Friday, March 26, 2010

Triumph Triangle

Triumph Triangle



เมื่อมีการการปะทะใช้กำลังกับคู่ต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ในการกีฬา ศิลปะการต่อสู้หรือการป้องกันตัว ผู้ที่มีทักษะดีกว่าย่อมมีโอกาสชนะหรือพิชิตคู่ต่อสู้ได้ ปัจจัยอันทำให้คุณมีโอกาสชนะนั้นประกอบด้วย 3 ข้อ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของการต่อสู้ป้องกันตัว การรักษาสมดุลย์ระหว่างปัจจัยเหล่านี้ในแต่ละสถานการณ์เป็นสิ่งสำคัญ เราเรียกความสัมพันธ์ของทั้ง 3 ปัจจัยนี้ว่า สามเหลี่ยมแห่งชัยชนะ (Triumph Triangle)


1. ความเร็ว (Speed) ความเร็วที่เหมาะสมในการเคลื่อนที่หรือเคลื่อนไหวร่างกายเป็นปัจจัยสำคัญ โดยทั่วไปเมื่อเราโจมตีก็ต้องการความเร็วในการจู่โจมและออกอาวุธ ในการตั้งรับก็ต้องการความเร็วในการป้องกันอาวุธซึ่งคนร้ายพุ่งใส่เรา ความเร็วที่ใช้จึงต้องเหมาะสม ไม่เร็วหรือช้าเกินไป ในบางสถานการณ์หากเร็วเกินไปการโจมตีนั้นอาจขาดพลังและความแม่นยำ จึงขาดประสิทธิภาพในการหยุดยั้งภัยคุกคามไปด้วย ถ้าหากช้าเกินไปแม้จะมีพลังและความแม่นยำแต่ก็อาจไม่ทันการณ์ถูกคนร้ายโจมตีก่อนหรือหลบหลีกได้ทัน ซึ่งเราอาจพลาดโอกาสที่จะจู่โจมคนร้ายเพื่อสร้างความได้เปรียบในการต่อสู้ป้องกันตัว


2. ความแม่นยำ (Accuracy) ไม่ว่าจะเป็นความแม่นยำในการเคลื่อนที่หรือเคลื่อนไหวร่างกายถือว่าสำคัญทั้งสิ้น หากเราสามารถออกอาวุธไปยังเป้าหมายได้อย่างถูกต้องแน่นอนซึ่งมักเป็นตำแหน่งที่สำคัญก็อาจหยุดยั้งภัยคุกคามได้ ย่อมสร้างความได้เปรียบอย่างมากในการต่อสู้ที่มีชีวิตเป็นเดิมพัน แม้แต่การตั้งรับเราก็ต้องการความแม่นยำในการหลบหลีกหรือปัดป้องการโจมตีของคนร้ายอย่างถูกที่ถูกตำแหน่ง


3. พละกำลัง (Power) พลังในการโจมตีหรือการตั้งรับนั้นมีความสำคัญไม่น้อย หากเราออกอาวุธออกไปแม้จะรวดเร็วแม่นยำแต่หากขาดพลังที่เพียงพอก็อาจไม่สามารถหยุดยั้งภัยคุกคามได้ ในการป้องกันตัวนั้นคงไม่จำเป็นจะต้องใช้พลังหรือกำลังอย่างมากมายในการเอาตัวรอด แต่การรู้จักใช้พละกำลังอย่างเหมาะสมนั้นสำคัญที่สุด ไม่แรงหรือเบาเกินไป ในบางสถานการณ์อาจต้องใช้กำลังมาก บางช่วงไม่จำเป็นต้องใช้แรงมากก็สามารถสยบภัยคุมคามได้แล้ว


การสร้างสมดุลย์ระหว่าง ความเร็ว ความแม่นยำ และ พละกำลัง นั้นสำคัญที่สุดในการต่อสู้ป้องกันตัว ไม่ว่าจะใช้มือเปล่าหรือใช้อาวุธ เช่น มีด ไม้ หรือปืน ก็ตาม


ในบางท่าหรือบางสถานการณ์เราอาจต้องใช้ความเร็วเป็นหลัก ไม่ต้องใช้แรงมากก็ได้ ในบางสถานการณ์ต้องใช้แรงมากในการจู่โจมหรือตั้งรับ บางสถานการณ์ความแม่นยำต้องมาอันดับแรก ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาศัยทักษะในการตัดสินใจและการฝึกฝนเป็นสำคัญ


