skip to main |
skip to sidebar
ต้องแรงและแม่นยำ
บทความก่อนหน้านี้ผมกล่าวถึงเทคนิคของความเร็วแล้วติดค้างเอาไว้อีกสองหัวข้อ คือ ความแรง และ ความแม่นยำ
เมื่อพูดถึงความแรง เราคิดถึงอะไรเป็นอย่างแรก ร่างกายใหญ่โตกล้ามเป็นมัดๆกระมัง ผิดแล้วครับ อย่างนั้นคงมีคนไม่กี่คนที่พร้อมจะป้องกันตัวเองได้ การป้องกันตัวส่วนใหญ่ถูกคิดค้นรวบรวมโดยคนร่างเล็กที่คิดหาวิธีเอาชนะคนที่ตัวโตกว่า
ในขั้นตอนการฝึกฝนจึงรวมเอาวิธีการผ่อนแรงจู่โจมของคู่ต่อสู้และเทคนิคการใช้พลังอย่างถูกวิธี เพื่อให้ได้ประสิทธิผลเต็มที่อีกด้วย จริงอยู่กล้ามเนื้อที่แข็งแรงช่วยให้การออกอาวุธหมัด เท้า เข่า ศอก มีความรุนแรง แต่ถ้าขาดเทคนิคที่ถูกต้อง การใช้กล้ามเนื้ออย่างเดียวอาจให้ผลไม่คุ้มค่า
ผมขอแนะนำแนวคิดบางประการที่จะช่วยให้คุณใช้กล้ามเนื้อเท่าที่มีอย่างถูกต้อง เพื่อประสิทธิผลสูงสุด ดังนี้
1. ใช้น้ำหนักตัวเพิ่มแรง ใครฝึกหัดตีกอร์ฟก็ต้องเรียนรู้เทคนิคการถ่ายเทน้ำหนักเพิ่มระยะตีไกล ใครฝึกมวยก็จะได้เรียนรู้การเพิ่มแรงชกโดยการบิดเอว ส่งไหล่ และสืบเท้าถ่ายน้ำหนักตามหมัดที่พุ่งออกไป กลุ่ม Self-defense เน้นให้ผู้ฝึกเข้าถึงเทคนิคนี้เพื่อให้คุณใช้ป้องกันตัวในสภานการณ์จริงสามารถออกอาวุธหมัด เท้า เข่า ศอก อย่างมีพลัง เพราะในชีวิตจริงการต่อสู้ไม่มีกติกา ไม่มีรุ่น ไม่มีออมมือ
2. เลือกอาวุธและเป้าหมาย นิยามคำว่า “แรง” ในกลุ่มผู้ฝึก Self-defense หมายถึง มีผลต่อผู้ถูกกระทำอย่างรุนแรง ถ้าคุณใช้นิ้วชี้ทิ่มพุงใครสักคน ย่อมไม่ถือว่าแรง เพราะเขาไม่เจ็บปวดอะไร แต่ถ้าคุณใช้นิ้วมือคุณทิ่มไปที่ตาของเขาถึงแม้จะไม่แรงแต่ก็สร้างความเจ็บปวดได้ ดังนั้นคุณต้องรู้จักเลือกอาวุธและเป้าหมายที่คุณจะเล่นงานอย่างรอบคอบ ศึกษาให้แน่ชัดว่าอาวุธอะไรใช้กับจุดอ่อนในร่างกายแห่งไหนจะได้ผลดีที่สุด แล้วเลือกใช้ให้ถูกจังหวะ การป้องกันตัวของคุณก็จะเข้าถึงคำว่า “แรง” อย่างแท้จริง
3. ใช้ทำเลพื้นที่เป็นอาวุธ Martial Arts ที่มีแนวทางใช้กำลังใกล้เคียงกับข้อนี้ที่สุดเห็นจะเป็นยูโด (Judo) ซึ่งแปลว่า “วิถีแห่งความสุภาพ” ผู้ฝึกยูโดไม่ชก ไม่เตะคู่ต่อสู้ แต่อาศัยเทคนิคเฉพาะทำให้คู่ต่อสู้เสียสมดุลย์ ล้มฟาดกับพื้น ผู้เริ่มฝึกยูโดจะต้องฝึกเทคนิคการล้มเป็นอันดับแรกและโรงฝึกก็ปูด้วยเบาะหนาเพื่อความปลอดภัย แต่คู่ต่อสู้ของคุณที่ไม่ได้เรียนวิธีล้มอย่างถูกต้อง หากถูกคุณจับทุ่มลงกับพื้นอย่างแรงจะสร้างความเจ็บปวดให้แก่คนร้ายได้อย่างมากมาย สำหรับผู้ฝึก Self-defense เราไม่เพียงใช้พื้นดินเป็นเครื่องมือเล่นงานคู่ต่อสู้ แต่ใช้ของแข็งทุกอย่างรอบๆตัว เช่น กำแพง เสาอาคาร โต๊ะ เก้าอี้ เคาร์เตอร์ ฯลฯ ทุกอย่างตั้งอยู่ตรงนั้น รอให้คุณใช้เป็นเครื่องมือป้องกันตัว
