Friday, April 23, 2010

Direction of Knife Attacks

Direction of Knife Attacks



การโจมตีด้วยมีดนั้นประกอบด้วย 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ การแทง (Thrust or stab) และ การฟัน การปาด หรือ การเฉือน (Slash) ในหลายระบบของวิชามีดนั้นจะมีรูปแบบพื้นฐานของทิศทางในการโจมตีเป้าหมายด้วยมีดทั้งการแทงและการฟัน


ทิศทางการโจมตีด้วยมีด (Direction of Knife Attacks) มีหลายทิศทาง แต่ละระบบอาจกำหนดรูปแบบแตกต่างกันได้ จะขอกล่าวเฉพาะทิศทางซึ่งพบเห็นได้บ่อยในหลายๆระบบ


ลองนึกภาพกรวยวงกลมซึ่งขอบกรวยแทนจุดเริ่มต้นของการฟันหรือแทง และปลายกรวยเป็นตำแหน่งเป้าหมายของการโจมตี ให้แบ่งวงกลมปากกรวยออกเป็นสี่ส่วนเท่าๆกันด้วยเส้นผ่านศูนย์กลางแนวตั้งและแนวนอนซึ่งตั้งฉากกัน หลังจากนั้นก็แบ่งแต่ละส่วนของวงกลมด้วยเส้นทแยงมุม 45 องศาทั้งด้านซ้ายและขวา โดยมีจุดตัดกันของทุกเส้นที่จุดศูนย์กลางของวงกลม (ซึ่งจะตรงกับตำแหน่งของปลายกรวยพอดี เมื่อเรามองจากปากกรวยไปยังปลายกรวย)


เส้นตรงซึ่งผ่านจุดศูนย์กลางเหล่านี้แทนทิศทางของมีดในการแทงและฟันเป้าหมาย ซึ่งในการฟันนั้นจะมีสองทิศทางเสมอคือ ไปและกลับ ในแต่ละทิศ เช่น ฟันจากขวามาซ้ายในแนวนอนก็จะมีการฟันย้อนกลับจากซ้ายมาขวาในแนวเดียวกัน นอกจากนั้นจุดศูนย์กลางเองก็ถือเป็นอีกหนึ่งทิศในการโจมตี เช่น การแทงออกไปตรงๆโดยไม่ได้เคลื่อนที่เฉียงเข้าหาเป้าหมาย ในการแทงนั้นอาจเริ่มจากมุมใดมุมหนึ่งแล้วเคลื่อนไปยังเป้าหมายจากทิศทางต่างๆที่แสดงไว้ทั้งไปและกลับเช่นกัน


บางระบบกำหนดทิศทางและรูปแบบของมีดทั้งการฟันและแทงในการโจมตีเป็นตัวเลขเพื่อง่ายแก่การจดจำและฝึกซ้อม เช่น 5 ทิศทาง 7 ทิศทาง 9 ทิศทาง 12 ทิศทาง เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีรูปแบบการฟันที่มีลักษณะพิเศษ เช่น C cut เป็นการปาดฟันเป็นรูปตัว ซี ในภาษาอังกฤษ (ระบบ Kali), รูปเลข 8 เป็นต้น


ยังมีการโจมตีด้วยมีดอีกรูปแบบหนึ่ง เรียกว่า Snap cut คล้ายๆกับหมัดชกนำ หรือ หมัดแยบ (Yap) ของมวย เป็นการสะบัดมีดออกไปอย่างรวดเร็วโดยใช้คมมีดใกล้ปลายมีดในการกระแทกหรือเฉือนเป้าหมายให้เกิดบาดแผล


ไม่ว่าจะจับมีดแบบ Forward หรือ Reverse grip ก็มักมีมุมในการโจมตีพื้นฐานตามที่ได้กล่าวไปเช่นกัน นอกจากนั้นอาจมีรายละเอียดปลีกย่อยในการโจมตีด้วยมีดเพิ่มเติมอีกตามแต่ละระบบต่อสู้จะกำหนดขึ้น จึงทำให้รูปแบบการโจมตีด้วยมีดมีความหลากหลายมาก


