Monday, October 26, 2009

Thai Self-Defense























Thai Self-Defense


ในสังคมปัจจุบันภัยคุกคามต่อสวัสดิภาพของประชาชนมีเป็นจำนวนมากและหลายรูปแบบโดยเฉพาะภัยคุกคามที่เกิดจากมนุษย์ด้วยกันเอง การเอาตัวรอดจากภัยคุกคามเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ “สติ” และการเรียนรู้วิธีเอาตัวรอดเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน

การป้องกันตัว (Self-defense) จากภัยคุกคามในชั้นประชาชนนั้นแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ คือ การป้องกันตัวด้วยมือเปล่า การป้องกันตัวด้วยอาวุธ เช่น มีด ปืน การป้องกันตัวด้วยอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ไม่ใช่อาวุธโดยสภาพ เช่น ปากกา เชือก ไม้ กระบองสั้น ผ้า หนังสือ ร่ม ไม้เท้า ไฟฉาย เป็นต้น

ผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุและผู้มีความพิการทางร่างกายมักเป็นเหยื่อของภัยคุกคามเพราะโดยสภาพร่างกายแล้วอ่อนแอกว่าคนร้ายซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย แต่ก็มีหลายกรณีที่เหยื่ออาจเป็นผู้ชายได้ ดังนั้นทุกเพศ ทุกวัย มีโอกาสเป็นเหยื่อได้ทั้งสิ้น อย่าคิดว่าสิ่งเลวร้ายเหล่านั้นคงจะไม่เกิดกับเรา หากคิดเช่นนั้นแสดงว่ากำลังตั้งอยู่ใน “ความประมาท” ควรคิดว่าเราจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านั้นได้อย่างไรหรือหากเกิดขึ้นแล้วจะแก้ไขสถานการณ์อย่างไร และสุดท้ายเราจะบรรเทาผลกระทบที่เลวร้ายนั้นได้อย่างไร

การป้องกันตัว (Self-defense) และการต่อสู้ (Fighting) ในหลายกรณีมีความหมายคาบเกี่ยวกันอยู่ บางครั้งอาจไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจน สำหรับ Thai self-defense จะขอเน้นที่ “การป้องกันตัว” เป็นหลัก เราไม่สนับสนุนให้ใช้ความรู้เหล่านี้เพื่อนำไปคุกคามผู้อื่น

สิ่งแรกที่เราต้องทำเมื่อเผชิญเหตุร้าย คือ การตั้ง “สติ” หลังจากนั้นให้ประเมินสถานการณ์ ถ้าคนร้ายมุ่งหวังเพียงทรัพย์สินของเราหากไม่ใช่สิ่งที่มีค่ามากมายอะไรนักก็อย่าไปเสียดาย ไม่ควรเอาชีวิตและร่างกายไปเสี่ยง แต่หากคนร้ายมุ่งหวังเอาชีวิตหรือทำร้ายร่างกายของเราก็คงต้อง “ทำทุกวิถีทาง” เพื่อให้รอดชีวิต คิดหาวิธีเอาตัวรอด มองหาความช่วยเหลือทั้งจากคนรอบข้างและสิ่งของรอบตัว

การป้องกันตัวไม่ได้หมายความเพียงแค่การใช้กำลังเข้าแก้ไขสถานการณ์อย่างเดียว การพูดจากับคนร้ายอย่างเหมาะสม การเจรจาต่อรอง หรือแม้แต่การอยู่นิ่งๆอย่างสงบในหลายกรณีก็ช่วยได้มาก และหากเรามีทักษะอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น การป้องกันตัวด้วยมือเปล่า การใช้อาวุธมีด การใช้อาวุธปืน การใช้กระบองสั้น หรือเรามีอุปกรณ์อย่างอื่น เช่น สเปรย์พริกไทย ไฟฉาย ปากกา ร่ม หรือแม้แต่หนังสือและรู้วิธีการใช้อย่างเหมาะสม ทำให้เรามีทางเลือกมากขึ้นที่จะใช้ทักษะหรืออุปกรณ์เหล่านั้นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ซึ่งกำลังเผชิญอยู่

การป้องกันตัวด้วยมือเปล่าถือเป็นพื้นฐานสำคัญ เพราะมือและเท้าเป็นอวัยวะที่อยู่กับเราตลอด หากเรียนรู้การใช้อวัยวะของตัวเราเองให้เกิดประโยชน์ในการป้องกันตัวอย่างดีแล้วก็จะสามารถเอาตัวรอดในสถานการณ์ส่วนใหญ่ได้ การใช้อุปกรณ์อื่นช่วย เช่น มีด ปืน นั้นจำเป็นที่เราจะต้องพกหรือมีอาวุธเหล่านั้นอยู่กับตัวหรือใกล้ตัว จึงควรให้ความสำคัญในลำดับรองลงไป

การเรียนรู้การใช้อาวุธเพื่อป้องกันตนเองนั้นนอกจากจะทำให้เรามีทางเลือกในการเอาตัวรอดมากขึ้น เรายังรู้ถึงข้อจำกัดของอาวุธแต่ละอย่างด้วย และเราสามารถดูออกว่าผู้ที่ถืออาวุธนั้นได้ผ่านการฝึกมาหรือไม่จะได้ไม่กลัวจนเกินเหตุ