ผู้ที่มีทักษะดีก็คือผู้ซึ่งฝึกฝนบ่อยๆ เพื่อสร้างทั้งสามปัจจัยดังกล่าวนั้นเอง เรียนรู้การใช้ความเร็ว ความแม่นยำและพละกำลังอย่างเหมาะสม


ในการป้องกันตัว (Self-defense) นั้นจะเลือกใช้วิธีที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน มีประสิทธิภาพ ฝึกฝนได้ในเวลาอันสั้น ใช้กำลังไม่มากเพื่อให้สามารถใช้ได้ทุกเพศโดยเฉพาะผู้หญิงซึ่งมีพละกำลังน้อยกว่าผู้ชาย จึงต้องเรียนรู้วิธีใช้กำลังอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อโจมตีไปยังจุดอ่อนของร่างกายมากกว่าการใช้กำลังเข้าปะทะตรงๆ


สุดท้ายนี้ขอให้ตั้ง “สติ” ทุกครั้งเมื่อเผชิญเหตุ และขอให้ “พลังจงอยู่กับท่าน"

เรียบเรียงโดย Batman

Tuesday, March 16, 2010

Negotiation in critical situations

Negotiation in critical situations



การเจรจาต่อรองในสถานการณ์วิกฤติ (Negotiation in critical situations) เช่น การเจรจากับคนร้ายซึ่งมีตัวประกัน คนที่กำลังคิดจะฆ่าตัวตาย ภัยคุกคามซึ่งหน้าอันอาจก่ออันตรายต่อเราหรือบุคคลอื่น หรือในกรณีที่เราตกเป็นตัวประกัน การพูดจากับคนร้ายหรือภัยคุกคามนั้นอาจก่อได้ทั้งคุณและโทษ การเจรจาอย่างเหมาะสมอาจทำให้เรารอดพ้นจากภัยคุกคามได้


โดยทั่วไปเราไม่แนะนำให้ประชาชนธรรมดามาทำหน้าที่เจรจาต่อรองกับคนร้ายและเราไม่ควรเสนอตัวเองเพื่อทำหน้าที่นี้ด้วย เนื่องจากการเจรจาต่อรองนั้นมีความซับซ้อน ความเครียด และต้องใช้ความรู้มาก เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งจะทำหน้าที่เจรจาต่อรองนั้นต้องผ่านการฝึกมาโดยเฉพาะ ได้รับการคัดเลือกมาเป็นพิเศษ รู้ขั้นตอนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างดี และทำงานเป็นทีม (Hostage Negotiation Team, HNT)


แต่ในกรณีจำเป็นเราอาจต้องใช้ทักษะด้านนี้ในการช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา หรือหากต้องเจรจากับคนร้ายก็ขอให้ใช้หลักการที่จะกล่าวถึงต่อไป ดีกว่าไม่รู้หลักอะไรเลยซึ่งอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง


การเจรจาต่อรองในที่นี้จะยึดหลักของการเจรจากับคนร้ายที่มีตัวประกัน แต่ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์อื่นๆได้ด้วย


จุดมุ่งหมายการเจรจาต่อรอง


1. สามารถทำให้เหตุการณ์ยุติลงได้


2. ถ่วงเวลาคนร้าย


3. หาข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับคนร้ายเพื่อใช้ในการวางแผน


สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำในการเจรจาต่อรอง


1. ตั้ง “สติ” ให้ดี


2. อย่าพยายามเจรจากับคนร้ายโดยไม่จำเป็น เพราะอาจยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งได้รับการฝึกฝนมาด้านนี้โดยเฉพาะจะเหมาะสมกว่า


3. ผู้เจรจาต้องพยายามวินิจฉัยเบื้องต้นถึงลักษณะของคนร้ายที่จับตัวประกัน : มีความบกพร่องทางจิต วิกลจริต หรือมีวัตถุประสงค์ใด


4. อย่าโต้เถียง โต้แย้ง พูดขัดคอหรือท้าทาย


5. อย่ายั่วยุให้โกรธ


6. อย่าโกหกหรือใช้อุบายหลอกลวงโดยไม่จำเป็น


7. พูดด้วยเหตุผล


8. อย่าสอบถามว่าคนร้ายต้องการหรือเรียกร้องอะไร แต่ให้พยายามฟังคนร้ายพูด แล้วจับประเด็นว่าคนร้ายต้องการหรือเรียกร้องอะไร