การเรียนรู้ทิศทางการโจมตีด้วยมีดทำให้รู้วิธีใช้มีดได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นในการป้องกันตัวจากการถูกจู่โจมด้วยมีดก็จำเป็นจะต้องรู้ว่ามีดนั้นสามารถเข้ามาทำร้ายเราในทิศทางใดได้บ้าง เรียนรู้วิธีป้องกันตัวจากการถูกโจมตีด้วยมีดจากทิศทางต่างๆ


ผู้ที่จะใช้มีดได้ดีจำเป็นต้องฝึกฝนให้เกิดทักษะความชำนาญ เรียนรู้ข้อดีและข้อจำกัดของอาวุธที่เราใช้เพื่อที่จะสามารถดึงศักยภาพของอาวุธนั้นๆออกมาได้สูงสุด


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับมีดขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman

Saturday, April 17, 2010

มี...สติ...ก็มีโอกาส

มี...สติ...ก็มีโอกาส



สายลับชื่อดังนาม เจมส์ บอนด์ เดินย่องไปตามทางแคบๆในอาคารหลังหนึ่ง เขาเลี้ยวผ่านมุมทางเดินเผยให้เห็นประตูบานหนึ่ง หลังประตูนั้นเป็นห้องเก็บอาวุธเคมีของคนร้าย หน้าประตูมีชายคนหนึ่งร่างกายสูงใหญ่ กล้ามเนื้อเด่นชัดจนเสื้อยืดรัดตึง ใบหน้าเคร่งขรึมท่าทางน่าเกรงขามยืนเฝ้าอย่างตั้งใจ


บอนด์ค่อยๆย่องออกจากมุมทางเดินตรงไปยังชายคนนั้นอย่างช้าๆ มันเหลือบเห็นความเคลื่อนไหวของเขา ในฉับพลันเท้าขวาของบอนด์กระแทกเข้าระหว่างขาของชายคนร่างใหญ่อย่างแรง แต่มันกลับสะดุ้งเพียงเล็กน้อย แล้วยิ้มมุมปาก แต่บอนด์กลับรู้สึกเจ็บปวดที่หน้าแข้งอย่างมากราวกับเตะถูกเหล็กกล้า บอนด์เหวี่ยงหมัดขวาเข้าหน้ามันสุดแรง แต่กลับไร้ผล บอนด์สะบัดมือเร็วๆด้วยความเจ็บปวดราวกับชกถูกก้อนหิน ชายคนนั้นก้าวประชิดรวบเอวบอนด์ไว้แน่น เสียงดังของกระดูกที่ถูกบีบรัดดังก้องในหูของบอนด์ เขาปวดจนแทบทนไม่ไหว ทันใดนั้นเขาก็ดึงปากกาออกจากกระเป๋าเสื้อนอก มันคือเครื่องยิงระเบิดแรงสูงแบบย่อส่วน ….. Cut


คุณคงเดาตอนจบได้..... เรามาสนใจกับโจทย์ที่ผมตั้งไว้เป็นหัวเรื่องดีกว่า สิ่งหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเคยฝึก Martial Art หรือไม่ อดกังวลไม่ได้เมื่อคิดว่าต้องปะทะกับคนร้ายหรือคู่ต่อสู้ซึ่งมีร่างกายใหญ่โต มีน้ำหนักมากกว่าเรา สูงกว่าเรา แข็งแรงกว่าเรา เป็นโจทย์ที่ดูเหมือนจะมีคำตอบเดียวคือ “เราแย่แน่” จริงอยู่พระเอกในหนัง มักต้องเข้าปะทะกับคนร้ายที่มีความได้เปรียบเขามากด้วยการต่อสู้ที่ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นเพราะผู้กำกับต้องการอวดอุปกรณ์ล้ำยุคซึ่งซุกซ่อนอยู่ในตัวพระเอกมากกว่า แต่เหยื่ออาชญกรรมในชีวิตจริงไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นก็ได้


มนุษย์เป็นสัตว์ผิวหนังบาง เรามีจุดอ่อนหลายแห่งที่ไม่อาจฝึกให้แข็งแรงขึ้น อย่างน้อยก็ 4 แห่งดังที่คุณ Batman ได้กล่าวไว้ในบทความก่อนหน้านี้ คือ หู ตา คอ อัณฑะ แต่ก็มีจุดอ่อนอีกหลายแห่งซึ่งแม้จะไม่เป็นจุดเด่นมากแต่ก็ยากแก่การป้องกัน เราสามารถหาจังหวะจู่โจมเล่นงานอย่างได้ผล ยกตัวอย่างเช่น


