Friday, December 31, 2010

No Fair Fight

No Fair Fight



ในสภาพการต่อสู้ป้องกันตัวบนท้องถนน (Street fighting) หรือการก่ออาชญากรรมโดยใช้กำลัง ไม่มีคำว่า การต่อสู้อย่างยุติธรรม (No Fair Fight) คนร้ายทุกคนต่างพยายามสร้างความได้เปรียบให้กับตัวเองเสมอ


คนร้ายเมื่อเลือกเหยื่อก็จะเลือกบุคคลที่อ่อนแอกว่าตน เช่น ผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ หรือคนซึ่งมีร่างกายแข็งแรงน้อยกว่าตัวเอง คนร้ายอาจอาศัยพวกที่มากกว่าในการก่อเหตุ หรือใช้อาวุธที่เหนือกว่าเหยื่อ เป็นการสร้างความได้เปรียบในทุกรูปแบบเพื่อเพิ่มโอกาสสำเร็จในการก่อเหตุ


ดังนั้นจงตระหนักไว้ว่าเมื่อเราตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมความรุนแรง เป็นไปได้สูงที่คนร้ายจะมีความได้เปรียบเราในด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้าน เช่น สภาพร่างกายที่แข็งแรงกว่า มีอาวุธ หรือ มีพวกมากกว่า


มีหลักการป้องกันตัวที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งควรใส่ใจไว้เสมอ เมื่อจำเป็นต้องใช้กำลังในการแก้ไขภัยคุกคามร้ายแรง


- ถ้าเป็นไปได้ให้ใช้อาวุธที่ “เหนือกว่า” คนร้ายเสมอ เช่น ถ้าคนร้ายไม่มีอาวุธ หากเรามีอาวุธก็จะเพิ่มโอกาสรอดได้มากขึ้น เราจึงควรมองหาสิ่งของรอบตัวซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นอาวุธได้ หากคนร้ายมีมีด เราก็ควรหาอาวุธที่สร้างความได้เปรียบ เช่น ไม้ยาว เก้าอี้ ปืน เป็นต้น หากคนร้ายมีปืนพก แต่เรามีปืนลูกซองก็จะได้เปรียบทันที


- ถ้าไม่มีอาวุธที่เหนือกว่าคนร้าย อย่างน้อยก็ควรเป็นอาวุธที่ “ทัดเทียมกัน” เช่น ถ้าคนร้ายมีไม้ยาว เราก็ควรมีไม้ยาวด้วย ถ้าคนร้ายมีปืนพก อย่างน้อยเราก็ควรมีปืนพกพร้อมใช้งานเช่นกัน หากคนร้ายมีมีดอย่างน้อยเราก็ควรมีมีดอยู่ด้วย


- ถ้าคนร้ายมีอาวุธแต่เราไม่มีอาวุธที่ดีกว่าหรือทัดเทียมกัน ก็ต้องอาศัยทักษะการป้องกันตัวด้วยอาวุธที่ด้อยกว่าเท่าที่จะหาได้หรือด้วยมือเปล่า (Hand to hand combat) หากเราฝึกฝนมาก็จะเพิ่มโอกาสรอดมากกว่าคนซึ่งไม่มีความรู้ด้านนี้ เช่น หากคนร้ายมีปืนหรือไม้ยาวแต่เรามีมีด ถ้าเรารู้จักการใช้มีดอย่างถูกต้องในการป้องกันตัวก็จะเพิ่มโอกาสรอดได้มากขึ้น ยิ่งเรามีทักษะการป้องกันตัวด้วยแล้วจะลดความได้เปรียบของคนร้ายลง


ในการป้องกันตัวนั้นให้ตั้งเป้าหมายไว้ที่การเอาตัวรอดปลอดภัยหรือบาดเจ็บน้อยที่สุด มากกว่าที่จะพยายามเอาชนะคู่ต่อสู้หรือคนร้ายโดยการพิชิตเขาให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะยิ่งการต่อสู้ยาวนานขึ้นเท่าไร ตัวเราเองยิ่งตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น จึงควรรีบถอยห่างออกจากสถานการณ์ร้ายให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้


สุดท้ายนี้ขอให้ตั้ง “สติ” ทุกครั้งเมื่อเผชิญเหตุ และขอให้ “พลังจงอยู่กับท่าน”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากหลักสูตร Kapap ของ Avi Nardia