9. ในกรณีที่คนร้ายต้องการเจรจาด้วย ให้พยายามพูดในเชิงให้คนร้ายมีอาการสงบ


10. พูดด้วยความเห็นใจ


11. ให้คนร้ายพูดระบายความรู้สึกให้มาก


12. อย่าให้คนร้ายเสียหน้า


13. รักษาการสบตาไว้เสมอ (เดินเข้าไปหา – ถอยออกมา)


14. อย่าหันหลังให้คนร้ายเป็นอันขาด


15. ถ้าคนร้ายจะหลบอยู่หลังที่กำบัง ท่านควรต้องอยู่หลังที่กำบังเช่นกัน

16. ให้เขาสัญญาว่าจะไม่ยิง


17. ปฏิเสธ อย่ายอมเข้าหาถ้ามีอาวุธจ้องมาที่ตัวท่าน


18. อย่าเจรจาต่อรองกับคนร้ายหลายคนพร้อมกัน

19. อย่าเข้าใกล้คนร้ายถ้าเขามีระเบิด

20. การเจรจาต่อรองจากหลังที่กำบัง เป็นวิธีที่ดีกว่ายืนในที่โล่งแจ้ง

21. ห้ามปฏิเสธคำขอหรือข้อเรียกร้องของคนร้ายโดยสิ้นเชิง

22. ห้ามพูดขู่เข็ญ ข่มขู่ คนร้ายไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ

23. อย่ากำหนดเวลาในการให้อย่างหนึ่งอย่างใด

24. อย่าให้คำแนะนำใดๆถ้าเป็นไปได้ ไม่ควรชี้โพรงให้กระรอก

หากโชคร้ายตกเป็นตัวประกัน คุณจะทำอย่างไร


1. ตั้ง “สติ” ให้ดี


2. งานของคุณ คือ การเอาตัวรอด


3. ตอนเริ่มแรกของการถูกจับกุมอย่าพยายามต่อสู้


4. พยายามผ่อนคลาย ยอมรับสถานการณ์


5. ทำตามคำสั่งผู้จับกุม


6. อย่าขอร้อง สารภาพ สบถ หรือร้องไห้ เพราะจะทำให้บรรยากาศตึงเครียดมากขึ้น


7. อย่าพยายามหลบหนี เว้นแต่ว่าคุณจะแน่ใจว่าหลบหนีได้สำเร็จ


8. อาจโอนอ่อนผ่อนตาม


9. ควรอาศัยช่วงเวลาดังกล่าวรับรู้สภาพจิตใจ และความเป็นมาเป็นไปของผู้ก่อเหตุ เพื่อที่อาจจะได้เก็บเป็นข้อมูลไว้ใช้คราวจำเป็น


10. อย่าพยายามช่วยเหลือหากการประสานงานที่มิได้เตรียมการเป็นอย่างดีระหว่างเจ้าหน้าที่กับเรา

11. ถ้ามีหน่วยช่วยเหลือเข้าไปด้วยการจู่โจม ให้นอนราบกับพื้น ยกมือขึ้นเหนือศีรษะ เมื่อสถานการณ์สงบจึงแสดงตัว

ควรใช้คำถามปลายเปิด เช่น ทำไม อย่างไร เป็นต้น หลีกเลี่ยงคำถามปลายปิด เช่น ใช่หรือไม่ใช่ ได้หรือไม่ได้ เป็นต้น เพื่อให้คนร้ายได้พูดระบายความรู้สึกออกมา เป็นการถ่วงเวลาและสามารถเรียนรู้ลักษณะของคนร้ายได้ด้วย อาจพูดทวนคำพูดของคนร้ายเพื่อถ่วงเวลาและให้ได้ใจความชัดเจนตรงกับคนร้าย

การเจรจาต่อรองยังมีรายละเอียดอีกมากทั้งวิธีการและแนวทางปฏิบัติ หลักการดังกล่าวเป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นซึ่งประชาชนสามารถนำไปปรับใช้ได้

สุดท้ายนี้ขอให้ตั้ง “สติ” ทุกครั้งเมื่อเผชิญเหตุ และขอให้ “พลังจงอยู่กับท่าน”

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง การเจรจาต่อรองเพื่อช่วยเหลือตัวประกันกับหน่วยปฏิบัติการพิเศษ, หลักการเจรจาต่อรอง โดย พล.ต.ต.อรรถกฤษณ์ ธารีฉัตร ผบก.ส.3