เหล่านี้เป็นแนวความคิดเบื้องต้นที่จะทำให้คุณเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องในการใช้กำลังกล้ามเนื้อของคุณอย่างมีประสิทธิภาพ
องค์ประกอบที่ 3 คือ ความแม่นยำ ในทัศนะของผู้ฝึก Self-defense คำว่า “แม่นยำ” นี้ ไม่เพียงหมายถึง แม่นต่อเป้าหมายที่จะจู่โจม แต่ต้องแม่นต่อเทคนิค (ในข้อ 1) และยุทธศาสตร์ (ในข้อ 2) ด้วย ซึ่งไม่มีทางลัดใดๆเลย “ความแม่นยำ” ทั้งสามนี้เกิดจากทักษะอันเนื่องจากการฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง เป็นวิธีเดียวที่จะเข้าถึง “ความแม่นยำ”
เรียบเรียงโดย Snap shot
No One Technique Fits All
หลายคนพยายามเสาะแสวงหาวิชาหรือเทคนิควิธีการต่อสู้หรือป้องกันตัวที่สมบูรณ์แบบหรือดีที่สุด ในความเป็นจริงนั้นไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สมบูรณ์แบบไร้ที่ติ
วิธีการป้องกันตัวก็เช่นกันมีหลากหลายรูปแบบ บางวิธีเรียบง่ายบางรูปแบบซับซ้อน หากจะให้หาว่าวิธีไหนดีกว่ากันคงเป็นเรื่องยาก ขึ้นกับว่า “ใครเป็นคนใช้ และใช้กับใคร” เนื่องจากส่วนใหญ่รูปแบบที่ซับซ้อนมักมีประสิทธิภาพสูง บางคนฝึกฝนวิธีนี้อย่างเชี่ยวชาญเขาก็อาจเลือกใช้วิธีที่ซับซ้อนในการแก้ปัญหา ในขณะที่คนซึ่งฝึกมาไม่มากนักก็อาจเลือกวิธีที่เรียบง่ายมากกว่า โดยในหลายกรณีผลลัพธ์ก็อาจไม่แตกต่างจากการใช้วิธีที่ซับซ้อน
บางรูปแบบต้องใช้กำลังมากจึงเหมาะกับคนที่มีแรงดี แต่กับคนซึ่งมีแรงน้อยกว่า เช่น ผู้หญิง เด็ก หรือ ผู้สูงอายุ อาจต้องใช้วิธีที่อาศัยเทคนิคมากกว่าเพื่อชดเชยเรี่ยวแรงที่ด้อยลงไป
นอกจากนั้นปัจจัยจากตัวคนร้ายเองก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้ หากคนร้ายเป็นคนแข็งแรงกว่าเรามากๆ หรือมีความรู้ในการต่อสู้ เราก็ต้องเลือกวิธีที่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วไม่ให้ทันตั้งตัว อีกทั้งต้องเลือกรูปแบบที่เราชำนาญและมั่นใจที่สุดเพื่อเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จให้มากที่สุด
สภาพแวดล้อมก็มีส่วนสำคัญในการเลือกใช้วิธีในการเผชิญกับภัยคุกคาม หากเป็นสถานที่โล่งแจ้งมีพื้นที่มากก็อาจใช้ได้หลากหลายรูปแบบ แต่เมื่อเผชิญเหตุการณ์อย่างเดียวกันในสถานที่คับแคบขยับตัวได้ลำบาก หรือมีพื้นที่จำกัดมากๆ เช่น ในรถยนต์ ในลิฟ ในห้องทำงาน เป็นต้น ก็ต้องเลือกวิธีที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมนั้นๆ วิธีในการเผชิญภัยคุกคามอาจมีให้เลือกใช้ได้อย่างจำกัด