Friday, December 24, 2010

(ห่าง) บ้าน (ให้) ปลอดภัย

(ห่าง) บ้าน (ให้) ปลอดภัย



ผมให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของบ้านเป็นอันดับแรก เพราะกำแพงบ้านเป็นปราการด่านสุดท้ายที่จะกั้นคุณจากผู้ไม่ประสงค์ดีไม่ให้เข้ามาทำร้ายคุณได้ โดยแนะนำให้คุณปรับปรุงบ้านให้พร้อมรับมือกับการรุกรานทุกรูปแบบ แต่ยังมีคำถามหนึ่งซึ่งสำคัญมากนั้นก็คือ “ทำอย่างไรดีถ้าต้องทิ้งบ้านไปหลายวัน”


ทั้งนี้เพราะตามปกติเราทุกคนก็มักออกจากบ้านไปทำงานในช่วงกลางวันหรือกลางคืนเป็นประจำซึ่งก็เป็นช่วงเวลาสั้นๆ หากมีสมาชิกในครอบครัวคนอื่นคอยดูแลบ้านแทนคุณก็จะดีอย่างมาก แต่เมื่อคุณทั้งครอบครัวต้องทิ้งบ้านไปหลายวัน ช่วงเวลาที่เนิ่นนานทำให้คนร้ายมีเวลาเหลือเฟือที่จะหาหนทางบุกรุกบ้านคุณ ดังนั้นวิธีป้องกันบ้านในช่วงที่คุณไม่อยู่จึงต้อง “ไม่ธรรมดา”


เมื่อคุณต้องพาครอบครัวทิ้งบ้านไปหลายวัน แนวทางปฏิบัติเพื่อคุ้มครองบ้าน คือ “อย่าให้ใครรู้” โดย


1. คุณควรบอกงดรับหนังสือพิมพ์รายวัน, นมขวด หรือยาคูล ฯลฯ เป็นการชั่วคราว หนังสือพิมพ์ที่กองอยู่เต็มกล่องรับเอกสารหน้าบ้าน จะฟ้องคนร้ายว่าคุณไม่อยู่ แต่ถ้าคุณสนิทกับเพื่อนบ้านที่ประตูติดกัน คุณอาจขอให้เขาเดินมาหยิบเอกสารหรือเครื่องอุปโภค บริโภคที่มาส่งประจำวันไปเก็บไว้แทนคุณก็ได้


2. ถ้าคุณมีเครื่องตอบรับโทรศัพท์ในบ้าน อย่าบันทึกข้อความประมาณว่า “ขณะนี้ผมพาครอบครัวไปพักผ่อนต่างประเทศ โปรดฝากเบอร์โทรไว้อาทิตย์หน้าผมจะกลับมา” แต่ให้ใช้ข้อความดังนี้ “ขณะนี้ผมยังรับสายไม่ได้ โปรดฝากข้อความไว้อีกสักครู่จะโทรกลับไป”


3. หาซื้อเครื่องตั้งเวลาเปิดปิดไฟอัตโนมัติ เอาชนิดที่ตั้งเวลาเปิดปิดไฟได้เป็นช่วงๆเพื่อมาตั้งเวลาเปิดไฟหน้าบ้าน ทีวี ไฟห้องนอน ตามเวลาที่คุณเคยปฏิบัติ อย่างนี้อาจเปลืองไฟบ้าง แต่มั่นใจได้ว่าไม่มีใครรู้ว่าคุณไม่อยู่บ้าน

4. ถ้าประตูรั้วกับประตูบ้านไม่ห่างกันมากหรือคุณอยู่ในอาคารชุดที่ประตูห้องอยู่ติดๆกัน คุณควรหารองเท้าผู้ชายมาวางไว้หน้าประตูบ้าน (ขอเพื่อนหรือหาซื้อเก็บไว้) ประหนึ่งว่าคุณมีผู้ชายอยู่ในบ้าน กรณีนี้ใช้ได้ทั้งเวลาที่คุณไม่อยู่หรืออยู่บ้านคนเดียว แต่ต้องการสร้างภาพว่ามีผู้ชายอยู่ด้วย


5. อย่าล็อคกุญแจหน้าบ้านจากด้านนอก เพราะมันฟ้องคนร้ายว่าคุณไม่อยู่บ้านหากคุณอยู่บ้านเดี่ยว ควรล็อคกุญแจหน้าบ้านจากด้านในแล้วออกจากบ้านทางประตูหลัง ถึงคุณจะคล้องกุญแจด้านนอกก็ไม่มีคนเห็น แล้วคุณก็ออกจากบ้านทางประตูรั้วโดยไม่คล้องกุญแจด้านนอกของประตูเช่นเคย อย่างนี้คนร้ายดูจากด้านนอกรั้วก็ไม่รู้ว่าคุณไม่อยู่ แต่ในกรณีที่คุณอยู่อาคารชุด ควรใช้กุญแจแบบไขเข้าที่แข็งแรงมากๆโดยไม่ต้องติดสายยูคล้องกุญแจเพิ่มภายนอก อย่าลืมว่ากุญแจแข็งแรงแค่ไหนก็กันคนร้ายไม่ได้ ถ้าเขารู้ว่าคุณไม่อยู่และเขามีเวลามากพอ


