกับ10 ปีที่แล้ว หรือเฉลี่ยมีผู้หญิงที่ถูกข่มขืนและแจ้งความวันละ 12 ราย แต่มีผู้ถูกข่มขืนเพียง 5% เท่านั้นที่ไปแจ้งความ ขณะที่สถานการณ์และรูปแบบการข่มขืนได้เปลี่ยนไปจากอดีตโดยผู้กระทำผิดไม่ใช่คนแปลกหน้าเพราะจากสถิติพบว่า 80% ของผู้กระทำผิดเป็นคนที่เหยื่อรู้จักหรือคนที่ไว้วางใจ เช่น คนในครอบครัว คู่รัก เพื่อน ครู นายจ้าง ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้ประกอบอาชีพหลากหลายและเป็นผู้ที่มีการศึกษา นอกจากนี้พบว่าเหยื่อการข่มขืนไม่ใช่เฉพาะหญิงสาวเท่านั้น แต่มีอายุตั้งแต่ 2-80 ปี และเหยื่อที่เป็นเด็กชายมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นด้วย

ในอเมริกามีการศึกษาพบว่า 84 เปอร์เซ็นต์ของเหยื่อรู้จักกับคนร้ายที่มาข่มขืน มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์เกิดเหตุการณ์ในบ้าน นอกจากนั้นพบว่าเหยื่อจะถูกทำร้ายทางร่างกายมากขึ้นหากร้องไห้ขอร้องหรือพยายามอ้อนวอน ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่หนีรอดมาได้โดยการร้องเสียงดัง และอีกประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่หนีรอดมาได้โดยการต่อสู้ขัดขืนอย่างรวดเร็วและรุนแรง

Laura Ann Kamienski เธอเป็นสายดำดั้งหนึ่งเทควันโด (Tae Kwon Do) และเป็นครูสอนการป้องกันตัวสำหรับผู้หญิง (Women's self-defense instructor) มาหลายปี ทั้งตัวเธอเองและเพื่อนของเธอคนหนึ่งซึ่งเป็นสายดำดั้งสามเทควันโดเคยเข้าสัมมนาเกี่ยวกับการป้องกันตัวครั้งหนึ่ง ซึ่งในการฝึกซ้อมนั้นไม่ว่าเธอหรือเพื่อนของเธอไม่มีใครสามารถหยุดการจู่โจมได้เลย ทำให้เธอเปลี่ยนมุมมองของการฝึกและพยายามหาคำตอบ

เธอรวบรวมข้อมูลและเนื้อหาของหลักสูตรการป้องกันตัวสำหรับผู้หญิงจำนวนมาก พบว่ามีความไม่สอดคล้องกันระหว่างสิ่งที่สอนกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นจากคำบอกเล่าของเหยื่อ

การจะเป็นหลักสูตรป้องกันตัวสำหรับผู้หญิงที่ดีได้นั้นจำเป็นต้องมีปัจจัยหลายประการ เช่น ความรู้เรื่องการโจมตีของคนร้ายในสถานการณ์จริง (Actual attacks) โดยความรุนแรงทางเพศกับความรุนแรงในครอบครัวเป็นภัยคุกคามสำหรับผู้หญิงที่พบบ่อยที่สุด (จากการศึกษาของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ)

สื่อโทรทัศน์และภาพยนตร์มักให้ภาพลักษณ์ของการถูกข่มขืนที่ผิด เช่น คนร้ายมักเป็นชายแปลกหน้า หน้าตาอัปลักษณ์ แต่งตัวสกปรก หยาบกร้าน ย่องเข้ามาจู่โจมเหยื่ออย่างเงียบๆแล้วผลักเข้าป่าข้างทาง เหยื่อมักต่อสู้แบบไม่มีประสิทธิภาพและถูกช่วยด้วยผู้ชายกล้ามใหญ่หน้าตาดี หรือคนร้ายกลับกลายเป็นพระเอกเสียเองในตอนสุดท้าย เป็นต้น ซึ่งในความเป็นจริง 84 เปอร์เซ็นต์ของคนร้ายจะรู้จักเหยื่อ และเหยื่อจำนวนไม่น้อยยังอายุน้อยมาก

ความรุนแรงในครอบครัวก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้หญิงและเด็กมักตกเป็นเหยื่อ ในประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบ แต่ในสหรัฐพบว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นสาเหตุอันดับต้นๆของการบาดเจ็บของผู้หญิงอายุ 15 ถึง 44 ปี (มากกว่าอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนตร์ การจี้ชิงทรัพย์และการตายจากมะเร็งรวมกันเสียอีก)

ดังนั้นการประทุษร้ายทางเพศนั้นจึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากในการเผชิญเหตุ หลักสูตรการป้องกันตัวสำหรับผู้หญิง (ในอเมริกามีหลักสูตรสอนผู้หญิงโดยเฉพาะ) ส่วนใหญ่มักสอนวิธีในการใช้กำลัง (Physical technique) ในการแก้ไขสถานการณ์ แต่เนื่องจากคนร้ายมักรู้จักกับเหยื่อดังนั้นหลักสูตรที่ดีควรสอนการระแวดระวังภัยซึ่งอาจเกิดจากเพื่อนสนิท คนรู้จัก แฟน เพื่อนบ้าน หรือแม้แต่สามีของตนด้วย ควรสอนการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์และสภาพจิตใจของความสัมพันธ์ระหว่างเหยื่อกับคนร้ายซึ่งเป็นคนรู้จัก

ประการที่สอง คือ การส่งเสริมความนับถือตัวเอง (Promotes self-esteem) หลักสูตรที่ดีควรส่งเสริมผู้รับการฝึกให้เห็นถึงคุณค่าและความนับถือตัวเอง เพื่อการป้องกันตัวจำเป็นที่เหยื่อจะต้องเห็นถึงคุณค่าของตนเองมากกว่าคนร้ายและคิดว่าตนเองมีค่ามากพอที่จะปกป้อง

ประการที่สาม คือ หลักสูตรควรส่งเสริมสิ่งที่ผู้หญิงทำได้ดีอยู่แล้วเพื่อการป้องกันตัว นั้นก็คือ การใช้กลยุทธ์ด้านการพูดและการใช้กำลัง (Verbal and physical strategies) เสริมสร้างทักษะในการโน้มน้าว เพิ่มความเชื่อมั่นในการที่จะรับกับสถานการณ์เลวร้ายได้ โดยไม่ใช่มีเพียงแต่การใช้กำลังเท่านั้น

ประการสุดท้าย คือ หลักสูตรที่ดีควรเสริมสร้างบรรยากาศในการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เรียน (Feedback) และการใส่ใจ ให้กำลังใจกัน (Support) เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถเพิ่มความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองและความเชื่อมั่นได้

มีผู้ที่ให้ความช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกข่มขืนได้ให้ความเห็นไว้ว่า จากประสบการณ์ของเขากลยุทธ์ที่ช่วยให้เหยื่อรอดจากการถูกข่มขืนมักประกอบด้วยการพูดจาและการใช้กำลังร่วมกัน

ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชายก็อาจตกเป็นเหยื่อได้เพราะส่วนใหญ่คิดว่า เรื่องเลวร้ายเหล่านี้จะไม่เกิด คงไม่เกิด ไม่น่าจะเกิดกับเรา จึงตั้งอยู่ในความประมาท

