Thursday, November 12, 2009

Choosing an Aircrew Self-Defense Training Program




 
Choosing an Aircrew Self-Defense Training Program


นาย Henry Williamson ซึ่งเป็น First officer (นักบินมือสองซึ่งมีอำนาจรองจาก Captain หรือบางครั้งเรียกว่า Co-pilot) ได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกเรียนหลักสูตรการป้องกันตัวสำหรับนักบิน (Pilot) และพนักงานบริการบนเครื่องบิน (Flight attendants) ไว้อย่างน่าสนใจ

ตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ 9/11 เมื่อปี 2001 (ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินสหรัฐชนตึก World trade center และ Pentagon ของอเมริกา) ทั้งนักบินและลูกเรือต้องการเครื่องมือในการจัดการความรุนแรงบนเครื่องบิน อาทิเช่น ความวุ้นวายที่เกิดจากผู้โดยสารที่โกรธจัดเอะอะโวยวาย เมาเหล้า หรือสภาพจิตที่ผิดปกติ ซึ่งอาจทำอันตรายลูกเรือได้ ในขณะที่ผู้ก่อการร้ายมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้างหากไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจมากนัก หลังจากเหตุการณ์นั้นอุตสาหกรรมการบินและรัฐบาลเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการฝึกการป้องกันตัวให้กับลูกเรือ

ต่อมาได้มีการออกกฎหมายให้นักบินมีอาวุธเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายและกำหนดให้มีการฝึกอบรมการป้องกันตัวให้กับลูกเรือทุกคน เนื่องจากเวลาอันจำกัดทั้งนักบินและลูกเรือต้องการรูปแบบการฝึกที่มีความก้าวหน้ามากกว่าเก่าซึ่งต้องใช้เวลาเรียนนานกว่าจะสามารถป้องกันตัวเองได้





นาย Henry Williamson เคยผ่านการฝึกศิลปะการต่อสู้มาหลายแขนง รวมทั้งจากประสบการณ์ที่เคยเป็นผู้รักษากฎหมายและเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยการบิน และเคยเข้าฝึกหลักสูตรการป้องกันตัวทั้งจากภาครัฐและเอกชน เขาได้ประมวลหลักการที่คิดว่าลูกเรือควรใช้เพื่อเลือกเรียนหลักสูตรป้องกันตัวที่เหมาะสม

ประการแรก ลูกเรือมีเวลาไม่มากนักที่จะฝึกฝนจึงควรเน้นที่การป้องกันตัวในสภาพการทำงานจริง ก็คือ ที่ชั้นผู้โดยสารหรือห้องนักบิน (cabin/flight deck self-defense) เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เรียนรู้สถานการณ์ที่ไม่ปกติ รู้จักหาสิ่งของรอบกายมาเป็นอาวุธ รวมทั้งวิธีการป้องกันตัวที่มีประสิทธิภาพ

ประการที่สอง การฝึกเหล่านี้ไม่ได้ตั้งเป้าไปที่ การเพิ่มความมั่นใจหรือความแข็งแรงของร่างกาย แต่เรียนรู้วิธีที่จะเอาตัวรอด จะเห็นได้ว่าหลายคนที่เก่งในศิลปะการต่อสู้แต่กลับไม่มีทักษะที่จะป้องกันตัวเองหรือเอาตัวรอดเมื่อเผชิญเหตุการณ์จริง ด้วยครูฝึกที่ดีและมีทัศนคติที่ถูกต้องนักเรียนก็จะสามารถได้รับทักษะที่มีค่าเมื่อเข้ารับการฝึกอบรม

สิ่งที่ต้องพิจารณา
สิ่งแวดล้อม ภายในชั้นผู้โดยสารและห้องนักบินเป็นสถานที่ที่คับแคบมาก (Very confined spaces) อีกทั้งมีสิ่งกีดขวางจำนวนมากเป็นการยากที่จะเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ดังนั้นการเตะสูง (เหนือท้อง) หรือท่าสวยๆ เช่น การกระโดด การหมุนรอบ (spinning) จึงไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมสำหรับลูกเรือที่จะเรียนรู้