หลายครั้งเมื่อฝึกวิธีเผชิญเหตุการณ์ เช่น การป้องกันตัวจากการถูกมีดจี้คอ อาจมีคนอื่นมองดูว่า “เทคนิคนี้ไม่ดีเพราะ.... ควรใช้วิธี.... นี้มากกว่า” ไม่ว่าเขาจะแสดงท่าไหนเราก็สามารถหาข้อบกพร่องได้เสมอ ทุกอย่างมีทั้งข้อดี ข้อเสีย และข้อจำกัดของมันเอง ไม่มีวิธีใดวิธีหนึ่งที่สามารถใช้ได้กับทุกคน ทุกสถานการณ์ อย่างไม่มีข้อจำกัด (No One Technique Fits All) ดังนั้นการเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาหลายๆรูปแบบจึงเปรียบเสมือนว่า เรามีอาวุธหลากหลายสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับบุคคล สถานการณ์ สภาพแวดล้อม นั้นจึงเป็นสิ่งที่สร้างความแตกต่างระหว่างคนที่รู้เพียงวิธีเดียวในการแก้ปัญหากับคนที่รู้หลายวิธี
คนที่ยึดติดกับวิธีเดียวเท่านั้นซึ่งเขาคิดว่าดีที่สุด ก็เท่ากับว่าเขามีอาวุธเพียงแบบเดียวที่ใช้ได้และขาดความยืดหยุ่น เมื่ออยู่ในสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื่ออำนวยที่จะใช้วิธีนั้นได้ก็จะเกิดปัญหาขึ้นทันที
การเรียนรู้ข้อดีและข้อจำกัดของแต่ละวิธีจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้เราเลือกรูปแบบเพื่อใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
Thai self-defense แนะนำหลักการและวิธีการที่หลากหลายเพื่อผู้สนใจสามารถนำไปประยุกค์ใช้ได้กับหลายสถานการณ์มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน โดยยึดถือหลัก No One Technique Fits All
เรียบเรียงโดย Batman
ต้องเร็วพอจึงจะปลอดภัย
จากบทความของคุณ Batman เมื่อ 26 มี.ค. 2553 ซึ่งกล่าวถึงสามองค์ประกอบสำคัญ อันจะทำให้การต่อสู้ป้องกันตัวของคุณประสบความสำเร็จได้ ประกอบด้วย
ความเร็ว- ความแรง-ความแม่นยำ ซึ่งถูกทดแทนด้วยสัญลักษณ์รูปสามเหลี่ยม เรียกว่า “สามเหลี่ยมแห่งชัยชนะ” หลายคนอาจสงสัยว่าจะทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงองค์ประกอบทั้งสามที่ว่ามานั้น ผมจะขอให้แนวคิดที่สำคัญบางอย่าง
“ความเร็ว” คุณจะป้องกันตัวให้ปลอดภัย จะรุกหรือรับก็ต้องเร็วพอ ปัญหาคือ เร็วแค่ไหนจึงจะนับว่า “พอ” คำตอบคือ ไม่ต้องเร็วมาก ขอให้เร็วกว่าคู่ต่อสู้ของคุณก็แล้วกัน การจะเข้าถึงตรงนั้นได้ ผมขอเสนอวิธีดังนี้