หลักสูตรการป้องกันตัวนั้นไม่ควรสอนเฉพาะภัยคุกคามที่เห็นเด่นชัดเท่านั้น เพราะในหลายกรณีคนร้ายไม่ใช่คนแปลกหน้าและพวกเขาพยายามใช้กลอุบายทำให้เหยื่ออยู่ในที่เปลี่ยวเพื่อสะดวกแก่การลงมือ ซึ่งคนร้ายมักมีการพูดจาข่มขู่ บีบบังคับเหยื่อเพื่อให้ทำตามที่เขาต้องการ โดยคำพูดเหล่านี้ถือว่าเป็นความตั้งใจที่อาจจะก่อเหตุ

หลายหลักสูตรสอนอยู่บนพื้นฐานของศิลปะการต่อสู้ (Martial art) ที่ครูผู้ฝึกชำนาญ โดยสอนเฉพาะภัยคุกคามจากคนร้ายแปลกหน้าหรือการทำร้ายกันตามท้องถนนเท่านั้น จึงยังขาดข้อมูลสำคัญในสถานการณ์จริงที่ภัยคุกคามส่วนใหญ่เกิดจากคนใกล้ชิดกับเหยื่อ

ครูสอนศิลปะการต่อสู้ (Martial artists) ส่วนใหญ่มักไม่ได้ทำการศึกษาและหาข้อมูลก่อนออกแบบหลักสูตรการป้องกันตัว พวกเขาจึงสอนวิธีใช้กำลังซึ่งดูง่ายดายและคุ้นเคยสำหรับเขา แต่อาจไม่เหมาะสำหรับผู้หญิงซึ่งมีความกลัวเมื่อเผชิญเหตุการณ์ร้าย ส่วนใหญ่จึงมีหลักสูตรสอนการต่อสู้ (Combative course) มากกว่าเนื่องจากขายได้ดีกว่าการป้องกันตัว การใช้ทักษะและข้อมูลของการเกิดเหตุร้ายร่วมกันเพื่อนำไปสู่หลักสูตรการป้องกันตัวที่เหมาะสำหรับผู้หญิงจึงเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าหลักสูตรเรียนการต่อสู้

ผู้หญิงหลายคนที่สนใจการป้องกันตัวมักเข้าเรียนศิลปะการต่อสู้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมักไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อผู้หญิง การได้ฝึกกับผู้หญิงเท่านั้นอาจดีในแง่ที่สามารถพูดคุยได้ทุกเรื่องแต่การฝึกกับผู้ชายก็อาจช่วยให้คุ้นเคยกับการได้ปะทะกับผู้ชาย เรียนรู้การใช้เสียงดังให้เป็นประโยชน์ เช่น การตะโกนว่า “หยุด! ทำอย่างนั้น ..... เดี๋ยวนี้” เป็นการบอกว่าเราไม่กลัวและอาจตอบโต้กลับ

หลักสูตรการป้องกันตัวที่ดีจึงควรประกอบด้วยการเสริมสร้างความพร้อมในการรับสถานการณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ อาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงในการฝึกอบรมและฝึกฝนด้วยความปลอดภัย เรียนรู้วิธีเอาตัวรอดจากสถานการณ์วิกฤติโดยใช้สมองมากกว่ากำลัง

สุดท้ายนี้ขอให้ตั้ง “สติ” ทุกครั้งเมื่อเผชิญเหตุ และขอให้ “พลังจงอยู่กับท่าน”

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจาก หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 ต.ค. - 1 พ.ย. 2552, หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, บทความเรื่อง Women's Self-defense ของ Laura Ann Kamienski

Tuesday, November 17, 2009

States of Awareness - The Cooper Color Codes and Self-Defense





States of Awareness - The Cooper Color Codes and Self-Defense


ซุนวู (Sun Tzu) ผู้แต่งตำราพิชัยสงครามของจีน กล่าวไว้ว่า “ชัยชนะที่ยอดเยี่ยมที่สุด คือ ชัยชนะซึ่งได้มาด้วยการไม่ต้องใช้กำลังต่อสู้” การจะทำเช่นนั้นได้นั้นก็ต้อง รู้เขา รู้เรา และวิเคราะห์เป็น

คนส่วนใหญ่ในสมองมักคิดถึงแต่เรื่องงาน เรื่องส่วนตัวจิปาถะ ไม่ค่อยสนใจ “สิ่งแวดล้อมรอบตัวพวกเขาในขณะนั้น” คุณอาจจะไม่สนใจหรือไม่ใส่ใจกับสภาพแวดล้อมในที่ทำงานทั้งในเวลาทำงานและนอกเวลาทำงาน จนกระทั่งวันหนึ่งคุณถูกทำร้าย ซึ่งหลายครั้งมักให้เหตุผลว่า “เป็นเพราะโชคไม่ดี”

อาชญากรรมส่วนใหญ่เป็นเรื่องของ “โอกาส” คนร้ายมักหาโอกาสที่ง่ายแก่การก่อเหตุ ดังนั้นหากคุณกำจัดโอกาสเหล่านั้นก็เท่ากับว่าคุณตัดโอกาสที่จะเกิดเรื่องเลวร้ายกับคุณ

การใช้วิธีลดหรือหลีกเลี่ยงความเสี่ยง มีความระแวดระวังรับรู้สิ่งรอบกาย (Awareness) ทำให้คุณสามารถเอาชนะคำว่า “โชค” ได้ เรียนรู้ที่จะสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัว ประเมินสิ่งที่เห็น มีการวิเคราะห์และมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างเหมาะสมต่อสิ่งที่เห็นหรือรู้สึก

Jeff Cooper (บิดาแห่งการยิงปืนสั้นสมัยใหม่) ได้พัฒนาสิ่งที่เรียกว่า รหัสสี หรือ Color Code ขึ้นมา ซึ่งเขาสอนให้ทหารเพื่อใช้ในการรับรู้และเตรียมพร้อมที่จะตอบสนองต่อสถานการณ์สู้รบ ในปัจจุบันระบบนี้ได้รับการสอนให้กับทหารและตำรวจรวมทั้งศูนย์ฝึกอบรมยิงปืนสั้นส่วนใหญ่ด้วย

Color code ยังถูกนำมาใช้ในเรื่องของการป้องกันตัว และถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับทุกหลักสูตร

รหัสสีต่างๆบอกถึงความพร้อม (Readiness) ในระดับที่คุณควรรู้ในสถานการณ์หนึ่งๆ เพื่อที่จะได้ตอบสนองต่อสิ่งเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม มันทำให้คุณเตรียมสภาพจิตใจ เครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมในกรณีที่อาจจะต้องใช้กำลัง

ระบบรหัสสีของการรับรู้ (The Color Code System of Awareness)
ประกอบด้วย 5 สี

- สีขาว (White) ไม่ได้ให้ความสนใจ (Unawareness, not paying attention)

เป็นขึ้นต่ำสุดของระบบเตือนภัย คุณไม่ได้ระแวดระวังภัยจากสิ่งแวดล้อมเลย สีนี้มักเกิดในคนที่เรียกว่า “ฝันกลางวัน (Daydreaming)” หรือภาวะก่อนเกิดเรื่อง ซึ่งคุณจะไม่ได้รับรู้ถึงภัยคุกคามเลยจนกระทั้งมันเกิดขึ้นแล้ว

เหมือนกับคนทั่วๆไปที่พวกคนร้ายกำลังมองหา เพราะพวกเขาจะไม่หางานที่ยากทำ ดังนั้นคนที่ไม่ระแวดระวังจึงเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการ

รหัสสีขาวที่ยอมรับได้ อาทิเช่น คุณอยู่ในบ้านที่ปิดประตูใส่กลอนแน่นหนา เปิดระบบเตือนภัยหรือมีสุนัขเฝ้าบ้าน ในภาวะเช่นนี้คุณสามารถวางใจได้ แต่เมื่อคุณก้าวออกจากบ้านก็จะเข้าสู่รหัส "สีเหลือง" ทันที