ห้องเตรียมอาหาร ห้องน้ำ และทางเดินบนเครื่องบินเป็นสามจุดบอดซึ่งลดเวลาการตอบสนองต่อภัยคุกคามของลูกเรือ การจู่โจมอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่มีการเตือนและในระยะใกล้ (ระยะห่างน้อยกว่า 2 ฟุต) ดังนั้นวิธีในการตอบโต้จึงควรเน้นที่ความรวดเร็ว ใช้ได้ผลในระยะใกล้มากกว่าวิธีที่ใช้ในระยะห่าง

การโจมตี (Striking) และการควบคุมคู่ต่อสู้ (Grappling) การป้องกันตัวที่ดีควรเน้นที่การโจมตีและการควบคุมคู่ต่อสู้ด้วย ซึ่งการโจมตีส่วนมากคือ การชก แต่ควรสอนการใช้ ศอก เข่า รวมทั้งการเตะต่ำ ส่วนการควบคุมคู่ต่อสู้อาจรวมไปถึงการทำให้คู่ต่อสู้ล้มลงกับพื้น (Takedown) หรือการทำให้คู่ต่อสู้ไม่สามารถตอบโต้ได้

อย่าคิดว่าจะเหมือนในภาพยนตร์ เพราะการต่อสู้จริงๆมักจบลงภายในเวลาไม่กี่วินาที เนื่องจากทั้งคู่หรือคนใดคนหนึ่งแยกออกมาเอง (คนส่วนใหญ่ไม่ต้องการที่จะต่อสู้กันอยู่แล้ว) เลิกคิดถึงหมัดเด็จที่จะล้มคู่ต่อสู้ได้ เพราะส่วนใหญ่มักจบลงด้วยการควบคุมคู่ต่อสู้เสียมากกว่าโดยเฉพาะทำให้คู่ต่อสู้ล้มลงกับพื้น

การต่อสู้บนพื้น (Ground fighting skills) ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันหรือตอบโต้ลูกเรือก็ควรเรียนรู้ไว้ นอกจากนั้นควรสามารถนำมาประยุกต์กับการต่อสู้ในท่านั่ง เนื่องจากลูกเรืออาจถูกจู่โจมในขณะที่นั่งอยู่กับเก้าอี้ก็ได้

ความสมจริง (Realism) ฝึกในสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับที่อาจเกิดขึ้นบนเครื่องบิน ดังคำกล่าวของเหล่าทหารที่ว่า “จงฝึกในสภาพที่คุณจะต้องต่อสู้ (Train the way you fight)”

ดังนั้นผู้รับการฝึกจึงควรต้องฝึกด้วยการปะทะจริง มีการใช้กำลัง มีการต่อต้านจากฝ่ายตรงข้าม โดยอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยในการฝึกไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ การใส่ชุดป้องกันในบางกรณีจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ศิลปะการต่อสู้ในแถบเอเชียส่วนใหญ่มักมีรูปแบบในการเคลื่อนไหวของการต่อสู้แน่นอนและต้องใช้เวลานานในการเรียนรู้ ซึ่งอาจไม่เหมาะกับลูกเรือที่ควรเรียนรู้สิ่งที่จะนำมาใช้ได้ในสถานการณ์จริงในเวลาอันจำกัด

อาวุธ (Weapons) เนื่องจากกฎระเบียบลูกเรือจึงถูกห้ามพกพาอาวุธบนเครื่องบิน แต่ก็สามารถหาอาวุธจากสิ่งที่อยู่รอบกายได้ เช่น ขวานสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน (Crash axes) ถังดับเพลิง หรือขวดไวน์ เป็นต้น อาวุธส่วนใหญ่ที่คนร้ายใช้มักเป็นมีดพกหรือปืนพกมากกว่าจะเป็นดาบซามูไรหรือวัตถุยาวหกฟุต ดังนั้นจึงควรเรียนรู้วิธีป้องกันตัวจากอาวุธเหล่านี้เป็นหลัก