ในกรณีของอาวุธปืนนั้นขอให้ใช้เฉพาะในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินที่ “บ้าน” เป็นหลัก หรือใช้ในกรณีที่เราต้องเดินทางไปในสถานที่ที่อันตรายหรืออาจเกิดอันตรายโดยไม่อาจเลี่ยงที่จะไปได้ และผู้ที่ใช้อาวุธปืนควรเป็นผู้ซึ่งได้รับการฝึกฝนการใช้อาวุธปืนมาอย่างเหมาะสมและต้องมีความรับผิดชอบสูง มิเช่นนั้นหากใช้อาวุธปืนไปในทางที่ผิดจะเกิดความเสียหายอย่างมาก

ศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่านั้นมีหลายชนิด อาทิเช่น มวยไทย วูซู ของจีน ยูโด (Judo) จูจิทสู (Jujitsu) ไอคิโด (Aikido) เทควันโด (Taekwondo) ฮับกิโด (Hapkido) คาราเต้ (Karate) นินจิทสู (Ninjitsu) คร๊าฟ มากา (Krav Maga) ของอิสราเอล สิสเต็มมา (Systema) และแซมโบ (Sambo) ของรัสเซีย คาโปเอล่า (Capoiera) ซาวาจ (Savate) ของฝรั่งเศส การต่อสู้แบบผสมผสาน (Mixed martial art, MMA) การเลือกเรียนศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวนั้น สิ่งแรกที่เราจะต้องถามตัวเองก่อนก็คือ ต้องการเรียนเพื่อวัตถุประสงค์อะไร เรียนเพื่อการกีฬา เพื่อป้องกันตัวเองหรือทั้งสองอย่าง

ในวิชาการต่อสู้เหล่านี้เมื่อถูกนำมาเป็นกีฬาจำเป็นต้องลดทอนความรุนแรงลงเพื่อความปลอดภัยของนักกีฬา และต้องทำการฝึกฝนนานหลายปีกว่าจะชำนาญ ในบางสถานการณ์การเรียนรู้การต่อสู้ในเชิงกีฬาอาจไม่สามารถช่วยแก้ไขสถานการณ์ได้ (เนื่องจากถูกตัดทอนออกไปจากกระบวนการฝึก)

ถ้าต้องการเรียนเพื่อเป็นนักกีฬาก็จำเป็นต้องฝึกฝนในวิชาการต่อสู้นั้นๆอย่างจริงจังซึ่งมักใช้เวลาหลายปี แต่หากต้องการฝึกเพียงเพื่อป้องกันตัวเองการเข้าเรียนการต่อสู้เหล่านี้ก็อาจต้องใช้เวลานานเกินไปกว่าจะสามารถมีทักษะมากพอที่จะเอาตัวรอดได้จากสถานการณ์ส่วนใหญ่ และทักษะบางอย่างอาจไม่จำเป็นสำหรับการนำมาใช้เพื่อป้องกันตัว

การเรียนรู้การป้องกันตัวเองแบบผสมผสานน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนทั่วไป เนื่องจากเรียนรู้เฉพาะทักษะที่จำเป็นในการเอาตัวรอดจากสถานการณ์ที่เลวร้าย เช่น การถูกฉุดกระชาก การถูกจี้ด้วยมีด การถูกจี้ด้วยปืน การถูกตีด้วยไม้ ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่พบบ่อย เรียนรู้จุดอ่อนและข้อจำกัดของร่างกาย เรียนรู้การใช้ความได้เปรียบทางสรีระ เรียนรู้การใช้วัสดุอุปกรณ์รอบกายมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งทักษะการเอาตัวรอดจากสถานการณ์เหล่านี้สามารถช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้

หลักของการป้องกันตัวไม่ว่าจะใช้อาวุธหรือมือเปล่าก็คือ “อย่าคิดว่าเป็นกีฬา” เพราะในสถานการณ์จริงนั้นเราต้องทำทุกอย่างเพื่อเอาตัวรอด ดังนั้นไม่มีคำว่า “ผิดกติกา” นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งซึ่งหากเราฝึกเพื่อการกีฬาเราจะถูกสอนให้ห้ามทำบางอย่างซึ่งอาจผิดกติกาเมื่อใช้ในการแข่งขัน แต่อาจมีประโยชน์ในสถานการณ์ที่มีชีวิตเป็นเดิมพัน

การจะได้มาซึ่งคำว่า ผู้มี “ทักษะ” นั้นจำเป็นต้องมีการฝึกฝนบ่อยๆ มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของสิ่งที่เรียนรู้และความสามารถเฉพาะตัว ในสถานการณ์หนึ่งๆนั้นการป้องกันตัวอาจมีได้หลายรูปแบบเราควรเลือกวิธีที่เรียบง่าย (ง่ายทั้งการจดจำและการกระทำ) ตามหลักที่ว่า Simple is good หรือ S.I.G. principle

Thai Tactical Shooting Club (TAS) มีหลักสูตรสอนการเอาตัวรอดในสถานการณ์วิกฤติให้กับองค์กรที่สนใจ (เรียน 1 วัน รับผู้รับการฝึกอบรมประมาณ 20 ถึง 30 ท่าน) เรียกว่า TAS Defensive Course โดยคณะครูฝึกที่มีความชำนาญ และได้สอดแทรกทักษะนี้ให้กับผู้รับการฝึกยิงปืนในระดับเบื้องต้น (TAS force 1) ด้วย

Easy Defense Club เป็นอีกชมรมหนึ่งซึ่งสอนการเอาตัวรอดให้กับประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับการป้องกันตัวด้วยมือเปล่า การใช้อาวุธมีด และอื่นๆ ผู้รับการฝึกสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ได้

เรียบเรียงโดย Batman

No comments:

Post a Comment