6. หากคุณคิดจะใช้บริการ “ฝากบ้านกับตำรวจ” ที่กำลังโปรโมทกันขณะนี้ ก็ขอให้ฉุกคิดสักนิดว่าเหตุใดจึงทำให้คุณลืมผู้ช่วยที่ดีที่สุดไปเสียได้ นั่นคือ เพื่อนบ้านรั้วติดกันนั่นไง เพื่อนบ้านที่ล้อมรอบตัวคุณอยู่จะเป็นหูเป็นตาคอยดูแลบ้านให้คุณอย่างดีที่สุด ก่อนออกเดินทางคุณก็แจ้งให้เพื่อนบ้านให้รู้ ยืนยันกับเขาว่าคุณไม่ได้สั่งให้ใครมาจัดการย้ายของ ซ่อมบ้านหรือจัดการอะไรเกี่ยวกับบ้านทั้งนั้น ให้เขาช่วยมองดูบ้านคุณคนละเล็กละน้อย ดีกว่าแจ้งตำรวจให้วนมาดูแค่วันละครั้ง สองครั้ง แต่ถ้าคุณพบว่าตัวเองไม่สนิทสนมกับใครพอจะไหว้วานได้ ก็ควรเริ่มผูกสัมพันธ์เอาไว้ได้แล้ว เรื่องน่าเสียใจกว่าการสูญเสียทรัพย์สินก็คือ การไม่มีเพื่อนบ้านนี่แหละ


“มิตรสหายที่ห้อมล้อมคุณจะเป็นปราการป้องกันภัยที่มั่นคงกว่ากำแพงอิฐปูนที่มนุษย์ทุกคนสร้างขึ้นมากักขังตัวเองมากนัก”


เรียบเรียงโดย Snap shot

Friday, December 17, 2010

Expandable Baton

Expandable Baton



กระบองสั้น หรือ ดิ้ว หรือ Baton หรือ Truncheon โดยปกติหมายถึง กระบองยาวน้อยกว่าหนึ่งช่วงแขน ซึ่งทำมาจากวัสดุหลายอย่าง เช่น ไม้ พลาสติก โลหะ ยาง เป็นต้น มักใช้ในกลุ่มผู้รักษากฎหมาย ผู้รักษาความปลอดภัย ทหาร ในการป้องกันตัวด้วยอาวุธที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิตน้อย (Less lethal weapons)


Baton นอกจากใช้ในการป้องกันตัวหรือต่อสู้กับคนร้ายแล้ว ในหลายครั้งถูกใช้เพื่อกระแทกกระจกให้แตก แล้วพาผู้ประสบภัยหลบหนีออกจากอาคารหรือรถยนต์ที่มีเพลิงไหม้


ในยุโรปมีการใช้กระบองสั้นเป็นอาวุธประจำกายอย่างเป็นทางการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรุงลอนดอนเมื่อ ค.ศ. 1848 ขณะนั้นเรียกว่า Billy clubs ทำมาจากไม้ ต่อมามีการใช้วัสดุสังเคราะห์ในการผลิต โดยมักมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.25 นิ้ว ยาวประมาณ 18 ถึง 36 นิ้ว เซาะร่องทำด้ามจับเพื่อให้ถือถนัดมือ Baton ที่มีลักษณะยาวกว่านี้มักใช้ในการควบคุมฝูงชน เรียกว่า Riot batons


จนกระทั้งช่วงต้นปี ค.ศ. 1990s ตำรวจอังกฤษก็เปลี่ยนมาใช้ กระบองสั้นที่มีด้ามจับยื่นออกมาด้านข้าง ที่เรียกว่า Side-handle batons หรือ T-baton หรือ Nightsticks หรือใช้กระบองสั้นที่ยืดหดได้ ที่เรียกว่า Expandable batons หรือ Collapsible batons


Side-handle batons ได้รับอิทธิพลมาจาก Tonfa ของญี่ปุ่นที่เรียกว่า Okinawan kobudo weapon ปกติแล้วด้ามจับจะยื่นตั้งฉากออกมาห่างจากปลายด้านหนึ่งประมาณ 6 นิ้ว โดยส่วนด้ามยาวที่เหลือจะยาวประมาณ 24 นิ้ว วิธีการใช้ก็คล้ายกับ Tonfa แต่ปกติ Tonfa จะใช้สองอัน ส่วน Side-handle batons จะใช้อันเดียว