- สีเหลือง (Yellow) ให้ความสนใจแต่ยังผ่อนคลายได้ (Attentive, but relaxed)

คุณยังระแวดระวังบางสิ่งหรือบางคนที่ผิดสังเกต ตื่นตัวและรับรู้สิ่งรอบข้าง เป็นการยากที่จะมีสิ่งที่ทำให้คุณประหลาดใจหรือทำอันตรายคุณได้ คุณอาจไม่ได้ถูกจู่โจมวันนี้แต่คุณรู้ว่ามันเป็นไปได้ คุณรู้ว่ามีใครอยู่รอบๆคุณและอยู่ที่ไหน มันจึงเป็นการง่ายที่จะหยุดภัยคุกคามที่กำลังเกิดขึ้นหรือสามารถหลีกเลี่ยงมันได้ และพร้อมที่จะรับสถานการณ์ แต่ถ้าคุณไม่สามารถเลี่ยงมันได้ คุณก็เข้าสู่ “สีส้ม” แล้ว

- สีส้ม (Orange) ให้ความสนใจและมีความเป็นไปได้ที่จะมีภัยคุกคามเกิดขึ้น (Potential threat)

เป็นระดับการเตือนภัยที่สูงขึ้นเมื่อมีภัยคุกคามที่เห็นชัดเจน ความแตกต่างสำคัญระหว่างสีเหลืองกับสีส้มคือ สีส้มนั้นมีสิ่งที่คุณจะต้องให้ความสนใจชัดเจน (Specific target) อาจเป็นคนเพียงคนเดียวหรือหลายคนซึ่งทำให้คุณต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เช่น คนที่ใส่เสื้อจักเก็ตในหน้าร้อน หรือคนที่เดินเข้าออกประตูอยู่บ่อยครั้ง คนที่คุณเห็นในทุกร้านที่คุณเข้าไป คุณจึงควรประเมินภัยคุกคามและเตรียมรับสถานการณ์

สิ่งที่ช่วยให้คุณประเมินได้ว่าคนนั้นอาจเป็นภัยคุกคาม อาทิเช่น มองหาสิ่งที่ผิดสังเกต ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ลักษณะภายนอก ท่าทาง ลางสังหรณ์ คำพูดบางอย่างที่เขาพูดกับคุณ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ภาษากาย (Body language) 80 เปอร์เซ็นต์ของการสื่อสารของมนุษย์ใช้ภาษากาย ดังนั้นคนร้ายมักแสดงอะไรบางอย่าง “ก่อน” ที่จะมีความรุนแรงเกิดขึ้นซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรมองหา

คุณจะต้องไม่ละความสนใจไปจากบุคคลที่ดึงดูดความสนใจของคุณ แต่ก็ต้องใส่ใจในสิ่งรอบข้างด้วย คุณคงไม่ต้องการมีจุดบอดในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคนที่คุณกำลังให้ความสนใจอยู่ ภายในเวลาไม่กี่วินาทีคุณจะสามารถประเมินได้ว่าคนนั้นจะเป็นภัยคุกคามหรือไม่ หากไม่ใช่คนร้ายก็สามารถลดระดับเป็น “สีเหลือง” ได้ ถ้าเขาเป็นคนร้ายจริงแต่คุณได้เตรียมพร้อมอยู่แล้วอันตรายก็จะน้อยลง

หากคนนั้นมีลักษณะที่เชื่อได้ว่าน่าจะเป็นภัยคุกคาม คุณควรเริ่มคิดตั้งคำถาม “ถ้าเกิด.....” ในใจเพื่อเตรียมแผนที่จะแก้ไข เช่น ถ้าเกิดเขาทำอะไรบางอย่างแล้วคุณจะแก้ไขอย่างไร เป็นต้น และหากประเมินแล้วแน่ใจว่าเขาเป็นภัยคุกคามแน่ ก็เป็นการเข้าสู่ “สีแดง” ทันที

- สีแดง (Red) มีภัยคุกคามเกิดขึ้นแล้ว (Definite threat)

เป็นภาวะที่คุณเตรียมพร้อมที่จะสู้ ซึ่งอาจเกิดหรือไม่เกิดการต่อสู้จริงๆก็ได้ แต่มีการเตรียมพร้อม “ด้านจิตใจ” แล้ว โดยคุณจะมองหาตัวกระตุ้นทางจิตใจที่สำคัญ (Mental trigger) อาจเป็นการกระทำอะไรบางอย่างจากคนร้าย ซึ่งจำเป็นที่คุณจะต้องตอบสนองด้วยการป้องกันตัวเอง

ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จอยู่ที่ “เวลาในการตอบสนองต่อภัยคุกคาม” ถ้าคุณไม่ได้สนใจสิ่งแวดล้อมหรือมองหาสิ่งที่บ่งบอกว่ากำลังจะเกิดภัยคุกคาม คุณอาจไม่มีเวลามากพอที่จะสามารถตอบสนองด้วยการป้องกันตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

- สีดำ (Black) คุณกำลังต่อสู้ (Fighting)

เป็นช่วงเวลาที่คุณใช้กำลังเข้าปะทะกับคนร้าย มีการกระตุ้นทางจิตใจและร่างกายตอบสนอง มีเพียงทางเดียวคือมุ่งไปข้างหน้าใช้ความรุนแรงมากเท่าที่จะสามารถทำให้คนร้ายอ่อนกำลังลง ไม่มีเวลาที่จะมาเสียใจหรือกลัว คุณเพียงแค่กระทำและไว้ใจในสิ่งที่คุณฝึกฝนมา

ระบบสีเหล่านี้จะมีประโยชน์เมื่อคุณตกอยู่ในภัยคุกคามต่อชีวิต ซึ่งคุณจะมีความท้าทาย 3 อย่างที่ยากลำบาก คือ
- รับรู้ถึงคนร้ายได้ทันเวลา
- ตระหนักและรับรู้ได้ว่า “คนนี้แหละ” ที่จะมาฆ่าคุณแน่ๆ ถ้าคุณไม่หยุดเขาเสียก่อน และ
- หักห้ามความลังเลที่จะใช้ความรุนแรงตอบโต้ต่อคนอื่น

คนร้ายมักเดินตรงมาที่คุณซึ่งไม่ได้สังเกตสิ่งแวดล้อมแล้วเข้าทำร้าย เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวพวกเขา เราต้องเรียนรู้ที่จะให้ความสนใจแล้วคุณจะเห็นสัญญาณเตือนก่อนที่จะเกิดเรื่องและจะสามารถตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มันเป็นการยากที่จะทำให้สุจริตชนเข้าใจว่าพวกเขาอยู่ท่ามกลางคนที่ไม่ดี คนที่อาจฆ่าคุณเพราะกระเป๋าสตางค์เพื่อนำเงินไปซื้อยาเสพติด อาจข่มขืนคุณเพียงเพราะรู้สึกว่าตนเองอ่อนแอจึงต้องการแสดงอำนาจเหนือบุคคลอื่น อาจฆ่าคุณเพียงเพื่อต้องการเลื่อนระดับชั้นในแก๊งอันธพาล และที่แย่ที่สุดก็คือ การที่ไม่มีเหตุผลเลย

สุจริตชนทั่วไปมักมีความลังเลที่จะทำร้ายคนอื่นแม้มันจะสมเหตุสมผลก็ตาม เราต้องสามารถข้ามอุปสรรคนี้ไปให้ได้ในยามที่ชีวิตของเราตกอยู่ในอันตราย