1. ต้องอ่านคู่ต่อสู้ของคุณให้ออก ถ้าคุณกำลังจะขึ้นสะพานลอยเพื่อข้ามถนน สังเกตเห็นชายสองคนยืนรีรออยู่บริเวณกลางสะพานแต่ตาจ้องมาทางคุณตลอด คุณเลยเปลี่ยนใจเดินเลยไปข้ามถนนทางอื่น นับว่าคุณป้องกันตัวสำเร็จแล้ว เพราะคุณอ่าน “คู่ต่อสู้ของคุณได้อย่างรวดเร็ว ปฏิกิริยาหลบหลีกของคุณจึง “เร็ว” เกินพอ คุณป้องกันตัวก่อนที่คนร้ายจะลงมือเสียอีกซึ่งถือว่าดีที่สุด ถ้าเผอิญคุณพลาดท่าต้องเผชิญกับคนร้ายที่แสดงตัวคุกคามคุณอย่างชัดเจน ขอแนะนำให้คุณมองดู “มือทั้งสองข้าง” ของเขาอย่างระมัดระวัง บางท่านอาจจ้องหน้ามองตาคนร้าย พยายาม “อ่าน” หรือข่มขวัญ แต่ไม่เป็นผลหรอก สิ่งที่จะทำร้ายคุณ คือ มือหรือมีด ไม้ ในมือเขาต่างหาก เมื่อเขามีเจตนาจะทำร้ายคุณ มือเขาจะต้องออกอาการก่อน เมื่อคุณอ่านออกย่อมรู้ล่วงหน้าทั้งอาวุธและทิศทาง คุณก็ป้องกันตัวได้ง่ายขึ้น
2. อย่าตั้งใจไว้ก่อน, อย่าเกร็ง, อย่าเงื้อง่า ผมแนะนำให้คุณปิดบังความคิด อย่าให้คู่ต่อสู้อ่านออก เวลาต้องต่อสู้กับใคร คุณเห็นจังหวะปล่อยหมัดก็ปล่อยเลย อย่าคิดล่วงหน้า ถ้าคุณตั้งใจไว้ล่วงหน้าว่าจะชกหมัดขวา แต่คู่ต่อสู้เปิดช่วงล่าง คุณก็ไม่ได้เตะเพราะไม่ได้เตรียมตัว มือของคุณเกร็งรอจนล้า พอได้จังหวะจะชกเพื่อให้แรงก็อดที่จะเงื้อไม่ได้ ทั้งหมดนี้ทำให้คู่ต่อสู้ของคุณอ่านออกอาจชิงออกอาวุธหรือป้องกันได้ก่อน เท่ากับคุณเคลื่อนไหวช้าเกินไป
3. เส้นตรงสั้นที่สุด ในการต่อสู้จริงๆสิ่งที่แตกต่างกับการซ้อม คือ ความเร็วและแรงในการจู่โจมของคนร้าย ถ้าคุณอยากเอาตัวให้รอดก็ต้องเคลื่อนไหวเร็วกว่าคนร้าย หมัด เท้า เข่า ศอก ที่พุ่งเข้าหาคุณไม่มีเวลาสำหรับท่าสวยๆ ตามหลักเลขาคณิต เส้นตรงเป็นเส้นที่สั้นที่สุด ดังนั้นทุกๆท่าที่คุณใช้ป้องกันตัวและตอบโต้ จึงต้องรวบลัดตรงไปตรงมา มิเช่นนั้นไม่ทันการณ์แน่
4. ให้เป้าหมายเป็นแค่ทางผ่าน ปัญหาอย่างหนึ่งของผู้ที่จำเป็นต้องต่อสู้ป้องกันตัวในชีวิตจริง คือ การเคลื่อนไหว ออกอาวุธ หรือ ป้องกันตัว เป็นครั้งๆตามสถานการณ์ เช่น คุณชกหมัดขวาเข้าใบหน้าคู่ต่อสู้ ก็ออกหมัดไปโดยไม่มีโปรแกรมไว้ก่อนว่าหลังจากหมัดขวาจะออกอาวุธอะไรต่อ ทำให้หมัดขวาต้องชะลอช้าลงก่อนกระทบเป้าหมาย เมื่อกระทบเป้าแล้วก็ชะงักอีก หรือ ถอยกลับมาตั้งต้นใหม่ แต่ถ้าเป็นนักมวยอาชีพ เขาจะออกหมัดเป็นชุด 4 -5 หมัดต่อเนื่องกัน กล้ามเนื้อถูกสั่งให้เคลื่อนไหวออกอาวุธโดยไม่หยุดเลย แต่ละหมัดจึงมีความรวดเร็วจนหวังผลได้ การป้องกันก็เช่นกัน หลังการป้องกันอาวุธของคู่ต่อสู้แล้วจะตอบโต้อย่างไร หากคุณมีทักษะที่ต่อเนื่องกันแล้ว การป้องกันของคุณก็จะเร็วจน “พอ” แน่นอน