Side-handle batons ในปัจจุบันมีการผลิตทั้งที่ส่วนด้ามยาวของกระบองยืดหดได้กับแบบตายตัว และทำจากวัสดุหลายชนิด เช่น ไม้, Polycarbonate, Epoxy และ อลูมิเนี่ยม เป็นต้น ส่วนของด้ามจับที่ยื่นออกมาบางรุ่นสามารถถอดออกได้จึงสะดวกในการพกพามากขึ้น แต่ความแข็งแรงก็ด้อยลงและเสียเวลาในการประกอบ


ข้อดีของการใช้ Side-handle batons เมื่อเทียบกับกระบองสั้นแบบตรง (a straight baton) ทั่วไป คือ มีวิธีการใช้งานที่หลากหลายกว่า เป็นการยากกว่าที่จะถูกปลดกระบองออกจากมือผู้ใช้ เมื่อกระบองตกพื้นส่วนของด้ามจับที่ยื่นออกมาจะช่วยป้องกันไม่ให้กระบองกลิ้งไปไกลออกห่างตัว ผู้เชี่ยวชาญบางท่านคิดว่า Side-handle batons ให้แรงตีที่รุนแรงกว่ากระสั้นแบบตรงทั่วไป อีกทั้งใช้ในการป้องกันและรุกไล่ได้ดีกว่าด้วย


ข้อเสียของการใช้ Side-handle batons ก็เช่น ต้องการการฝึกฝนมากกว่าการใช้กระบองสั้นแบบตรง น้ำหนักมากกว่า พกซ้อนได้ยากกว่า ถ้าจะถือใช้งานแบบกระบองสั้นทั่วไปก็อาจมีประสิทธิภาพด้อยกว่า เป็นต้น


Expandable baton มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น collapsible baton, telescopic baton, tactical baton, spring cosh, extendo เป็นต้น ประกอบด้วยท่อโลหะกลม 3 ถึง 4 ท่อ (แล้วแต่การออกแบบ แต่ส่วนใหญ่เป็น 3 ท่อ) ซึ่งซ้อนกันอยู่สามารถยืดหดได้คล้ายกล้องส่องทางไกลแบบตาเดียวของชาวตะวันตก โดยปลายกระบองจะมีปุ่มโลหะแข็ง (Tip) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ให้แรงปะทะสูงสุด


ปัจจุบันยี่ห้อซึ่งมีชื่อเสียงที่สุดของ Expandable baton คือ ASP (Armament Systems and Procedures) มีการทำซองใส่ Expandable baton สำหรับเหน็บเอวเพื่อการใช้งานประจำวัน เป็นซองซึ่งออกแบบให้สามารถเหน็บได้แม้ยังไม่หดกระบองกลับเข้าด้าม


Expandable baton มีกลไกการเปิดใหญ่ๆอยู่ 2 รูปแบบ คือ โดยการใช้แรงสะบัดของข้อมือในการเหวี่ยงยืดกระบองออก แล้วล็อกด้วยความฝืด (Friction) เวลาปิดก็ต้องเอาปุ่มปลายกระบอง (Tip) กระแทกพื้นหรือวัตถุแข็งอย่างแรงเพื่อหดกระบองกลับเข้าด้าม อีกรูปแบบหนึ่งใช้การกดปุ่มที่ด้ามเพื่อยืดกระบองออก เวลาปิดก็กดปุ่มแล้วใช้มือดันกระบองหดกลับ (ใช้แรงน้อยกว่าการกระแทกพื้นมาก)


คุณภาพของ Expandable baton ขึ้นกับวัสดุที่ใช้ทำกระบอง ระบบล็อกที่เชื่อถือได้ ความยาวของกระบอง


ข้อดีของ Expandable baton เมื่อเทียบกับกระบองสั้นแบบตรงทั่วไป คือ ความสะดวกในการพกพาหรือพกซ่อน เพราะเมื่อหดกระบองแล้วจะเหลือความยาวประมาณ 6 ถึง 10 นิ้ว เท่านั้นเอง มีผลทางจิตวิทยาเมื่อเห็นหรือได้ยินเสียงการสะบัดเปิดกระบองอย่างรวดเร็วเป็นการข่มขวัญคนร้าย นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่าการพก Expandable baton ให้บรรยากาศที่เป็นมิตรมากกว่าการพกกระบองสั้นแบบตรงทั่วไป อีกทั้งสามารถใช้กระบองได้ทั้งขณะหดและยืด (กระบองที่ยังหดอยู่อาจใช้ในระยะประชิดมากๆ เมื่อยืดออกก็เพิ่มระยะการโจมตีออกไป)