ด้วยระบบรหัสสี (Color codes) นี้จะช่วยให้คุณข้ามอุปสรรคนี้ไปได้ สามารถเตรียมสภาพจิตใจและร่างกายให้พร้อมที่จะป้องกันตนเองหากสถานการณ์นั้นไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

มีคำแนะนำที่น่าสนใจกล่าวว่า ทุกเช้าที่ตื่นนอนให้บอกกับตัวเองว่า “วันนี้เราอาจต้องใช้สิ่งที่ฝึกฝนมาเพื่อป้องกันตัว” การพูดเช่นนี้บ่อยๆจนเข้าไปสู่จิตใต้สำนึกซึ่งเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนชีวิตมนุษย์ถึง 90 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียวอาจช่วยชีวิตคุณได้ในสถานการณ์วิกฤติ นอกจากนั้นเมื่อเข้าสู่ “สีส้ม” ให้บอกกับตัวเองว่า “เราอาจต้องทำให้เขาบาดเจ็บสาหัสในวันนี้” เป็นการเตรียมพร้อมสภาพจิตใจก่อนเผชิญเหตุ

จงจำไว้ว่า “ความระแวดระวัง (Awareness) และการหลีกเลี่ยง (Avoidance) เป็นกลยุทธ์ป้องกันตัวที่ดีที่สุด” สิ่งแรกที่การป้องกันตัวควรนำมาใช้ก่อนคือ การหลีกเลี่ยง จงเชื่อใจในสัญชาติญาณและทำตามโดยไม่ลังเล ฝึกใช้รหัสสี (Color codes) ทุกวันและผนวกมันเข้ากับการฝึกและชีวิตประจำวัน

จะเห็นได้ว่าการป้องกันตัวนั้นเริ่มจากการ “มีสติ” อยู่ตลอดเวลา มีความระแวดระวัง เปิดหู เปิดตา สนใจสิ่งแวดล้อม มองหาสิ่งที่อาจเป็นภัยคุกคาม ประเมินสถานการณ์ เตรียมความพร้อมทั้งทางจิตใจและร่างกาย ตอบสนองอย่างเหมาะสมต่อภัยคุกคามที่เกิดขึ้นโดยไม่ลังเล

สุดท้ายนี้ขอให้ตั้ง “สติ” ทุกครั้งเมื่อเผชิญเหตุ และขอให้ “พลังจงอยู่กับท่าน”

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง States of Awareness - The Cooper Color Codes and Self-Defense ของ self-defense-mind-body-spirit.com


Thursday, November 12, 2009

Choosing an Aircrew Self-Defense Training Program




 
Choosing an Aircrew Self-Defense Training Program


นาย Henry Williamson ซึ่งเป็น First officer (นักบินมือสองซึ่งมีอำนาจรองจาก Captain หรือบางครั้งเรียกว่า Co-pilot) ได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกเรียนหลักสูตรการป้องกันตัวสำหรับนักบิน (Pilot) และพนักงานบริการบนเครื่องบิน (Flight attendants) ไว้อย่างน่าสนใจ

ตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ 9/11 เมื่อปี 2001 (ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินสหรัฐชนตึก World trade center และ Pentagon ของอเมริกา) ทั้งนักบินและลูกเรือต้องการเครื่องมือในการจัดการความรุนแรงบนเครื่องบิน อาทิเช่น ความวุ้นวายที่เกิดจากผู้โดยสารที่โกรธจัดเอะอะโวยวาย เมาเหล้า หรือสภาพจิตที่ผิดปกติ ซึ่งอาจทำอันตรายลูกเรือได้ ในขณะที่ผู้ก่อการร้ายมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้างหากไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจมากนัก หลังจากเหตุการณ์นั้นอุตสาหกรรมการบินและรัฐบาลเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการฝึกการป้องกันตัวให้กับลูกเรือ

ต่อมาได้มีการออกกฎหมายให้นักบินมีอาวุธเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายและกำหนดให้มีการฝึกอบรมการป้องกันตัวให้กับลูกเรือทุกคน เนื่องจากเวลาอันจำกัดทั้งนักบินและลูกเรือต้องการรูปแบบการฝึกที่มีความก้าวหน้ามากกว่าเก่าซึ่งต้องใช้เวลาเรียนนานกว่าจะสามารถป้องกันตัวเองได้





นาย Henry Williamson เคยผ่านการฝึกศิลปะการต่อสู้มาหลายแขนง รวมทั้งจากประสบการณ์ที่เคยเป็นผู้รักษากฎหมายและเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยการบิน และเคยเข้าฝึกหลักสูตรการป้องกันตัวทั้งจากภาครัฐและเอกชน เขาได้ประมวลหลักการที่คิดว่าลูกเรือควรใช้เพื่อเลือกเรียนหลักสูตรป้องกันตัวที่เหมาะสม

ประการแรก ลูกเรือมีเวลาไม่มากนักที่จะฝึกฝนจึงควรเน้นที่การป้องกันตัวในสภาพการทำงานจริง ก็คือ ที่ชั้นผู้โดยสารหรือห้องนักบิน (cabin/flight deck self-defense) เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เรียนรู้สถานการณ์ที่ไม่ปกติ รู้จักหาสิ่งของรอบกายมาเป็นอาวุธ รวมทั้งวิธีการป้องกันตัวที่มีประสิทธิภาพ

ประการที่สอง การฝึกเหล่านี้ไม่ได้ตั้งเป้าไปที่ การเพิ่มความมั่นใจหรือความแข็งแรงของร่างกาย แต่เรียนรู้วิธีที่จะเอาตัวรอด จะเห็นได้ว่าหลายคนที่เก่งในศิลปะการต่อสู้แต่กลับไม่มีทักษะที่จะป้องกันตัวเองหรือเอาตัวรอดเมื่อเผชิญเหตุการณ์จริง ด้วยครูฝึกที่ดีและมีทัศนคติที่ถูกต้องนักเรียนก็จะสามารถได้รับทักษะที่มีค่าเมื่อเข้ารับการฝึกอบรม

สิ่งที่ต้องพิจารณา
สิ่งแวดล้อม ภายในชั้นผู้โดยสารและห้องนักบินเป็นสถานที่ที่คับแคบมาก (Very confined spaces) อีกทั้งมีสิ่งกีดขวางจำนวนมากเป็นการยากที่จะเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ดังนั้นการเตะสูง (เหนือท้อง) หรือท่าสวยๆ เช่น การกระโดด การหมุนรอบ (spinning) จึงไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมสำหรับลูกเรือที่จะเรียนรู้

ห้องเตรียมอาหาร ห้องน้ำ และทางเดินบนเครื่องบินเป็นสามจุดบอดซึ่งลดเวลาการตอบสนองต่อภัยคุกคามของลูกเรือ การจู่โจมอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่มีการเตือนและในระยะใกล้ (ระยะห่างน้อยกว่า 2 ฟุต) ดังนั้นวิธีในการตอบโต้จึงควรเน้นที่ความรวดเร็ว ใช้ได้ผลในระยะใกล้มากกว่าวิธีที่ใช้ในระยะห่าง

การโจมตี (Striking) และการควบคุมคู่ต่อสู้ (Grappling) การป้องกันตัวที่ดีควรเน้นที่การโจมตีและการควบคุมคู่ต่อสู้ด้วย ซึ่งการโจมตีส่วนมากคือ การชก แต่ควรสอนการใช้ ศอก เข่า รวมทั้งการเตะต่ำ ส่วนการควบคุมคู่ต่อสู้อาจรวมไปถึงการทำให้คู่ต่อสู้ล้มลงกับพื้น (Takedown) หรือการทำให้คู่ต่อสู้ไม่สามารถตอบโต้ได้