Tuesday, March 9, 2010

อาวุธซ่อนรูป

อาวุธซ่อนรูป



(ฉากหนึ่ง เทคหนึ่ง) หญิงสาววิ่งเตลิดเข้ามาในห้องอย่างรวดเร็ว ดวงตาเบิกโพรงด้วยความตื่นตระหนก มันเป็นห้องครัวของโรงแรมแห่งหนึ่ง ภายในห้องระเกะระกะไปด้วยอุปกรณ์เตรียมอาหารที่ถูกทิ้งไว้เกลื่อนกราด ข้างหลังหล่อนมีฆาตกรโรคจิตเดินลากขาข้างหนึ่งมาช้าๆ มือกำมีดล่าสัตว์เล่มยาวที่เกรอะกรังไปด้วยเลือด ดวงตาหลังหน้ากากฮอกกี้จ้องเขม่งมาที่หล่อน หญิงสาววิ่งพล่านไปทั่วห้องพยายามหาทางออกจนพบประตูหลัง แต่มันกลับถูกปิดแน่น หล่อนเขย่าประตูอย่างบ้าคลั่ง ฆาตกรร้ายก้าวมาเบื้องหลังหล่อน หญิงสาวหันมาอีกครั้ง หล่อนกรีดร้องสุดเสียงอย่างสิ้นหวัง ยกมือปิดหน้าด้วยความหวาดกลัว สิ่งสุดท้ายที่สายตามองเห็นผ่านนิ้วทั้งสิบของหล่อน คือภาพวายร้ายเงื้อมีดสูง แล้วฟันฉับลงมาอย่างแรง...... Cut!


หลายคนคงคุ้นเคยกับฉากภาพยนตร์นี้ดี เพราะผู้สร้างมักนำเสนอให้เราได้เห็นอยู่บ่อยๆ เราก็ดูด้วยความสยดสยอง ตื่นเต้น ไม่รู้เบื่อ จนรู้สึกว่าผู้สร้างพยายามยัดเยียดความเข้าใจผิดบางอย่างให้กับคนดู เขาพยายามสื่อว่าเหยื่อสาวในเรื่องนี้ อับจนสิ้นหนทางจริงๆ หล่อนทั้งไม่มีทางหนีและไม่มีทางสู้ ไม่มีอาวุธอะไรจะใช้ป้องกันตัวเลย ดังนั้นหล่อนต้องตายแน่ๆ


ผมเข้าใจว่ามันเป็นความพยายามเพื่อโน้มน้าวเราให้รู้สึกตื่นเต้น สนุกสนานไปตามบทเท่านั้นไม่น่าจะเป็นจริงไปได้ แต่เมื่อมีโอกาสเห็นคลิปวีดิโอจากเหตุการณ์จริงซึ่งเป็นภาพจากกล้องวงจรปิด ปรากฏว่าเหยื่อของความรุนแรงในชีวิตจริงก็มีปฏิกิริยาต่อความรุนแรงของคนร้าย ไม่แตกต่างจากเหยื่อสาวในหนังที่ผมเคยดู คือ สติแตก ไม่รู้จะรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร ไม่รู้จะป้องกันตัวอย่างไร จนกระทั้งถูกทำร้ายลงไปนอนกับพื้น ทั้งๆที่เหยื่อบางรายก็เป็นชายหนุ่มร่างไม่เล็กและส่วนหนึ่งก็รู้ตัวอยู่แล้วว่ากำลังถูกไล่ล่า