ข้อเสียของ Expandable baton อาทิเช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนเชื่อว่าการพกกระบองสั้นแบบตรงทั่วไปทำให้เขาดูมีอำนาจมากกว่า ทำให้ผู้ต้องสงสัยหรือคนร้ายเชื้อฟังคำสั่งมากขึ้น กระบองสั้นแบบตรงทั่วไปมักราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับขนาดและวัสดุแบบเดียวกัน ในการใช้งานอย่างฉับพลันแล้วกระบองสั้นแบบตรงทั่วไปจะพร้อมใช้งานมากกว่าเพราะไม่ต้องเสียเวลายืดกระบองออกมาก่อน ในสถานการณ์ที่ต้องการความเงียบการสะบัดเปิดกระบองหรือกดปุ่มเปิดกระบองจะทำให้เกิดเสียงบ่งบอกตำแหน่งของเราออกไป


ประโยชน์หลักๆของกระบองสั้นไม่ว่าจะเป็นแบบใดมี 3 ประการ คือ ป้องกันการโจมตี (Defense), การบุกโจมตี (Offense) และการช่วยควบคุมคนร้าย (Control)


ในปัจจุบันมีการออกแบบและพัฒนาวัสดุที่ใช้ทำ Expandable baton อย่างหลากหลาย และมีอุปกรณ์เสริมให้เลือกใช้มากขึ้น โดย ASP ซึ่งเป็นผู้นำในระบบล็อกแบบ Friction มีความยาวให้เลือกใช้ 3 ขนาด คือ 16 นิ้ว, 21 นิ้ว (นิยมมากที่สุด) และ 26 นิ้ว (แต่ก่อนมีขนาด 31 นิ้ว แต่เลิกผลิตไปแล้ว) อีกยี่ห้อหนึ่งซึ่งเป็นผู้นำในระบบล็อกที่ใช้กลไกซับซ้อน คือ Monadnock เช่น รุ่น PR 24 expandable batons, AutoLock batons ซึ่งมีหลายความยาวให้เลือกใช้ เช่น 16 นิ้ว, 18 นิ้ว, 21 นิ้ว, 22 นิ้ว และ 26 นิ้ว เป็นต้น


โดยส่วนตัวแล้วควรเลือกรุ่นที่มีน้ำหนักเบา เช่น Airweight ของ ASP (น้ำหนักเบากว่ารุ่นซึ่งทำจากเหล็กทั่วไปประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์) ถึงแม้ความแข็งแรงคงทนอาจด้อยกว่าบ้าง แต่สะดวกในการพกพาและใช้งานโดยเฉพาะผู้หญิง (แนะนำให้ใช้ความยาว 16 นิ้ว เนื่องจากผู้หญิงไทยตัวเล็ก กระบองขนาดสั้นลงจะพกพาง่ายขึ้นและน้ำหนักเบากว่าขนาดอื่น แต่ไม่ควรใช้ยาวเกิน 21 นิ้ว) สำหรับผู้ชายแล้วกระบองยาว 21 หรือ 26 นิ้วใช้ได้ทั้งสิ้น


สำหรับประชาชนทั่วไป Expandable baton ซึ่งพกซ่อนหรือพกติดตัวได้ง่าย หากรู้วิธีใช้อย่างถูกต้องจะสามารถใช้ในการป้องกันตัวจากภัยคุกคามร้ายแรงได้อย่างดี และเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งซึ่งผู้หญิงตัวเล็กๆสามารถใช้ป้องกันตัวเองจากภัยคุกคามในสังคมได้


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจาก ASP, Monadnock, Wikipedia

Saturday, December 11, 2010

สายล่อฟ้า

สายล่อฟ้า



การป้องกันตัวในระบบของ Thai self-defense นั้นแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ คือ


1. ระยะประชิด คือ ระยะที่ใกล้ขนาดโอบกอดฉุดรั้งจับมือถือแขน ซึ่งเป็นระยะที่อันตรายสำหรับมือใหม่ทั่วไป แต่ไม่อันตรายที่สุดหากไม่มีอาวุธเข้ามาเกี่ยวข้อง


2. ระยะใกล้ คือ ระยะที่ห่างกันประมาณช่วงแขน เป็นระยะที่คนร้ายใช้อาวุธมีด ปืน จี้บังคับ ระยะนี้อันตรายเพิ่มขึ้น แต่ยังพอป้องกันตัวได้เพราะคนร้ายยังไม่มีเจตนาทำร้ายคุกคามทันที