- จมูก โครงสร้างของจมูกค่อนข้างอ่อน ถูกกระแทกแรงๆ กระดูกอาจหัก เนื้อเยื่อฉีกขาด เลือดไหล ทำให้หายใจลำบากอ่อนแรงลง


- ลิ้นปี่ อยู่ปลายกระดูกหน้าอกส่วนล่าง เป็นบริเวณที่กล้ามเนื้อน้อยและใกล้กระบังลม หากถูกกระแทกอย่างแรงด้วยหมัด ศอกหรือเข่า ทำให้จุกเสียดหมดแรงได้


- หน้าอกด้านซ้ายบริเวณหัวใจ ถูกกระแทกอย่างแรง ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เจ็บปวดจนถึงหมดสติได้


- บริเวณชายโครงล่างสองซี่สุดท้ายทั้งสองข้าง ซึ่งยื่นออกมาลอยๆไม่เกาะเกี่ยวกับอะไรเลย จึงเป็นจุดอ่อนที่อาจแตกหักได้ง่าย สร้างความเจ็บปวดได้มาก


- บริเวณกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งมักมีน้ำอยู่ข้างใน หากถูกอัดด้วยเข่าหรือถูกถีบอย่างแรง จะจุกเสียดมาก


- บริเวณเข่าและศอกทั้งสองข้าง ทั้ง 4 จุดนี้เป็นอาวุธสำคัญในวิชามวยไทย แต่ข้อต่อเหล่านี้หากเหยียดออกมากเกินขีดจำกัดก็จะทำให้เกิดความเจ็บปวดอย่างรุนแรงได้


- หน้าแข้งของทั้งสองขา ส่วนนี้ไม่มีกล้ามเนื้อห่อหุ้ม หากถูกของแข็งกระแทกจะเจ็บปวดมาก


- นิ้วมือทั้ง 10 นิ้ว ถ้าเราใช้นิ้วมือของเราคว้านิ้วใดนิ้วหนึ่งของคนร้ายแล้วบิดหรือง้างออกสามารถสร้างความเจ็บปวดได้มาก เพียงนิ้วเดียวของคนร้ายไม่อาจสู้แรงนิ้วทั้งห้าของเราได้


ทั้งหมดนี้ผมไม่ได้ส่งเสริมให้คุณเข้าปะทะต่อสู้กับคนร้ายไม่ว่าคนไหนทั้งนั้น การหลีกเลี่ยงและหลบหนีจากอันตรายยังคงเป็นทางเลือกอันดับหนึ่งเสมอ แต่ในกรณีที่คุณไม่มีทางเลือกจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับคนร้าย ผมก็มีคำแนะนำ


“ให้ใช้กำลังที่ด้อยกว่าเล่นงานจุดอ่อนของคู่ต่อสู้ที่ตัวโตกว่า เพื่อหยุดยั้งภัยคุกคาม เปิดโอกาสให้เราเอาตัวรอดจากภาวะคับขัน ทั้งนี้เราจะต้องมีสติอยู่กับตัวยามเผชิญเหตุ ไม่เกรี้ยวกราดดุร้ายด้วยความโกรธหรือลนลานตะลึงงันด้วยความหวาดกลัว อารมณ์สุดขั้วทั้งสองนี้มีแต่จะผลักดันเราเข้าหาอันตรายไม่สิ้นสุด”


เรียบเรียงโดย Snap shot

Thursday, April 8, 2010

Knife Fighting Stances

Knife Fighting Stances



โดยทั่วไปหากมีการต่อสู้ด้วยมือเปล่าคนตัวใหญ่ย่อมได้เปรียบคนตัวเล็กกว่า แต่มีดถือเป็นอาวุธหนึ่งซึ่งทำให้คนตัวเล็กสามารถต่อสู้ป้องกันตัวจากคนตัวใหญ่ได้ จนบางคนเรียกอาวุธมีดว่าเป็น Equalizer (สิ่งที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน) ดังนั้นผู้หญิงตัวเล็กๆหากรู้วิธีใช้มีดต่อสู้ป้องกันตัวจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยทีเดียว


สำหรับทหารแล้วมีดถือเป็นอาวุธด้านสุดท้ายที่จะใช้เพื่อต่อสู้ป้องกันตัว (The last line of defense) ก่อนที่จะเป็นการต่อสู้ด้วยมือเปล่า (Hand to hand combat or Empty hand combat)


ในการใช้มีดเพื่อต่อสู้ป้องกันตัวนั้น นอกจากการจับและถือมีดอย่างถูกวิธีแล้ว ท่ายืนเตรียมพร้อม (Knife Fighting Stance) ก็เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ ท่ายืนเตรียมพร้อมที่จะใช้อาวุธมีดนั้นมีหลายรูปแบบแตกต่างกันตามแต่ละระบบของวิชามีดที่กำหนดขึ้น จะขอยกตัวอย่างเพียงบางรูปแบบ


ท่ายืนที่ดีนั้นควรให้ความมั่นคง สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ดี ให้การปกป้องส่วนสำคัญของร่างกายได้


1. ท่ายืนซึ่งมือข้างถือมีดจะอยู่ชิดลำตัว เพื่อลดโอกาสที่จะถูกฟันมือ ส่วนมืออีกข้างวางอยู่บริเวณหน้าอกข้างซ้ายเพื่อป้องกันหัวใจ เท้าข้างเดียวกับที่ถือมีดเป็นเท้านำ หันตัวเล็กน้อยเพื่อลดเป้าของเราให้บางลงและย่อตัวลงเล็กน้อยเพื่อความคล่องตัวในการเคลื่อนที่


2. ท่ายืนซึ่งมือข้างถือมีดอยู่ชิดลำตัวเช่นกัน แต่มืออีกข้างจะยกขึ้นสูงกว่าแบบแรกมาที่ระดับคาง เพื่อให้ท่อนแขนสามารถปกป้องลำคอได้ด้วย เพราะถือว่าเป็นเป้าหมายสำคัญแห่งหนึ่งจากการถูกโจมตีด้วยมีด เท้าข้างเดียวกับที่ถือมีดเป็นเท้านำและย่อตัวลงค่อนข้างต่ำเพื่อลดหน้าตัดของตัวเองให้เล็กลง (อวัยวะสำคัญของร่างกายส่วนใหญ่อยู่แนวกลางตัว ถ้าทำให้ส่วนนี้เล็กลงได้ด้วยการย่อตัวต่ำและใช้มือและแขนในการป้องกันจะลดโอกาสที่จะถูกจู่โจมที่อวัยวะสำคัญได้ยากขึ้น)


3. ท่ายืนซึ่งมือข้างถือมีดอยู่ห่างลำตัวงอข้อศอกประมาณ 90 องศา ถือมีดเฉียงประมาณ 45 องศาเพื่อความเป็นธรรมชาติของข้อมือ มีดอยู่ห่างตัวเล็กน้อย มืออีกข้างเอียงสันมือออกยกขึ้นสูงระดับคอเพื่อป้องกันลำคอ ข้อศอกชิดหน้าอก เท้าข้างเดียวกับที่ถือมีดเป็นเท้านำและหันตัวเล็กน้อยเพื่อลดหน้าตัดของลำตัว ย่อตัวลงเล็กน้อย ส้นเท้าหลังยกขึ้นเล็กน้อยเพื่อความคล่องตัวในการเคลื่อนที่ (ผมใช้ท่านี้)


4. ท่ายืนซึ่งมือข้างถือมีดอยู่ชิดลำตัว มืออีกข้างงอข้อศอกยกขึ้นตั้งฉากกับพื้นยื่นไปข้างหน้า เท้าตรงข้ามกับมือที่ถือมีดเป็นเท้านำ ย่อตัวลงเล็กน้อย


5. ท่าถือมีด Karambit ในรูปแบบหนึ่งของ Silat โดยมีดจะอยู่แนวกลางตัวระดับหน้าอก ปลายมีดชี้ไปข้างหน้า มืออีกข้างอยู่ข้างหลังมีด เท้าตรงข้ามกับที่ถือมีดเป็นเท้านำ ย่อตัวลงเล็กน้อย ตำแหน่งของการถือมีดยังมีอีกหลายรูปแบบ นอกจากท่ายืนถือมีด Karambit ซึ่งมีหลายลักษณะแล้วยังมีท่าถือมีดในท่านั่งอีกหลายแบบด้วย หากใช้มีดซึ่งมีสองคมจะทำให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