ในการฝึกการป้องกันตัว (Self defense) ครูฝึกจะสอนให้ผู้รับการฝึกได้เรียนรู้การใช้อาวุธพื้นฐานในการป้องกันตัว เช่น พลองยาว ไม้สั้น มีดสั้น ดาบ ฯลฯ เราจะได้ทำความเข้าใจกับลักษณะทั่วไปของอาวุธเหล่านี้ อันตรายของมัน การจับถืออย่างถูกวิธี และวิธีการใช้เบื้องต้น แน่นอนระยะเวลาในการฝึกช่วงสั้นๆ ไม่อาจฝึกฝนการใช้อาวุธทั้งหมดให้เชี่ยวชาญได้ แต่ก็พอมีความรู้ อาวุธพื้นฐานส่วนใหญ่มีรูปร่างไม่เหมาะกับการพกพาติดตัวในปัจจุบัน แต่คนที่ได้รับการฝึกในแนวทางของ Self defense จะรู้ดีว่ามีอาวุธพื้นฐานจำนวนมากวางอยู่ทั่วไปในรูปของเครื่องมือเครื่องใช้ประจำวันของเรานี่เอง เช่น มีมีดจำนวนมากซ่อนรูปอยู่ในอุปกรณ์เตรียมอาหารในครัว อยากได้พลองยาว กระบองสั้น มันก็ซ่อนรูปอยู่ในไม้ม็อบถูพื้นหรือราวแขวนม่าน เครื่องมือเกษตร เช่น ด้ามจอบ ด้ามเสียมก็มี ฝาหม้อโลหะขนาดใหญ่หาได้ไม่ยากในครัว ฝาตุ่ม เก้าอี้นั่ง ฝาถังขยะสามารถเอามาทำโล่ป้องกันอาวุธคนร้ายได้เป็นอย่างดี หากเราลืมสเปรย์พริกไทไว้ในรถ สิ่งที่คล้ายๆกันนี้ซ่อนรูปในเครื่องปรุงอาหารมากมาย เช่น พริกไท น้ำปลา เกลือป่น น้ำส้มสายชู มัสตาด พริกป่น เป็นต้น หากเข้าตาใครก็ต้องหมดสภาพทันที อีกทั้งหาได้ง่ายบนโต๊ะในร้านอาหารทุกแห่ง ยามคับขันก็คว้ามาไว้ในมือพร้อมใช้ ส่วนตะเกียบ ไม้เสียบลูกชิ้นปิ้ง เหล็กเสียบบาบีคิว ใช้แทนมีดสั้น ใช้ทิ่มแทงสกัดกั้นได้ดี

นิตยสารปกอ่อนทั่วไปเอามาม้วนเข้าก็กลายเป็นไม้สั้น กระทุ้ง ฟาด ใส่คนร้าย หากมีสมุดปกแข็งอยู่ใกล้มือยิ่งดี สันหนังสือใช้ฝาดใส่คนร้ายได้เหมือนโดนหวดด้วยไม้ รองเท้าส้นตึก รองเท้าส้นสูง 3 ถึง 4 นิ้ว ถอดออกมาทำให้วิ่งหนีได้ถนัดขึ้น หากถูกยื้อยุดฉุดรั้ง ใช้ฟาด ใช้กระทุ้งใส่มือ ใส่หน้าคนร้าย ส่วนดินสอ ปากกา แกนเสียบกระดาษโน้ต หรือแม้แต่ปลายเล็บของเราเอง ใช้ทิ่มแทงได้


ยุคสมัยนี้สุจริตชนอาจถูกเล่นงานจากคนร้ายได้ทุกเวลา ทุกสถานที่และทุกเหตุผล บางครั้งไม่มีเหตุผลเลยก็มี เตือนใจให้ตื่นตัวไว้เกิดอะไรขึ้นจะได้ไม่สติแตกไปเสียก่อน อย่าลืมมองหาตัวช่วยที่ซ่อนรูปอยู่รอบๆตัวเรา มีเขาเป็นผู้ช่วยยังไงก็ดีกว่ามือเปล่าแน่นอน


เรียบเรียงโดย Snap shot

การบรรยายเรื่องการป้องกันตัว

การบรรยายเรื่องการป้องกันตัว



เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 53 ทาง Thai Tactical Shooting Club หรือ TAS มีการสัมมนาวิชาการเกี่ยวกับการใช้อาวุธปืนและฝึกอบรมให้แก่คณะครูฝึก ผมได้รับเกียรติจากทางชมรม TAS ให้บรรยายในหัวข้อ “การป้องกันตัว” โดยเริ่มจากการประเมินสถานการณ์ การเจรจาต่อรอง การแก้ไขสถานการณ์โดยไม่ใช้อาวุธ ระดับของการใช้กำลัง การใช้อาวุธที่ไม่มีอันตรายถึงชีวิต และปิดท้ายด้วยอาวุธที่มีอันตรายถึงชีวิต ซึ่งก็คือ มีดและปืน นั้นเอง


ได้มีโอกาสชี้แจงความแตกต่างระหว่าง ศิลปะการต่อสู้ (Martial Art) และ การป้องกันตัว (Self-defense) ให้กับครูฝึก TAS ได้ทราบ


ได้กล่าวเน้นย้ำถึงการใช้อาวุธปืนเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ใช้ด้วยเหตุด้วยผลที่เหมาะสม ไม่ใช้อารมณ์ ควรเลือกการป้องกันตัวด้วยวิธีอื่นก่อนหากเป็นไปได้ พยายามหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ร้ายๆด้วยการมี “สติ” ตลอดเวลา