ทั้งหมดนี้เป็นเทคนิคเบื้องต้นเพื่อช่วยให้คุณสามารถเคลื่อนไหวได้เร็วขึ้นเมื่อเทียบกับคู่ต่อสู้ แต่จะเป็นไปได้ คุณต้องมี “สติ” อยู่กับตัวเสมอ หากเผชิญหน้าคนร้ายหรือคู่ต่อสู้แล้วคุณสติแตกไปก่อน สิ่งที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของคุณก็มีแต่อารมณ์เพียงอย่างเดียว นอกจากจะไม่เร็วแล้วยังไร้ทิศทางและนำคุณสู่อันตรายในที่สุด
คราวหน้าจะกล่าวถึงองค์ประกอบส่วนที่เหลือ
เรียบเรียงโดย Snap shot
The Use of Improvised Weapons
จากประวัติศาสตร์ในหลายประเทศพบว่า การห้ามพกพาอาวุธโดยสภาพ เช่น มีด ปืน นั้นไม่ได้ช่วยลดความรุนแรงในสังคม เพราะมีแต่คนดีที่ทำตามกฎหมายแต่คนร้ายกลับไม่สนใจที่จะทำตามกฎระเบียบเหล่านี้
ในสังคมซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สามารถปกป้องชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนได้ แล้วพวกเราจะมีวิธีป้องกันตัวได้อย่างไร ยังมีอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งก็คือ การใช้สิ่งของรอบตัวหรือวัตถุซึ่งไม่ใช่อาวุธโดยสภาพนำมาปรับใช้ให้เป็นอาวุธ (Improvised weapons) เพื่อป้องกันตัว
นาย Michael Janich ได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากสิ่งของรอบตัวเพื่อการป้องกันตัวไว้อย่างน่าสนใจ
Improvised weapons เขาแบ่งออกเป็น
- Prepared weapons เป็นสิ่งซึ่งนำมาดัดแปลงเล็กน้อยก็สามารถใช้เป็นอาวุธได้แล้ว เช่น นิตยสาร เมื่อม้วนจนแน่นก็สามารถใช้เป็นอาวุธได้
- Weapons of opportunity เป็นสิ่งซึ่งคุณมองหาจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว แล้วสามารถนำมาดัดแปลงเพื่อใช้เป็นอาวุธ เช่น ท่อนไม้ ขวดเบียร์ ไม้ถูพื้น หรือ ถังขยะ เป็นต้น
- Personal-carry items เป็นสิ่งซึ่งง่ายแก่การพกพาติดตัวและสามารถใช้เป็นอาวุธได้ เช่น ไฟฉาย หรือ ปากกาลูกลื่น เป็นต้น
เราสามารถใช้สิ่งของหลายอย่างรอบตัวมาใช้เป็นอาวุธ การเลือกดูว่าสิ่งใดนำมาใช้ได้ควรคำนึงถึง
- ความแข็งแรง สิ่งนั้นควรมีความแข็งแรงพอที่จะรองรับการใช้แรงเต็มที่ของเราในขณะใช้งาน หากมันไม่แข็งแรงพอก็ต้องรู้ข้อจำกัดและอาจต้องเตรียมสิ่งอื่นทดแทน
- มีขนาดและน้ำหนักพอเหมาะที่จะกวัดแกว่งหรือใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งนั้นจะต้องไม่เบาเกินไปหรือหนักเกินไปจนยกขึ้นใช้งานลำบากขาดความคล่องตัว