ข้อจำกัดทางร่างกาย (Physical limitations) ในอุดมคติลูกเรือก็ควรจะอยู่ในสภาพที่ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงที่สุดเพื่อจะสามารถเผชิญเหตุร้ายได้ดี แต่ในความเป็นจริงไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ แน่นอนว่าในสถานการณ์ความเป็นความตายนั้นความสมบูรณ์ของร่างกายย่อมเป็นปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งในการที่จะรอดชีวิต ดังนั้นพยายามหาหลักสูตรที่ท้าทายสภาพร่างกายของคุณ ดังคำที่ใช้ในหมู่ทหารที่ว่า “ยิ่งคุณเหงื่อออกมากเท่าไรตอนฝึก คุณยิ่งเลือดออกน้อยเท่านั้นในสนามรบ (The more you sweat in training, the less you bleed in combat)” แต่ก็ต้องยอมรับว่าจะมีลูกเรือบางส่วนมีสภาพร่างกายไม่แข็งแรงพอที่จะรับการฝึกให้ครบตามหลักสูตรได้

รูปแบบและคุณภาพการสอน (Instructional quality and style) สำหรับการฝึกฝนในระยะยาว ลูกเรือแต่ละคนควรเลือกโรงเรียนหรือครูฝึกส่วนตัวเพื่อเสริมสร้างทักษะ มีหลักในการเลือกดังนี้ ในชั้นเรียนควรเป็นผู้ใหญ่ทั้งหมด เนื่องจากการฝึกป้องกันตัวไม่ใช่กิจกรรมสำหรับครอบครัว การมีเด็กอยู่ด้วยจะทำให้ความเข้มข้นของการฝึกลดลง

หลีกเลี่ยงหลักสูตรที่เน้นไปที่การแข่งขันหรือการจัดอันดับ สายคาดเอวสี่ต่างๆหรือถ้วยรางวัลไม่ได้เป็นตัวบอกว่าคุณสู้ได้เก่งในชีวิตจริง และถ้าครูฝึกโอ้อวดว่าตนเองมีประสบการณ์ต่อสู้ด้วยมือเปล่ามาอย่างโชกโชน ก็ให้เดินหนีได้เลยเพราะคนส่วนใหญ่ในวัยกลางคนก็สามารถทำเช่นนั้นได้เช่นกันโดยมีบาดแผลเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าสิ่งที่เขาโม้ไว้เป็นเรื่องจริงก็ต้องสงสัยในเรื่องการตัดสินใจหรือการควบคุมตนเองของครูฝึกแล้ว ครูฝึกที่เป็นตำรวจหรือทหารหน่วยพิเศษที่มีประสบการณ์ในการป้องกันตัวด้วยมือเปล่าก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่ง

โดยสรุปยังไม่พบว่าศิลปะการต่อสู้รูปแบบใดรูปแบบเดียวจะเหมาะสมกับการใช้งานในเชิงป้องกันตัวสำหรับลูกเรือ (เรียนรู้ได้ง่ายในเวลาอันสั้น ใช้งานได้จริงในพื้นที่คับแคบ มีการโจมตี การตั้งรับ การต่อสู้บนพื้น การควบคุมคู่ต่อสู้) ถ้าคุณมีเงินและเวลามากพอ หลักสูตรการป้องกันตัวสำหรับลูกเรือโดยเฉพาะ (A tailored aircrew self-defense course) น่าจะเหมาะสมที่สุด (แม้แต่ในอเมริกาเองก็ยังไม่แพร่หลาย) สำหรับการฝึกฝนในระยะยาวซึ่งต้องการทักษะหลายด้านนั้น การเรียนมวยสากลหรือมวยไทยจะมีประโยชน์ในแง่ของการโจมตี Brazilian Jiu-Jitsu จะมีประโยชน์ในเรื่องการควบคุมคู่ต่อสู้และการต่อสู้บนพื้น ส่วน Philippine/Indonesian Martial Art เด่นในเรื่องอาวุธ เช่น ไม้และมีด แต่ก็มีบางโรงเรียนที่นำความรู้เหล่านี้มาสอนผสมกันไปซึ่งก็เป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน

การฝึกการป้องกันตัวแบบผสมผสาน (นำความรู้จากหลายวิชามาประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์) น่าจะเหมาะสมที่สุดสำหรับลูกเรือและบุคคลทั่วไป

สุดท้ายนี้ขอให้ตั้ง “สติ” ทุกครั้งเมื่อเผชิญเหตุ และขอให้ “พลังจงอยู่กับท่าน”

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Choosing an Aircrew Self-Defense Training Program ของ Henry Williamson

No comments:

Post a Comment