ผู้อ่านทุกท่านก็สามารถเรียนรู้การป้องกันตัวได้ด้วยการอ่านบทความที่มีประโยชน์ในเว็บไซด์นี้หรือในหนังสือ นิตยสารอื่นๆ และหาโอกาสฝึกฝนการป้องกันตัวด้วยกำลังจากหลักสูตรการป้องกันตัวต่างๆที่เปิดสอน เพื่อเพิ่มโอกาสรอดให้กับตัวเราเองหากต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่ร้ายแรง


Batman

Tuesday, March 2, 2010

Shouting as a weapon

Shouting as a weapon



ควรเรียนรู้ที่จะใช้ “พลังเสียง” ของเราให้เป็นประโยชน์ในการป้องกันตัว เช่น การตวาดเสียงดังว่า “หยุด!” “อย่า!” “ไม่!” “ออกไป!” “อย่าเข้ามา!” จะมีประโยชน์มาก


การตวาดเสียงดัง(Shouting) หรือการร้องตะโกนเสียงดัง (Yell) อาจชะงักคนร้ายได้ชั่วขณะแต่มักได้ผลเพียงครั้งแรกเท่านั้น เป็นการซื้อเวลาให้เราได้หาทางหนีทีไล่ นอกจากนั้นหากทำร่วมกับการโจมตีคนร้ายมันอาจช่วยเพิ่มพลังในการจู่โจมได้ด้วย เป็นการกระตุ้นทั้งร่างกายและจิตใจ (จะเห็นได้ว่าในศิลปะการต่อสู้หลายประเภท บางครั้งเราต้องเปล่งเสียงตะโกนออกมาเพื่อเพิ่มพลังในการโจมตีคู่ต่อสู้)


แตกต่างจากการกรีดร้อง (Screaming) ซึ่งเสียงถูกเปล่งออกจากลำคอ เป็นสิ่งบ่งบอก “ความกลัว” ซึ่งไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด ขณะที่การตวาดเสียงดังนั้นพลังเสียงมาจากกระบังลมจึงต้องใช้กล้ามเนื้อท้องช่วย ซึ่งท้องถือเป็นจุดศูนย์รวมของพลังในร่างกาย


การร้องตะโกนหรือการตวาดเสียงดังอาจทำให้คนร้ายรู้สึกประหลาดใจและกลัวว่าจะมีคนอื่นมาช่วยเหลือเหยื่อเพราะเสียงดังกล่าว


จากสถิติพบว่า 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ของผู้ที่รอดจากการถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรงเกิดจากการใช้พลังเสียงดังกล่าวช่วยด้วย


การร้องตะโกนว่า “ช่วยด้วยๆ!” หรือ “ไฟไหม้ๆ!” อาจเรียกร้องความสนใจได้บ้าง แต่หากตะโกนว่า “ฉันถูกทำร้าย ช่วยเรียกตำรวจที!” อาจได้รับความสนใจมากกว่า


การสร้างความประหลาดใจให้กับภัยคุกคามถือเป็นหลักการเอาตัวรอดที่สำคัญอย่างหนึ่ง การใช้เสียงก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถสร้างความประหลาดใจได้ เพราะโดยทั่วไปคนร้ายมักเลือกเหยื่อที่ดูอ่อนแอ ไม่คาดคิดว่าจะมีการตอบโต้กลับมาได้


การใช้เสียงนั้นต้องดูจังหวะดีๆ ในกรณีที่คนร้ายมีอาวุธมาด้วยการใช้เสียงก็ต้องระวังมากขึ้นเพราะคนร้ายอาจใช้อาวุธของตน แต่ถ้าคนร้ายยังไม่ได้แสดงอาวุธการที่เราพูดคุยกับคนร้ายด้วยน้ำเสียงที่สงบ จะเป็นเครื่องช่วยบอกกับคนร้ายว่าเขาไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธ และเมื่อมีโอกาสก็จงสร้าง “ความประหลาดใจให้กับภัยคุกคาม” เสีย


สุดท้ายนี้ขอให้ตั้ง “สติ” ทุกครั้งเมื่อเผชิญเหตุ และขอให้ “พลังจงอยู่กับท่าน”

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Yell and Shout Your Voice As a Weapon ของ Womens self defense instructions online