- สามารถเข้าถึงและนำออกมาใช้งานได้ทันที ภัยคุกคามมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทันที ให้มุ่งความสนใจไปที่สิ่งซึ่งคุณสามารถกำและใช้ได้อย่างรวดเร็ว
- ความหลากหลายในการใช้งาน สิ่งนั้นสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะใช้เพื่อการโจมตีหรือป้องกันการจู่โจมจากภัยคุกคาม ยิ่งมันทำได้หลายอย่าง ยิ่งเป็นประโยชน์กับคุณ
การจับถืออาวุธเหล่านี้มีหลายรูปแบบ
- Hammer grip กำอาวุธในมือเหมือนการกำด้ามฆ้อน เหมาะกับสิ่งที่สามารถใส่ในมือและกำได้รอบ หรือ อาวุธที่มีก้านไม้เอาไว้ถือ
- Index-finger grip ดันอาวุธไว้กับฝ่ามือและเหยียดนิ้วชี้ออกไปตลอดความยาวของอาวุธ ใช้ได้ดีกับปากกาซึ่งจะให้ความแม่นยำสูงมาก
- Palm grip เป็นการถือกำวัตถุไว้เต็มมือเหมือนถือลูกบอล ใช้ได้ดีกับวัตถุซึ่งไม่สามารถกำรอบได้ เช่น ก้อนหิน ถาด เหยือกเบียร์
นอกจากอาวุธที่แข็งแล้วยังมีอาวุธที่อ่อนนุ่มอีก เช่น เชือก เสื้อผ้า หมวก ผ้าพันคอ ก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในหลายโอกาส
สิ่งต่างๆเหล่านี้นำมาใช้เพื่อเป็นอาวุธกระแทก (Impact weapons) ตัดเฉือน เจาะ พัน กำบัง (Shield) บางชิ้นสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย
สิ่งของรอบตัวเราจะถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการป้องกันตัวได้นั้น เราต้องมองมันในมุมมองที่ต่างจากจุดประสงค์หลักซึ่งมันถูกสร้างขึ้นมา เรียนรู้การใช้สิ่งต่างๆมาใช้ให้เป็นประโยชน์
ผู้ที่เรียนการป้องกันตัวนั้นจะมีจิตวิญญาณของการใช้สิ่งของรอบตัวมาใช้ให้เป็นประโยชน์เพื่อสร้างความได้เปรียบเหนือภัยคุกคาม
คุณลองหยุดสักครู่...... แล้วมองสิ่งของรอบตัวเอง พิจารณาว่ามันสามารถนำมาใช้ทำอะไรได้บ้างเมื่อต้องเผชิญกับภัยคุกคามเบื้องหน้า
สุดท้ายนี้ขอให้ตั้ง “สติ” ทุกครั้งเมื่อเผชิญเหตุ และขอให้ “พลังจงอยู่กับท่าน”
เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Forever Armed ของ Michael Janich
การฝึกอบรม THAI SELF-DEFENSE WEEK 1 # 2
เปิดรับการฝึกอบรม “สัปดาห์การป้องกันตัวสำหรับประชาชนทั่วไป ระดับ 1 ครั้งที่ 2”
จุดประสงค์ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะการป้องกันตัวในสถานการณ์วิกฤติให้กับประชาชนทั่วไป
เนื้อหาการฝึกอบรม (การบรรยายและปฏิบัติ)
- หลักการป้องกันตัวและการประเมินสถานการณ์
- ความรู้พื้นฐานการป้องกันตัวด้วย “มือเปล่า”
- ความรู้พื้นฐานการป้องกันตัวด้วย “อาวุธมีด”
เวลาการฝึกอบรม วันเสาร์ที่ 20 พ.ย. 2553 เวลา 9.00 – 16.00 น. (2 คาบๆละ 3 ช.ม.)