อย่าคิดว่าจะเหมือนในภาพยนตร์ เพราะการต่อสู้จริงๆมักจบลงภายในเวลาไม่กี่วินาที เนื่องจากทั้งคู่หรือคนใดคนหนึ่งแยกออกมาเอง (คนส่วนใหญ่ไม่ต้องการที่จะต่อสู้กันอยู่แล้ว) เลิกคิดถึงหมัดเด็จที่จะล้มคู่ต่อสู้ได้ เพราะส่วนใหญ่มักจบลงด้วยการควบคุมคู่ต่อสู้เสียมากกว่าโดยเฉพาะทำให้คู่ต่อสู้ล้มลงกับพื้น

การต่อสู้บนพื้น (Ground fighting skills) ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันหรือตอบโต้ลูกเรือก็ควรเรียนรู้ไว้ นอกจากนั้นควรสามารถนำมาประยุกต์กับการต่อสู้ในท่านั่ง เนื่องจากลูกเรืออาจถูกจู่โจมในขณะที่นั่งอยู่กับเก้าอี้ก็ได้

ความสมจริง (Realism) ฝึกในสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับที่อาจเกิดขึ้นบนเครื่องบิน ดังคำกล่าวของเหล่าทหารที่ว่า “จงฝึกในสภาพที่คุณจะต้องต่อสู้ (Train the way you fight)”

ดังนั้นผู้รับการฝึกจึงควรต้องฝึกด้วยการปะทะจริง มีการใช้กำลัง มีการต่อต้านจากฝ่ายตรงข้าม โดยอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยในการฝึกไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ การใส่ชุดป้องกันในบางกรณีจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ศิลปะการต่อสู้ในแถบเอเชียส่วนใหญ่มักมีรูปแบบในการเคลื่อนไหวของการต่อสู้แน่นอนและต้องใช้เวลานานในการเรียนรู้ ซึ่งอาจไม่เหมาะกับลูกเรือที่ควรเรียนรู้สิ่งที่จะนำมาใช้ได้ในสถานการณ์จริงในเวลาอันจำกัด

อาวุธ (Weapons) เนื่องจากกฎระเบียบลูกเรือจึงถูกห้ามพกพาอาวุธบนเครื่องบิน แต่ก็สามารถหาอาวุธจากสิ่งที่อยู่รอบกายได้ เช่น ขวานสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน (Crash axes) ถังดับเพลิง หรือขวดไวน์ เป็นต้น อาวุธส่วนใหญ่ที่คนร้ายใช้มักเป็นมีดพกหรือปืนพกมากกว่าจะเป็นดาบซามูไรหรือวัตถุยาวหกฟุต ดังนั้นจึงควรเรียนรู้วิธีป้องกันตัวจากอาวุธเหล่านี้เป็นหลัก

ข้อจำกัดทางร่างกาย (Physical limitations) ในอุดมคติลูกเรือก็ควรจะอยู่ในสภาพที่ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงที่สุดเพื่อจะสามารถเผชิญเหตุร้ายได้ดี แต่ในความเป็นจริงไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ แน่นอนว่าในสถานการณ์ความเป็นความตายนั้นความสมบูรณ์ของร่างกายย่อมเป็นปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งในการที่จะรอดชีวิต ดังนั้นพยายามหาหลักสูตรที่ท้าทายสภาพร่างกายของคุณ ดังคำที่ใช้ในหมู่ทหารที่ว่า “ยิ่งคุณเหงื่อออกมากเท่าไรตอนฝึก คุณยิ่งเลือดออกน้อยเท่านั้นในสนามรบ (The more you sweat in training, the less you bleed in combat)” แต่ก็ต้องยอมรับว่าจะมีลูกเรือบางส่วนมีสภาพร่างกายไม่แข็งแรงพอที่จะรับการฝึกให้ครบตามหลักสูตรได้

รูปแบบและคุณภาพการสอน (Instructional quality and style) สำหรับการฝึกฝนในระยะยาว ลูกเรือแต่ละคนควรเลือกโรงเรียนหรือครูฝึกส่วนตัวเพื่อเสริมสร้างทักษะ มีหลักในการเลือกดังนี้ ในชั้นเรียนควรเป็นผู้ใหญ่ทั้งหมด เนื่องจากการฝึกป้องกันตัวไม่ใช่กิจกรรมสำหรับครอบครัว การมีเด็กอยู่ด้วยจะทำให้ความเข้มข้นของการฝึกลดลง

หลีกเลี่ยงหลักสูตรที่เน้นไปที่การแข่งขันหรือการจัดอันดับ สายคาดเอวสี่ต่างๆหรือถ้วยรางวัลไม่ได้เป็นตัวบอกว่าคุณสู้ได้เก่งในชีวิตจริง และถ้าครูฝึกโอ้อวดว่าตนเองมีประสบการณ์ต่อสู้ด้วยมือเปล่ามาอย่างโชกโชน ก็ให้เดินหนีได้เลยเพราะคนส่วนใหญ่ในวัยกลางคนก็สามารถทำเช่นนั้นได้เช่นกันโดยมีบาดแผลเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าสิ่งที่เขาโม้ไว้เป็นเรื่องจริงก็ต้องสงสัยในเรื่องการตัดสินใจหรือการควบคุมตนเองของครูฝึกแล้ว ครูฝึกที่เป็นตำรวจหรือทหารหน่วยพิเศษที่มีประสบการณ์ในการป้องกันตัวด้วยมือเปล่าก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่ง

โดยสรุปยังไม่พบว่าศิลปะการต่อสู้รูปแบบใดรูปแบบเดียวจะเหมาะสมกับการใช้งานในเชิงป้องกันตัวสำหรับลูกเรือ (เรียนรู้ได้ง่ายในเวลาอันสั้น ใช้งานได้จริงในพื้นที่คับแคบ มีการโจมตี การตั้งรับ การต่อสู้บนพื้น การควบคุมคู่ต่อสู้) ถ้าคุณมีเงินและเวลามากพอ หลักสูตรการป้องกันตัวสำหรับลูกเรือโดยเฉพาะ (A tailored aircrew self-defense course) น่าจะเหมาะสมที่สุด (แม้แต่ในอเมริกาเองก็ยังไม่แพร่หลาย) สำหรับการฝึกฝนในระยะยาวซึ่งต้องการทักษะหลายด้านนั้น การเรียนมวยสากลหรือมวยไทยจะมีประโยชน์ในแง่ของการโจมตี Brazilian Jiu-Jitsu จะมีประโยชน์ในเรื่องการควบคุมคู่ต่อสู้และการต่อสู้บนพื้น ส่วน Philippine/Indonesian Martial Art เด่นในเรื่องอาวุธ เช่น ไม้และมีด แต่ก็มีบางโรงเรียนที่นำความรู้เหล่านี้มาสอนผสมกันไปซึ่งก็เป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน

การฝึกการป้องกันตัวแบบผสมผสาน (นำความรู้จากหลายวิชามาประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์) น่าจะเหมาะสมที่สุดสำหรับลูกเรือและบุคคลทั่วไป

สุดท้ายนี้ขอให้ตั้ง “สติ” ทุกครั้งเมื่อเผชิญเหตุ และขอให้ “พลังจงอยู่กับท่าน”

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Choosing an Aircrew Self-Defense Training Program ของ Henry Williamson