3. ระยะกลาง คือ ถอยห่างออกมาอีกเล็กน้อย ประมาณ 1 เมตร แต่อันตรายสุดๆ เพราะเป็นระยะที่คนร้ายใช้หมัด เท้า ชก ต่อยหรือเตะคุณได้ รามทั้งใช้อาวุธมีด ไม้ ดาบ โจมตีคุณ ที่อันตรายคือ ความเร็วและแรงของการโจมตี แต่ยังพอมีวิธีป้องกันได้


4. ระยะไกล คือ ระยะจาก 1 เมตรออกไปจนไม่สิ้นสุด อันตรายถึงเลือดเนื้อน้อยกว่าแต่ป้องกันได้ยาก เพราะเราไม่รู้ว่าคนร้ายจะเล่นงานมาจากทิศไหน นี่หมายถึงกรณีที่คนร้ายใช้ปืนหรืออาวุธขว้างอื่นๆ เล่นงานเราจากระยะที่เราเอื้อมไม่ถึงหรือมองไม่เห็น อีกกรณีหนึ่งคือ คนที่หวังร้ายกับเราแต่ไม่เล่นงานเราโดยตรง กลับใช้ช่องทางสื่อสารที่มีอยู่มากมายในปัจจุบันติดต่อหลอกลวงเราสารพัดวิธี ทำให้เราสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง หรือหากเป็นผู้หญิงก็อาจต้องเสียเนื้อเสียตัว เพราะถูกหลอกลวงโดยคนที่รู้จักกันในอินเตอร์เนต บ้างก็บุกรุกเข้าบ้านของเราทางจุดอ่อนต่างๆดังที่ได้เขียนไว้ในบทความเรื่อง “บ้านปลอดภัย” ก่อนหน้านี้ แต่กรณีที่อันตรายที่สุดเพราะผลของมันอาจทำลายได้ทั้งชีวิตให้ย่อยยับลงไปอย่างไม่น่าเชื่อ ขณะเดียวกันก็ป้องกันได้ยากที่สุด เพราะผลร้ายนี้ไม่ได้มาจากคนร้ายหรือศัตรูของเรา แต่มาจากคนประเภทหนึ่งที่ผมขอเรียกว่า “สายล่อฟ้า”


คุณเคยเจอบุคคลเหล่านี้หรือไม่ คนซึ่งมีอะไรหลายอย่างที่เราไม่มี เช่น ความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมากๆ ความคิดริเริ่มแปลกใหม่ ความกล้าที่จะทำอะไรอย่างบ้าบิ่น อวดอ้างถึงทักษะรอบรู้ไปเสียทุกเรื่อง พร้อมที่จะตัดสินใจและเป็นผู้นำในทุกกิจกรรม ไม่ลังเลที่จะออกหน้าปกป้องใครก็ตามที่เขาต้องการ สิ่งเหล่านี้ทำให้เขามีคนชื่นชมและยึดถือเป็นแบบอย่าง ไว้เนื้อเชื่อใจถือว่าเป็น “เพื่อน” เราพร้อมจะเชื่อทุกอย่างที่เขาพูด ติดตามเขาในทุกกิจกรรมและทำทุกอย่างที่เขาทำหรือชักชวนให้เราทำ แม้หลายครั้งมันจะขัดกับคำตักเตือน คำสั่งสอนของพ่อ แม่ ครูบาอาจารย์ หรือขัดกับวิจารณญาณ และมโนธรรมของเรา แต่เราก็พร้อมจะฝ่าฝืนโดยไม่ระแวงเลยว่าเรากำลังยืนอยู่ใกล้ “สายล่อฟ้า” ที่อาจชักนำอันตรายร้ายแรงมาสู่ตัวเราอย่างไม่ตั้งใจ