6. ท่าถือมีดรูปแบบหนึ่งของมีดไทยในลักษณะของ Reverse grip ซึ่งวิชามีดไทยนั้นมีหลายรูปแบบหลายสำนัก มีทั้งการถือมีดแบบ Forward และ Reverse grip โดยเฉพาะวิชามีดของค่ายศรีไตรรัตน์นั้น มีจุดเด่นที่ความยืดหยุ่นของวิชา มีการทรงตัวที่ดี บุกจู่โจมได้รุนแรง วิชามีดไทยนั้นไม่ได้ด้อยไปกว่าต่างชาติแม้แต่น้อย ควรให้การสนับสนุนและสืบทอดต่อไป (มีดไทยมีการถ่ายทอดกันน้อยลงเรื่อยๆเนื่องจากอาจารย์บางท่านไม่ส่งเสริม ประชาชนไม่นิยมและรัฐบาลไม่เห็นความสำคัญของศิลปะการต่อสู้แบบไทยโบราณ นับวันองค์ความรู้เหล่านี้จะค่อยๆจางหายไปจากสังคมไทย ในขณะที่ศิลปะการต่อสู้ของต่างชาติรวมทั้งวิชามีดกลับได้รับการสืบทอดอย่างต่อเนื่องและแพร่กระจายไปทั่วโลกจนมาถึงประเทศไทย อีกไม่นานวิชามีดไทยของเราอาจไม่มีหลงเหลือให้เห็นอีกต่อไป)


นอกจากนั้นยังมีการถือมีดทั้งสองมือ ซึ่งอาจถือมีดแบบ Forward grip ทั้งสองข้าง หรือถือมีดแบบForward grip ข้างหนึ่งกับ Reverse grip อีกข้างหนึ่ง หรือ Reverse grip ทั้งสองข้างก็ได้ ขึ้นกับวิชาที่เรียน การฝึกฝน ความถนัดของผู้ใช้มีด ส่วนเท้านำกับเท้าตามนั้นบางระบบเท้านำจะเป็นข้างเดียวกับมือที่ถือมีด บางระบบเป็นคนละข้างกัน บางระบบเท้าทั้งสองข้างอยู่ระดับเดียวกัน บางระบบไม่มีรูปแบบแน่นอนขึ้นกับความถนัดของผู้ฝึกเป็นสำคัญ ส่วนมือข้างที่ไม่ได้ถือมีดมักใช้ในการปกป้องส่วนสำคัญของร่างกายและใช้ร่วมกับการปัดป้องการจู่โจมจากคู่ต่อสู้ทั้งขณะตั้งรับและบุก


การต่อสู้ด้วยมีดนั้นมีอยู่ในหลายวัฒนธรรมทั่วโลก ทั้งในเอเชีย ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และอเมริกา ซึ่งบางประเทศถือว่าการต่อสู้ด้วยมีดนั้นเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมประจำชาติทีเดียว โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศแถบตะวันออกกลางมีลักษณะที่โดดเด่น


รูปแบบการต่อสู้ด้วยมีดสมัยใหม่ก็นำหลักการและวิธีการบางส่วนของวิชามีดเหล่านี้มาปรับใช้ให้มีความเรียบง่าย เรียนรู้ได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น


รูปแบบการต่อสู้ด้วยมีดที่นิยมในปัจจุบัน เช่น Kali, Silat, AMOK!, KAPAP, Haganah system, ระบบมีดต่อสู้ซึ่งสอนที่ศูนย์ฝึก Gunsite, มีดไทยสำนักต่างๆ เช่น ค่ายศรีไตรรัตน์ เป็นต้น


ไม่ว่าจะใช้วิชามีดระบบใดก็ต้องการการฝึกฝนเพื่อให้เกิดความชำนาญ คงไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าวิชาใดดีที่สุดเพราะขึ้นกับผู้ฝึกฝนเป็นสำคัญ ทุกวิชาล้วนมีประวัติอันยาวนานผ่านการพิสูจน์ในสมรถูมิมาอย่างโชกโชน ขอเพียงเรียนรู้และฝึกฝนให้เกิดทักษะความชำนาญ มีความมั่นใจในการใช้อาวุธมีดเพื่อป้องกันตัวเองก็ถือว่าเพียงพอแล้ว