Tuesday, November 3, 2009

Choosing Self-defense Class
















Choosing Self-defense Class

National Coalition Against Sexual Assault (NCASA) ได้ให้แนวทางในการเลือกเรียนหลักสูตรป้องกันตัวสำหรับผู้หญิงไว้อย่างน่าสนใจ

ปรัชญาแรกของการป้องกันตัวสำหรับผู้หญิง เราต้องยอมรับว่าผู้หญิงไม่ได้เป็นคนขอ เป็นสาเหตุ หรือต้องการที่จะถูกทำร้าย ถึงแม้ผู้หญิงหรือผู้ชายบางครั้งจะมีความประมาทในเรื่องพฤติกรรมด้านความปลอดภัยส่วนตัวก็ตาม แต่พวกเขาเหล่านั้นก็ไม่ควรต้องรับผิดชอบต่อการถูกทำร้ายร้างกายที่เกิดขึ้น คนร้ายต่างหากที่ควรเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำเลวร้ายเหล่านั้น

ปรัชญาที่สอง เมื่อผู้หญิงตัดสินใจที่จะกระทำการป้องกันตัว ไม่ว่าได้กระทำหรือไม่ได้กระทำอะไรก็ไม่ถือว่าเป็นความผิด เราควรให้ความเครพต่อการตัดสินใจที่จะพยายามเอาชีวิตรอดของพวกเขา

ปรัชญาที่สาม หลักสูตรสอนการป้องกันตัวที่ดีนั้นไม่ควร “บอก” ว่าใคร “ควรทำ” หรือ “ไม่ควรทำอะไร” แต่ควรบอกทางเลือก (Options) วิธีการทำ (Techniques) และวิธีการวิเคราะห์สถานการณ์ ภายในหลักสูตรเหล่านั้นอาจบอกว่าวิธีใดโดยปกติใช้ได้ผลดีในสถานการณ์ส่วนใหญ่ แต่การตัดสินใจสุดท้ายขึ้นอยู่กับบุคคลที่กำลังเผชิญเหตุอยู่เนื่องจากอาจมีความแตกต่างของสถานการณ์ได้อย่างมากมาย

การป้องกันตัวนั้นประกอบด้วย ความตื่นตัว (Awareness) ความมั่นใจ (Assertiveness) ทักษะการพูด (Verbal confrontation skill) กลยุทธ์ด้านความปลอดภัย (Safety strategies) และวิธีการใช้กำลัง (Physical techniques) ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ประสบความสำเร็จในการ “หนี ต่อต้านคนร้าย หรือมีชีวิตรอด” หลักสูตรที่ดีควรให้ความรู้ด้านจิตวิทยา (Psychological awareness) และทักษะด้านการใช้คำพูดร่วมด้วย ไม่ใช่สอนแค่วิธีการใช้กำลังในการแก้ไขสถานการณ์เท่านั้น

การฝึกการป้องกันตัว (Self-defense training) สามารถเพิ่มทางเลือกและช่วยคุณในการตอบสนองต่อการถูกทำร้ายได้ การป้องกันตัวก็เหมือนเครื่องมือชนิดหนึ่งถ้าคุณรู้จักมันดี รู้ว่ามันใช้งานอย่างไร รู้ข้อจำกัดของมัน ข้อมูลเหล่านี้ก็ช่วยคุณในการตัดสินใจที่จะใช้มัน

การป้องกันตัวนั้นไม่อาจรับประกันได้ว่าคุณจะปลอดภัยจากการถูกทำร้ายได้อย่างแน่นอน แต่การฝึกการป้องกันตัวทำให้คุณมีทางเลือกหรือมีความพร้อมมากขึ้นเมื่อเผชิญสถานการณ์ที่เลวร้าย

ไม่มีมาตรฐานชัดเจนสำหรับหลักสูตรป้องกันตัว บางหลักสูตรสอนแค่ 4 ชั่วโมงจนถึงหลายเดือน แต่ไม่ว่าหลักสูตรจะนานมากน้อยแค่ไหนก็ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ควรสอนทางเลือกให้มาก วิธีการเรียบง่าย และผู้หญิงควรทำได้

ครูฝึกอาจเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้ เพราะหลักสูตรที่ดีขึ้นกับปรัชญา ความรู้ วิธีการสอน ของผู้สอนมากกว่าเพศของครูฝึก ถึงแม้บางครั้งการมีครูฝึกเป็นผู้หญิงอาจสะดวกมากขึ้นเมื่อต้องการปรึกษาปัญหาบางอย่างที่มีความอ่อนไหว แต่การได้ฝึกซ้อมกับผู้ชายก็อาจดีในแง่เพิ่มความคุ้นเคยกับการป้องกันตัวกับผู้ชาย สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ครูฝึกไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชายต้องสร้างความมั่นใจ ความสามารถและความแข็งแรงให้กับนักเรียนได้ ความรู้สึกปลอดภัยและการสร้างความไว้ใจต้องมาก่อนการเรียนรู้

การป้องกันตัวไม่จำเป็นต้องเรียนกันหลายปี ในหลักสูตรขั้นพื้นฐานนั้นใช้เวลาเรียนไม่นาน เพียงแค่ให้หลักการการป้องกันตัว วิธีการพื้นฐาน แล้วคุณฝึกฝนหรือเรียนรู้เพิ่มเติมต่อไปได้ การป้องกันตัวไม่ใช่การเรียนคาราเต้หรือศิลปะการต่อสู้ (Martial art training) มันไม่ได้ต้องการเวลาหลายปีเพื่อความสมบูรณ์แบบ

หลายคนสงสัยว่าถ้าเราใช้กำลังในการป้องกันตัวนั้นจะทำให้เราเจ็บตัวมากขึ้นหรือไม่ ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ต้องขอถามว่า “เจ็บตัวมากขึ้น” นั้นหมายถึงอย่างไร ผู้หญิงที่เคยถูกข่มขืนหลายคนต่างยังมีความเจ็บปวดทางด้านจิตใจอยู่แม้บาดแผลทางร้างกายนั้นได้หายไปแล้ว มีการศึกษาพบว่าการป้องกันตัวโดยใช้กำลังไม่ได้เพิ่มระดับการบาดเจ็บแต่อย่างใด อีกทั้งหลายกรณีกลับลดลงเสียด้วย อีกทั้งผู้หญิงที่ทำตามคนร้ายตลอดก็ยังอาจถูกทำร้ายอย่างป่าเถื่อนเสียด้วยซ้ำ

จุดประสงค์หลักของการป้องกันตัว คือ การบรรเทาการบาดเจ็บและรีบหนีออกมาจากสถานการณ์นั้นๆให้เร็วที่สุด

หลายหลักสูตรมักโฆษณาว่าเป็นหลักสูตรที่ “ดีที่สุด เหมือนจริงที่สุด ประสบความสำเร็จที่สุด” นั้นก็เป็นเพียงกลเม็ดในการโฆษณาเท่านั้น จงจำไว้ว่าไม่มีหลักสูตรใดสามารถจำลองการทำร้ายร่างกายได้เหมือนจริงที่สุด เพราะในสถานการณ์จริงนั้นมีความแตกต่างกันมาก มีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น อาวุธ สภาพแวดล้อม เป็นต้น จึงอาจอันตรายเกินไปที่จะมาฝึกกันเช่นนั้น