พวก “สายล่อฟ้า” นั้นส่วนมากก็มีอะไรดีๆอยู่ไม่น้อย ไม่เช่นนั้นคุณคงไม่ปลื้มหรอก และสิ่งเหล่านี้เองที่ผลักดันให้บางคนมีพฤติกรรมที่ “สุดขั้ว” ไปเสียทุกเรื่อง เชื่อมั่นในตัวเองจนไม่ฟังคำทักท้วงของใครเลย มีแนวโน้มที่จะต่อต้านกฎหมายหรือกติกามารยาทในสังคม อาจซุกซ่อนความรุนแรงหรือแนวคิดที่ท้าทายต่อศีลธรรม ทั้งนี้เพื่อปิดบังความผิดพลาดและความอ่อนแอในใจของตน และพยายามคงความเป็นฮีโร่ในสายตาของคนรอบข้าง พฤติกรรมเหล่านี้เองที่ชักนำความขัดแย้ง ความรุนแรงหรือ ปัญหาทางกฎหมายมาให้เหมือน ”สายล่อฟ้า” ที่ชักนำกระแสไฟแรงสูงให้ผ่าลงมาที่จุดนั้น และเมื่อเราวนเวียนอยู่รอบๆคนเหล่านี้ก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย อาจรุนแรงถึงชีวิตหากคุณโชคดีรอดตัวมาได้ มันก็อาจเปลี่ยนชีวิตคุณไปตลอดกาล


เมื่อมีคนจำนวนมากกว่าหนึ่งคนมาอยู่รวมกันเพื่อทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจดูไม่มีอะไรเป็นอันตราย แต่ปัญหาคือ เมื่อมีคนมารวมกันเป็นกลุ่มบวกกับหัวหน้ากลุ่มเป็นประเภท “สายล่อฟ้า” ผู้คนทั้งหมดก็ย่อมตกในความเสี่ยงที่จะถูกชักนำให้กระทำการอย่างใดที่หมิ่นเหม่ต่อการใช้ความรุนแรง ล่อแหลมต่อการละเมิดกฎหมาย ฯลฯ คุณอาจคิดว่าตามแห่ไปเท่านั้น แค่สังเกตุการณ์ แต่คู่กรณีหรือตำรวจไม่ได้คิดอย่างนั้นแน่ และคุณเองในขณะที่สถานการณ์ร้อนแรงจนเกินเลย ใครจะบอกได้ว่าคุณจะทำอะไรลงไปบ้าง แต่ที่แน่ๆคุณต้องรับผิดชอบต่อผลของมันร่วมกัน เพราะฉะนั้นเมื่อคุณจะไปรวมกลุ่มกับเพื่อนฝูงเพื่อทำกิจกรรมใดๆ จงตั้งสติให้ดี ถามตัวเองให้แน่ชัดว่าสิ่งที่ทำนั้นขัดกับมโนธรรมหรือสัญชาติญาณระวังภัยของคุณหรือไม่ ใช้จินตนาการวาดภาพดูว่าผลของมันจะเป็นอย่างไร ถ้ารู้สึกว่าเขากำลังชักนำให้คุณลงเหว คุณต้องกล้าที่จะถอนตัวออกมาก่อน อย่าลังเลเป็นอันขาด ไม่มีอะไรจะน่าสมเพชไปกว่าการที่คุณพลอยติดร่างแหต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่คุณไม่ได้ทำหรือไม่อยากทำ แต่ไม่กล้าปฏิเสธตั้งแต่แรก


“มีสติรู้ตัว คือ เกราะป้องกันตัวที่ดีที่สุด”


เรียบเรียงโดย Snap shot

Friday, December 3, 2010

Post-incident Planning

Post-incident Planning



ในการป้องกันตัวนั้นมีการเตรียมตัวหรือแผนที่จะต้องคิดใหญ่ๆอยู่ 3 ประการ คือ ก่อนเกิดเรื่อง (Pre-incident Planning) ขณะเกิดเรื่อง (Incident Planning) และ หลังเกิดเรื่อง (Post-incident Planning)


การเกิดเรื่องราวกับบุคคลอื่น (Incident) นั้นจะรวมไปถึงการโต้เถียงขัดแย้งอย่างรุนแรงโดยไม่มีการใช้กำลังไปจนถึงการต่อสู้ด้วยความรุนแรง (Fighting) ซึ่งการเตรียมตัวก่อนเกิดเรื่องจะเน้นไปที่การป้องกันหรือหลีกเลี่ยงภัยคุกคามไม่ให้เกิดกับตนเอง หรือมีความขัดแย้งเล็กน้อยเกิดขึ้นก็พยายามไม่ให้ลุกลามไปเป็นความขัดแย้งที่รุนแรง


ส่วนการเตรียมตัวขณะเกิดเรื่องนั้นหากมีความขัดแย้งรุนแรงก็พยายามไม่ให้ลุกลามไปจนถึงขั้นการใช้กำลัง พยายามทำให้สถานการณ์บรรเทาลงด้วยวิธีการต่างๆ แต่หากมีการต่อสู้ใช้กำลังเกิดขึ้นเราก็ต้องมีแผนในการรับมือให้เหมาะสมกับสถานการณ์ รู้ว่าจะต้องตอบโต้หรือป้องกันตัวเองอย่างไรเพื่อพาตนเองออกมาจากเหตุการณ์ร้ายนั้นได้อย่างปลอดภัย เป็นต้น