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับมีดขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman


ขอขอบคุณศูนย์ฝึกอบรม สวนหลวงไฟท์คลับ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับมีดไทย

Thursday, April 1, 2010

ทักษะสำคัญกว่าความรู้

ทักษะสำคัญกว่าความรู้



“ผม (ดิฉัน) อยากเรียนศิลปะป้องกันตัว จะเรียนอะไรดี แล้วจะหาครูเก่งๆได้ที่ไหน ผม (ดิฉัน) อยากเรียนกับครูซึ่งเก่งที่สุด”


ผมได้รับคำถามเช่นนี้บ่อยมาก ซึ่งทุกครั้งผมก็จะตอบเหมือนกับที่เคยเขียนไว้ในบทความก่อนหน้านี้ คือ “ระบบไหนถูกใจคุณก็เรียนไปเถอะ เลือกเรียนได้แล้ว หาที่เรียนใกล้บ้าน ถ้าคุณไม่เริ่มต้นเสียที ก็อาจต้องรอจนตลอดชีวิต”


เคยเขียนไว้ว่า ในเมืองไทยไม่ค่อยมีใครสอน Self defense โดยตรง ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องเลือกเรียน Martial Art ให้ดูว่าระบบใดถูกใจเราแล้วก็มองหาที่ใกล้บ้านเพื่อความสะดวก เรียนกับครูสอนคนใดก็ได้ที่เราเห็นว่าเขามีความเป็นครูมากพอที่จะจัดอยู่ในสองประเภทนี้ คือ ครูที่ดีหรือครูที่ฉลาด


ครูที่ดี คือ ครูที่ยินดีสอนทุกอย่างที่ตัวเองรู้


ครูที่ฉลาด คือ ครูที่ยินดีสอนทุกสิ่งที่ลูกศิษย์ควรรู้


ครั้งนี้ผมจะขอเพิ่มเติมว่า อย่าตัดสินครูของคุณจากสีของสายคาดเอว ถ้วยรางวัลหรือเหรียญที่ตั้งโชว์ในตู้ หรือคำคุยโม้โอ้อวดที่เขาพูดให้คุณฟัง สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถทำให้คุณเรียนรู้ได้ดี หากครูของคุณไม่มีหัวใจซึ่งพร้อมจะถ่ายทอดความรู้ให้อย่างแท้จริง คุณควรพูดคุยกับเขา บอกเขาตรงๆว่าคุณต้องการเรียน Martial Art ไปทำไม ถามเขาทุกเรื่องที่คุณสงสัย เมื่อเลือกครูได้แล้วก็ควรไว้วางใจที่จะเรียนรู้จากเขาต่อไป ต้องระลึกไว้ว่า สายดำ ถ้วยหรือเหรียญรางวัลใดๆของครูไม่มีส่วนช่วยคุณให้ประสบความสำเร็จได้ ถ้าคุณใช้วิธีเรียนแบบมาตรงเวลา กลับตรงเวลา ทำทุกอย่างที่ครูบอก เลียนแบบท่าทางที่ครูทำ โดยไม่พยายามทำความเข้าใจหรือกลั่นกรองเสียก่อน เพราะคุณมาเรียน Martial Art ด้วยเหตุผลเพื่อการใช้ป้องกันตัว และเนื่องจากคุณมีเวลาน้อย (อายุเลยวัยเรียนมาแล้ว และมีหน้าที่การงานต้องรับผิดชอบอยู่) ดังนั้นคุณต้องมีวิธีพิเศษในการเรียนรู้ คือ


1. ดูและฟังอย่างถี่ถ้วน นักเรียน Martial Art ส่วนใหญ่จะให้สนใจเฉพาะเวลามาเรียนเท่านั้น แต่ถ้าอยากเรียนรู้เร็วก็ต้องให้เวลากับมันมากกว่านี้ มีสื่อการเรียนการสอนมากมายในยุคสมัยนี้ทั้งหนังสือ ซีดีสาธิตก็มีขายหลายสำนัก ถ้าหามาดูมาศึกษาเพิ่มเติมนอกเวลาเรียนได้ก็จะทำให้เราเข้าใจและก้าวหน้าได้เร็วขึ้น การดูก็ต้องดูให้ชัดเจน ทุกการเคลื่อนไหวที่สัมพันธ์กันทั้งมือและเท้า การฟังครูอธิบายหรือในซีดีอธิบายเทคนิคและขั้นตอนก็ฟังให้ชัดเจน สามารถย้อนกลับมาฟังหรือดูใหม่ได้เรื่อยๆ ถามครูผู้สอนให้เข้าใจอย่างท่องแท้ ก็จะเป็นการใช้เวลาอย่างคุ้มค่า