การใช้อาวุธหรืออุปกรณ์ต่างๆมาใช้ในการป้องกันตัวนั้น ประการแรกคือมันจะไม่มีประโยชน์เลยถ้าคุณไม่รู้ว่ามันใช้อย่างไร นอกจากนั้นมันยังต้องพร้อมใช้งานในยามที่เราถูกทำร้ายด้วย และไม่มีการรับประกันได้ว่ามันจะใช้ได้ผล จำไว้ด้วยว่าสิ่งต่างๆที่คุณใช้กับคนร้ายเพื่อป้องกันตัวเองก็อาจถูกนำกลับมาใช้กับตัวคุณเองได้ด้วย ดังนั้นคุณต้องเรียนรู้ข้อจำกัดและความน่าเชื่อถือของอุปกรณ์ต่างๆเหล่านี้

ราคาค่าเรียนนั้นไม่ได้เป็นตัวบอกถึงคุณภาพของหลักสูตร ไม่ใช่ว่ายิ่งแพงยิ่งดี แต่ก็ไม่ได้ให้เราเลือกหลักสูตรที่ถูกที่สุดไว้ก่อน คงต้องใช้วิจารณญาณในการพิจารณา

คุณไม่จำเป็นต้องรูปร่างดีเหมือนนักกีฬาจึงจะเรียนการป้องกันตัวได้ หลักสูตรที่ดีต้องสามารถสอนนักเรียนได้ด้วยความยืดหยุ่น นักเรียนสามารถบอกความต้องการอยากรู้ของตนได้ และในหลายหลักสูตรมีการจัดสอนเฉพาะกลุ่มด้วย

หลักสูตรที่ดีนั้นควรอยู่บนพื้นฐานที่ว่าผู้หญิงสามารถทำได้ วิธีการใช้กำลังป้องกันตัวต้องเรียบง่าย (ง่ายทั้งการจดจำและการกระทำ) ใช้ความฉลาดมากกว่ากล้ามเนื้อ และให้ทางเลือกหลายทางในการป้องกันตัว ครูฝึกควรใส่ใจต่อความกังวลหรือความกลัวของนักเรียน เสริมสร้างความมั่นใจ

Easy defense club แนะนำวิธีการเอาตัวรอดจากสถานการณ์วิกฤติด้วยวิธีการที่เรียบง่ายและมีประสิทธิภาพ ผู้รับการฝึกสามารถเลือกที่จะเรียนการป้องกันตัวด้วยมือเปล่าหรือการใช้อาวุธมีดระบบต่อสู้อย่างถูกต้องได้

สุดท้ายนี้ขอให้ตั้ง “สติ” ทุกครั้งเมื่อเผชิญเหตุ และขอให้ “พลังจงอยู่กับท่าน”

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Guidelines on Choosing a Women's Self-Defense Course ของ National Coalition Against Sexual Assault (NCASA) จาก Portland Police Bureau

Friday, October 30, 2009

Every Day Carry (EDC)






















Every Day Carry (EDC)





ถึงแม้จะทราบปัจจัยส่งเสริมให้เกิดอาชญากรรมแต่ในบางครั้งเราไม่สามารถเลี่ยงได้ จึงควรมีอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่อาจใช้ในยามจำเป็น เช่น เหตุการณ์ร้ายมักเกิดในเวลาหรือสถานที่ที่มีแสงน้อยเราก็ควรมีไฟฉายติดตัวไว้เผื่อกรณีจำเป็น (มีคำกล่าวที่ว่า “จงทำที่มืดให้สว่างเสีย”) โดยใช้ไฟฉายที่มีความสว่างเพียงพอ (แนะนำให้ใช้ Tactical flashlight ที่มีความสว่างมากกว่า 50 ลูเม็นส์) นอกจากใช้ในการส่องสว่างช่วยในการมองเห็นสภาพแวดล้อมแล้ว หากต้องเผชิญกับคนร้ายยังสามารถใช้ไฟฉายส่องตาคนร้ายเพื่อให้พร่ามัวได้ชั่วขณะ ทำให้มีเวลาหนีหรือช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น อีกทั้งตัวกระบอกไฟฉายซึ่งมีความแข็งแรงก็สามารถนำมาใช้เป็นอาวุธป้องกันตัวได้อีกด้วย (ควรเลือกไฟฉายให้มีขนาดเหมาะสมสำหรับการพกพาทุกวันและตรวจสอบสภาพการทำงานของไฟฉายอย่างสม่ำเสมอ)

สเปรย์พริกไทย (Pepper spray) มีหลายแบบ หลายยี่ห้อ สามารถพกติดตัวได้ แต่ต้องระวังเรื่องการใช้งานซึ่งอาจไม่ได้ประสิทธิภาพตามที่ผลิตภัณฑ์ได้กล่าวอ้างไว้ ปัญหาที่พบบ่อยคือ ก๊าซซึ่งบรรจุอยู่ในสเปรย์พริกไทยรั่วซึมออกมาทำให้แรงดันในกระป๋องไม่มากพอที่จะใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับ Kimber peper blaster นั้นทำขึ้นมาอย่างดีมีประสิทธิภาพเชื่อถือได้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่สูงขึ้น

มีด (Knife) มีหลายแบบ หลายขนาด หลายวัตถุประสงค์ มีดบางแบบโดยรูปลักษณ์แล้วเป็นอาวุธต่อสู้ (Combat knife) บางแบบใช้เพื่อการล่าสัตว์ (Hunting knife) บางแบบใช้เพื่องานกู้ภัย (Rescue knife) มีการทำมีดเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะด้านอีกมากมาย แต่ที่นิยมมากในปัจจุบัน คือ มีดต่อสู้ (Combat or Tactical knives) อย่าลืมว่ามีดทุกชนิดสามารถใช้เป็นอาวุธได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นมีดต่อสู้เท่านั้น มีดปลอกผลไม้ มีดทำครัวก็สามารถนำมาใช้เป็นอาวุธได้ มีดต่อสู้ถือว่าเป็นอาวุธโดยสภาพห้ามพกพาเข้าไปในสถานที่สำคัญบางแห่ง ห้ามนำขึ้นเครื่องบิน และผู้ที่จะพกมีดเพื่อป้องกันตัวควรเรียนรู้มีดของตนเองอย่างดี ทำความคุ้นเคยและฝึกฝนการใช้มีดเพื่อต่อสู้ป้องกันตัว ไม่เช่นนั้นมีดเล่มนั้นอาจกลายเป็นอาวุธให้กับคนร้ายเสียเอง

เครื่องช็อกไฟฟ้า ในประเทศไทยถือเป็นเครื่องยุทธภัณฑ์ห้ามพกพาไปในที่สาธารณะ แต่มีโทษแค่ปรับ

ปากกา (Pen) โดยสภาพแล้วไม่ใช่อาวุธแต่หากรู้วิธีก็สามารถนำมาใช้เป็นอาวุธเพื่อปกป้องตัวเองได้เช่นกัน นอกจากนี้มีการทำปากกาที่มีลักษณะพิเศษเพื่อใช้ในการป้องกันตัวโดยเฉพาะ เรียกว่า Tactical pen

กระบองสั้น Baton หรือ ดิ้ว เป็นกระบองสามท่อนที่ยืดและหดได้ มีหลายความยาว หลายวัสดุ หลายราคา มีประโยชน์มากหากรู้วิธีใช้อย่างถูกต้อง ถือเป็นคู่ปรับตลอดกาลของมีดต่อสู้ ถึงแม้จะหดกระบองจนสั้นสุดก็ยังถือว่ายาวอยู่มาก อีกทั้งมีน้ำหนักมากกว่ามีดดังนั้นจึงขาดความคล่องตัวในการพกพาหรือพกซ่อน