การเตรียมตัวหลังเกิดเรื่อง (Post-incident Planning) เมื่อการโต้เถียงรุนแรงหรือการต่อสู้สิ้นสุดลง หากคุณเป็นฝ่ายได้เปรียบอยู่ มีหลักการที่ควรปฏิบัติดังนี้


- หากคุณอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบก็จงอยู่อย่างนั้นจนกว่าจะแน่ใจว่าภัยคุกคามนั้นจะไม่สามารถตอบโต้กลับมาได้


- อย่าหันหลังให้กับภัยคุกคามในขณะที่คุณกำลังถอยห่างออกมา


- อย่าลดมือที่ใช้ป้องกันตัว (Guard) ลง จนกว่าจะออกมาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยแล้ว


- เมื่ออยู่ในพื้นที่ปลอดภัยให้โทรบอกบุคคลที่เหมาะสมทันที เช่น ตำรวจหรือโรงพยาบาล เป็นต้น


- ตื่นตัวตลอดเวลาอย่างน้อยสองถึงสามวันหลังเหตุการณ์ เพราะภัยคุกคามอาจกลับมาแก้แค้นได้


การใช้กำลังเข้าแก้ไขเหตุการณ์ร้ายขอให้เป็นทางเลือกสุดท้าย แต่หากจำเป็นต้องใช้นอกจากรู้วิธีการป้องกันตัวแล้ว ก็ยังต้องรู้วิธีในการถอยห่างออกจากสถานการณ์นั้นด้วยความ “ไม่ประมาท”


จงจำไว้ว่าภัยคุกคามมักไม่ได้มีแค่คนเดียว (ถึงแม้ว่าเราจะมีเรื่องหรือเห็นคนร้ายแค่หนึ่งคน ก็ต้องคิดว่าอาจมีคนร้ายคนอื่นอีกอยู่ใกล้ๆเสมอ) จึงควรรีบถอยออกจากการต่อสู้ให้เร็วที่สุด หลีกเลี่ยงการต่อสู้บนพื้น (Ground fighting) ซึ่งแตกต่างจากกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสานทั่วไปหรือ MMA (Mixed Martial Arts) เนื่องจากการต่อสู้ในสังเวียนมักจบลงที่การต่อสู้บนพื้น เพราะเขาไม่ต้องกังวลว่าจะมีคู่ต่อสู้คนอื่นจะเข้ามาทำร้ายเขาอีก แต่ในสถานการณ์จริงคนร้ายอาจมีหลายคนเมื่อเรานอนอยู่บนพื้นจะทำให้การเคลื่อนไหวหรือหลบหนีทำได้ยากขึ้นมาก จึงตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบหากต้องเผชิญกับภัยคุกคามหลายคน


แต่การป้องกันตัวบนพื้น (Self-defense on the ground) ซึ่งอาศัยทักษะของการต่อสู้บนพื้นยังถือว่าสำคัญสำหรับการเรียนรู้การป้องกันตัว เพราะหากเราไม่รู้วิธีแก้ไขสถานการณ์เมื่อถูกทำให้นอนลงกับพื้นเราก็จะเป็นฝ่ายเสียเปรียบทันที และเหตุการณ์ร้ายๆมักเกิดขึ้นในขณะที่เราถูกทำให้นอนลงบนพื้น เพราะคนร้ายรู้ว่าการเคลื่อนไหวและการตอบโต้ของเราจะถูกจำกัดลงทันที


การเตรียมตัวหลังเหตุการณ์ยังรวมไปถึงการรับมือกับผลกระทบที่ตามมาของเหตุการณ์ด้วย เช่น การขึ้นโรงขึ้นศาล การรักษาพยาบาล วิธีการให้การต่างๆ เป็นการเยียวยาทั้งทางร่างกายและจิตใจ นอกจากนั้นยังรวมไปถึงการหาแนวทางป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ร้ายๆเหล่านี้เกิดขึ้นอีก เป็นต้น


การมี “สติ ความตระหนักรู้ ความไม่ประมาท” เป็นสิ่งสำคัญที่จะนำพาตนให้พ้นภัย โดยอาศัยความรู้และทักษะในการป้องกันตัวเป็นเครื่องมือ


สุดท้ายนี้ขอให้ตั้ง “สติ” ทุกครั้งเมื่อเผชิญเหตุ และขอให้ “พลังจงอยู่กับท่าน”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Disengage Safely from the Fight ของ Defense University