ผู้รับการฝึกอบรม หญิงหรือชาย อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป (ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ต้องมีผู้ปกครองยินยอม) ไม่มีโรคประจำตัวซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการฝึกอบรม (รับจำนวนจำกัด ไม่เกิน 14 ท่าน)
สถานที่ ชั้น 3 ร้านขอขวัญ เลขที่ 102/24 ซอย พัฒนาการ 58 เยื้อง ร.ร. เตรียมพัฒนาการ เขต สวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
แผนที่
GPS N 13-43-832, E 100-38-871
ค่าฝึกอบรม (โอนเงินหรือชำระที่ศูนย์ฝึกล่วงหน้า) 1500 บาท/ท่าน (รวมค่าอาหารกลางวัน)
สิ้นสุดวันรับสมัคร 15 พ.ย. 2553
การแต่งกาย เสื้อยืด กางเกงวอร์ม หรือ แต่งกายรัดกุม
เอกสารประกอบการสมัคร สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 1 ใบ, ใบยินยอมจากผู้ปกครอง (ในกรณีผู้รับการฝึกอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์)
ครูฝึก ครู วีระ (Batman), ครู เจี๊ยบ, ครู เดช (Snap shot)
ติดต่อ ครู วีระ (Batman) โทร. 081-666-0266, Fax. 02-349-6207
e-mail : thaiselfdefense@gmail.com
www.thaiselfdefense.com
การฝึกอบรม SELF-DEFENSE WITH A KNIFE
เปิดรับการฝึกอบรมการป้องกันตัวด้วยอาวุธ “มีด” สำหรับประชาชนทั่วไป
จุดประสงค์ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะการป้องกันตัวด้วยอาวุธ “มีด” ให้กับประชาชนทั่วไป
เนื้อหาการฝึกอบรม (การบรรยายและปฏิบัติ)
- หลักการป้องกันตัวและการประเมินสถานการณ์
- ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอาวุธมีด
- การถือมีด (Knife griping) ท่าเตรียมพร้อม (Fighting stance)
- พื้นฐานรูปแบบและทิศทางการโจมตีด้วยมีด (Basic patterns and directions of knife attack)
- การเคลื่อนที่ (Footwork)
- กลยุทธ์การป้องกันตัวด้วยมีด (Strategy of self-defense with a knife)
- การฝึกซ้อมการป้องกันตัวด้วยมีด (Knife sparring and drill)
ระยะเวลาการฝึกอบรม วันจัทร์ - พฤหัส เวลา 18.00 - 20.00 น., วันศุกร์ - อาทิตย์ เวลา 13.00 - 20.00 น. (จะโทรยืนยันวันฝึกที่แน่นอนอีกครั้ง)
ผู้รับการฝึกอบรม หญิงหรือชาย อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป (ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ต้องมีผู้ปกครองยินยอม) รับจำนวนจำกัด
สถานที่ ชั้น 3 ร้านขอขวัญ เลขที่ 102/24 ซอย พัฒนาการ 58 เยื้อง ร.ร. เตรียมพัฒนาการ เขต สวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
แผนที่
GPS N 13-43.832 E 100-38.871
ค่าฝึกอบรม 600 บาท/ช.ม./ท่าน (เรียนส่วนตัว), 500 บาท/ช.ม./ท่าน (เรียนกลุ่มย่อยตั้งแต่ 2 ท่านขึ้นไป)
การแต่งกาย เสื้อยืด กางเกงวอร์ม หรือ แต่งกายรัดกุม
อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย แว่นตานิรภัย (ถ้ามี), มีดซ้อม (ถ้ามี), Arm guard (ถ้ามี), ถุงมือ (ถ้ามี)
เอกสารประกอบการสมัคร ใบสมัคร, สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 1 ใบ, ใบยินยอมจากผู้ปกครอง (ในกรณีผู้รับการฝึกอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์)
ครูฝึก ครู วีระ (Batman)
ติดต่อ ครู วีระ (Batman) โทร. 081-666-0266, Fax. 02-349-6207
e-mail : thaiselfdefense@gmail.com
www.thaiselfdefense.com
Samsung LCD televisions