ยังมีอุปกรณ์อีกมากที่ไม่มีลักษณะเป็นอาวุธโดยสภาพแต่สามารถนำมาใช้ในการป้องกันตัวได้ อาทิเช่น หนังสือ หากรู้วิธีสามารถนำมาใช้ต่อสู้กับมีดได้ เชือก หมวก เข็มขัด ร่ม กุญแจรถ กุญแจบ้าน เป็นต้น

โทรศัพท์มือถือ (Cell phone) ประโยชน์หลักคือใช้ในการโทรขอความช่วยเหลือหรือแจ้งตำรวจ โทรศัพท์สมัยใหม่ส่วนใหญ่สามารถถ่ายภาพหรืออัดวีดิโอได้ ซึ่งอาจใช้บันทึกภาพเหตุการณ์หรือคนร้ายได้ ควรมีเบอร์โทรของบุคคล ตำรวจ หรือสถานพยาบาลที่เราสามารถติดต่อได้ในยามฉุกเฉินและใช้วิธีการโทรออกได้อย่างรวดเร็ว

นกหวีด (Whistle) เป็นอุปกรณ์เรียกร้องความสนใจจากคนรอบข้าง อาจทำให้คนร้ายเปลี่ยนใจที่จะไม่เข้ามาจู่โจมได้ (หากเป็นคนที่ชอบเดินป่าหรือออกทะเล นกหวีดถือเป็นอุปกรณ์กู้ภัยอย่างหนึ่งทีเดียว เช่น ถ้าเดินหลงป่าหรือตกทะเลอาจใช้นกหวีดเพื่อบอกตำแหน่งของตนเองได้)

การเลือกอุปกรณ์พกพาประจำวันเพื่อใช้ในการป้องกันตัวนั้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะสามารถใช้มันให้เกิดประโยชน์ได้หรือไม่ เรียนรู้ข้อดี ข้อจำกัดของอุปกรณ์ต่างๆ เรียนรู้วิธีการใช้งาน ควรรู้ว่าจะเก็บอุปกรณ์ต่างๆเหล่านี้ที่ไหน (หากเก็บทุกอย่างไว้ในกระเป๋าถือ ถ้าถูกขโมยหรือถูกคนร้ายยึดไปก็จะเหลือแต่ตัวเปล่าๆ)


สุดท้ายนี้ขอให้ตั้ง “สติ” ทุกครั้งเมื่อเผชิญเหตุ และขอให้ "พลังจงอยู่กับท่าน"
เรียบเรียงโดย Batman

Tuesday, October 27, 2009

Criminal Nature



Criminal Nature

การก่ออาชญากรรมของคนร้ายมักมีจุดประสงค์ใหญ่ๆ คือ ต้องการทรัพย์สิน การคุกคามทางเพศ การประทุษร้ายต่อร่างกายและชีวิต บางครั้งการก่ออาชญากรรมมีเหตุผลเพียงหนึ่งหรือสองข้อแต่หลายกรณีก็มีครบทั้งสามประการข้างต้น



การเกิดอาชญากรรมต่อตัวบุคคลนั้นจะประกอบด้วยปัจจัย 4 ประการ คือ เวลา (Time) สถานที่ (Place) บุคคล (Person) และแรงจูงใจ (Motivation)

- เวลา (Time) อาชญากรรมมักเกิดขึ้นในช่วงที่มีแสงน้อย (เช้ามืดก่อนพระอาทิตย์ขึ้น, เย็นพลบค่ำและกลางดึก) เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่คนร้ายสามารถใช้ความมืดในการหลบซ่อนได้ง่าย เหยื่อขาดความระมัดระวังและลดโอกาสที่จะถูกจดจำใบหน้า

- สถานที่ (Place) อาชญากรมักเลือกลงมือในสถานที่ที่เปลี่ยว มืด ผู้คนไม่พลุกพล่าน สามารถปกปิดการกระทำความผิดได้ง่าย เหยื่อไม่สามารถหนีหรือขอความช่วยเหลือได้ นอกจากนั้นอาจนำเหยื่อไปยังสถานที่ดังกล่าว แม้แต่ในบ้าน ห้องพักหรือที่ทำงานก็อาจเกิดอาชญากรรมได้เช่นกัน

- บุคคล (Person) หมายถึง ตัวเราเองและบุคคลรอบข้าง รวมทั้งคนร้าย เช่น เราใส่เครื่องประดับราคาแพงหรือแต่งกายไม่สุภาพหรือไม่ บุคคลที่เราไปด้วยมีความไว้วางใจได้แค่ไหน หลายครั้งการประทุษร้ายทางเพศเกิดจากคนที่เหยื่อรู้จักเป็นอย่างดี บุคคลที่มีความอ่อนแอทางร่างกายมักตกเป็นเหยื่อ เช่น ผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ แต่ในหลายกรณีผู้ชายเองก็อาจตกเป็นเหยื่อได้เช่นกัน

- แรงจูงใจ (Motivation) เป็นปัจจัยภายในตัวของคนร้ายโดยตรง ซึ่งแรงจูงใจนั้นมีหลายประการ มากน้อยแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคลและสภาพการณ์

ก่อนอื่นคงต้องสำรวจตัวเองก่อนว่ามีโอกาสเป็นเป้าหมายของเหล่าอาชญากรหรือไม่ เช่น ใส่เครื่องประดับราคาแพง แต่งตัวไม่เหมาะสม เดินทางไปในสถานที่ที่มีโอกาสเกิดอาชญากรรมได้ง่าย (ที่เปลี่ยว มืด ไม่ค่อยมีผู้คน หรือสถานที่ที่มีการดื่มสุรา เล่นการพนัน ใช้ยาเสพติดหรือแหล่งเสื่อมโทรม) มีเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วยหรือไม่ เพื่อนคนนั้นไว้ใจได้มากน้อยแค่ไหน ทำงานหรือเดินทางในเวลามืดค่ำหรือไม่ อยู่ท่ามกลางคนที่ไม่น่าไว้วางใจหรือไม่ เป็นต้น

สำรวจความพร้อมของตัวเองว่าสามารถรับมือกับภัยคุกคามได้มากน้อยแค่ไหน เช่น เรารู้วิธีการป้องกันตัวด้วยมือเปล่าหรือไม่ เรามีอาวุธหรืออุปกรณ์ที่อาจใช้เป็นอาวุธได้หรือไม่ และมันอยู่ที่ไหน เรามีวิธีหรือโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อบุคคลอื่นหรือขอความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วหรือไม่ หากทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในกระเป๋าถือและถูกคนร้ายชิงไปเราจะทำอย่างไร หากเกิดเหตุการณ์ในรถยนต์ส่วนตัวหรือแท็กซี่เราจะแก้ไขอย่างไร เป็นการสำรวจศักยภาพความพร้อมของตัวเองว่าหากมีภัยคุกคามเกิดขึ้นจะสามารถรับมือได้แค่ไหน

“ตนย่อมเป็นที่พึ่งแห่งตน” การที่คาดหวังว่าจะมีคนอื่นมาช่วยเมื่อเกิดภัยคุกคามนั้น สำหรับสภาพสังคมในปัจจุบันนั้นคงเป็นไปได้ยาก ดังนั้นเราต้องเตรียมตัวและพร้อมที่จะเผชิญสถานการณ์เอง

เมื่อทราบถึงองค์ประกอบของการเกิดอาชญากรรมแล้ว เราก็เพียงแค่ไม่ให้ครบองค์ประกอบทั้งสี่อย่างเท่านั้น ก็จะสามารถลดโอกาสเกิดเหตุร้ายกับเราได้

เรียบเรียงโดย Batman