2. วิเคราะห์สิ่งที่ครูสอนอย่างละเอียด Martial Art ทุกระบบได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น นับย้อนเวลาได้เป็นร้อยเป็นพันปี ย่อมแตกกิ่งก้านสาขาจนมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย บางส่วนก็ไม่เหมาะกับยุคสมัย บางส่วนก็เป็นท่าแสดงที่มีลูกเล่นแพรวพราว อาจใช้เทคนิคชั้นสูงที่ละเอียดอ่อนมากๆหรือใช้สมรรถภาพของร่างกายกล้ามเนื้ออย่างชนิดที่ต้องใช้เวลาฝึกกันห้าปีสิบปีเป็นอย่างน้อย จึงเป็นหน้าที่ของผู้รับการฝึกเองที่จะกลั่นกรองสิ่งที่ครูสอน สิ่งที่อ่านพบในหนังสือหรือสิ่งที่เห็นในซีดี ถ้าส่วนไหนที่ไม่เข้ากับหลักเกณฑ์ของ Self defense ก็ไม่ต้องให้ความสำคัญมากนัก หลักเกณฑ์นั้นคือ


2.1 ไม่เน้นการรุกเข้าปะทะ แต่มุ่งปัดป้องกันตัวให้ปลอดภัยเป็นหลัก


2.2 มีการเคลื่อนไหวเรียบง่ายไม่ฝืนธรรมชาติของเรา


2.3 ทั้งการตั้งรับและตอบโต้เป็นไปอย่างกระชับไม่ยืดเยื้อ

2.4 สำคัญที่สุดคือ ไม่ต้องมีกระบวนท่าเยอะแยะมากมาย ยิ่งน้อยยิ่งดี

3 ฝึกให้ชำนาญจริงๆ ข้อนี้สำคัญที่สุด เมื่อเลือกเทคนิคที่ถูกใจของเราแล้ว ต้องฝึกบ่อยๆ ทำซ้ำๆหลายครั้ง อย่าเบื่อหน่าย อย่ารีรอเพราะคิดว่าอาจมีท่าอื่นหรือเทคนิคอื่นที่ดีกว่าหรือยอดเยี่ยมกว่านี้ ผมขอยืนยันว่าในโลกนี้ไม่มีท่าไม้ตาย วิชาสุดยอด หรือคำภีร์ลับใดๆทั้งสิ้น เทคนิคไหนที่คุณใช้ได้คล่องที่สุดก็คือ ไม้ตายของคุณ เพราะการต่อสู้ป้องกันตัวเป็นเรื่องเฉพาะตัว การไปดูในหนัง ในซีดีสาธิต Martial Art หรือดูจากคนเก่งอื่นๆแล้วพยายามลอกเลียนแบบท่าทางที่ดูเท่ ดูสวยงาม อาจใช้ไม่ได้ผล เพราะท่าเหล่านั้นอาจเป็นท่าสาธิตที่เน้นความคล่องแคล่วสวยงามแต่ไม่คำนึงถึงการใช้งานจริงและอาจไม่เหมาะกับสรีระหรือความถนัดของคุณ อย่าผูกตัวเองไว้กับกฎเกณฑ์ของ Martial Art ที่คุณเรียน เช่น บางระบบเขาไม่ให้เตะ บางระบบไม่ให้ต่อย แต่คนร้ายในชีวิตจริงมันไม่สนใจกติกาเหล่านี้ คุณสร้างระบบ Self defense ของคุณขึ้นมาได้เอง เพื่อปกป้องชีวิตของคุณและคนที่คุณรัก “ฝึก ฝึก ฝึก ฝึกท่าเดียวอย่างหนัก ดีกว่ามี 20 ท่าแต่ใช้ไม่ได้สักท่า”

เรียบเรียงโดย Snap shot
 

Samsung LCD televisions