Friday, November 26, 2010

Balisong Knife

Balisong Knife



มีดผีเสื้อ หรือ Balisong (บางครั้งเรียกว่า Butterfly knife, Fan knife หรือ Batangas knife) เป็นมีดพกที่มีด้ามมีดสองอันหมุนรอบแกนกลางมีดเพื่อเปิดหรือปิดใบมีด ขณะพับเก็บจะมีด้ามสองอันประกบใบมีดเอาไว้ทั้งสองด้านคล้ายแซนวิช (Sandwich-style butterfly knife)


การควงมีดเพื่อเปิดและปิดใบมีดมีหลายรูปแบบ เรียกการทำเช่นนี้ว่า Flipping หรือ Fanning มีดนี้ใช้กันมากในประเทศฟิลิปปินส์ และกลุ่มคนที่ฝึก Filipino Martial Arts


จุดกำเนิดของมีดชนิดนี้ไม่แน่ชัดนัก บางคนเชื่อว่ามีมานานตั้งแต่ 800 ปีก่อนคริสตกาลเสียอีก ซึ่งใช้เป็นอาวุธที่นิยมมากในแถบนี้


มีด Balisong ถ้าเป็นแบบดั้งเดิม (Traditional) จะทำด้วยมือ เรียกว่า Filipino Handmade (FHM) คุณภาพจึงมีความหลากหลายมาก ถือเป็นมีดพกพาเพื่อใช้งานทั่วไป (Utility knife) แต่ก็สามารถใช้เป็นอาวุธป้องกันตัวได้เช่นกัน


ในฟิลิปปินส์เองจะเรียกมีดชนิดนี้ว่า Beinte Nueve (ภาษาสเปน แปลว่า 29) ซึ่งมีตำนานเล่าว่า มีนักรบคนหนึ่งใช้มีดนี้สังหารศัตรูได้ถึง 29 คน ในการต่อสู้เพียงครั้งเดียว นอกจากนั้นความยาวมาตรฐานของมีดชนิดนี้ก็ใช้เลข 29 เซ็นติเมตรด้วย มีดแบบนี้คาดว่าอาจเป็นมีดพกชนิดแรกที่เปิดได้ด้วยมือเดียว


ใบมีดส่วนใหญ่จะมีคมด้านเดียว ยกเว้นมีดสมัยใหม่บางรุ่นที่มีคมสองด้าน และมีการออกแบบใบมีดหลากหลาย เป็นหนึ่งในมีดที่มีไว้ใช้งานหรือสะสมสำหรับผู้ชื่นชอบมีดลักษณะนี้


หลังสงครามโลกครั้งที่สองมีด Balisong ได้รับความนิยมในอเมริกามากขึ้น เมื่อทหารอเมริกันถอนกำลังกลับไปจากการสู้รบในแถบนี้จึงนำวัฒนธรรมมีดลักษณะนี้กลับไปด้วย


ในการฝึกใช้มีดชนิดนี้ควรใช้มีดซ้อม (Balisong Trainer) ก่อนเพื่อความปลอดภัย บริษัทมีดชั้นนำทั่วโลกมีการผลิตมีด Balisong ออกมาอย่างต่อเนื่อง


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับมีดขอให้มี “สติ”


หมายเหตุ Batangas เป็นชื่อจังหวัดหนึ่งในฟิลิปปินส์อยู่ทางตอนใต้ของกรุงมะนิลา คำว่า Balisong และวัฒนธรรมการใช้มีดแบบนี้เชื่อว่าอาจมีต้นกำเนิดมาจากที่นี่


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Balisong ของ Balisong.net, Balisong history ของ Balisong.com, Wikipedia

Friday, November 19, 2010

ฟันโจร ติดคุกได้

ฟันโจร ติดคุกได้



คดีเจ้าของบ่อปลาดักฟันคอโจรขาดขณะลอดช่องรั้วไม้เข้าไปขโมยปลาในบ่อ ศาลลงโทษจำคุกเจ้าของปลา โจรคนนั้นเคยขโมยปลาไปหลายครั้งแล้ว แต่ขาดหลักฐานจับโจรได้คาตา เจ้าของปลาจึงแค้นใจมากแล้ววางแผนฆ่าโจร หลายคนสงสัยว่าทำไมศาลจึงลงโทษผู้เสียหายทั้งที่เขากระทำต่อโจร เราจะมารู้มุมมองของสายตากฎหมายต่อการกระทำต่อโจรของผู้เสียหายกัน


ความเชื่อที่ผิดพลาดของผู้เสียหายคือ ใช้อาวุธต่อโจร แล้วไม่ติดคุกแน่ ขอให้พึงสังวรไว้ว่า สายตากฎหมายมองผู้ใช้อาวุธเหมือนกันหมด คือ เป็นบุคคลอันตรายและรู้ถึงศักยภาพของอาวุธดี ทุกครั้งที่ใช้อาวุธจักต้องมีความรับผิดชอบเสมอ แม้กฎหมายจะมีข้อยกเว้นไม่ต้องรับโทษสำหรับองค์ประกอบพิเศษเมื่อใช้อาวุธเพื่อป้องกันชีวิตตัวเองก็ตาม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้ตัดสินเป็นหลัก


การป้องกันตัวเองโดยใช้อาวุธนั้น ถ้าไม่เกินสมควรแก่เหตุ กฎหมายถือว่าการกระทำนั้นไม่มีความผิด ก็ไม่ต้องรับโทษ ตัวอย่างเช่น โจรใช้มีดไล่แทงผู้เสียหายซึ่งก็ใช้มีดแทงโจรตาย ถ้าพฤติกรรมประกอบชี้ได้ว่า ผู้เสียหายทำเพื่อป้องกันตัว มิใช่มีแค้นส่วนตัวหรือมีการวางแผนล่วงหน้าอำพรางคดี ก็เรียกได้ว่า การแทงโจรตายเป็นการกระทำพอสมควรแก่เหตุที่จะไม่ถือเป็นความผิดอาญาได้


พฤติการณ์อย่างใดที่มองว่าเป็นการทำพอสมควรแก่เหตุ ไม่มีลักษณะที่ชัดเจน แต่ใช้ข้อเท็จจริงในคดีเป็นหลักพิจารณา อาทิเช่น ผู้เสียหายต่อสู้แย่งมีดจากโจรที่ถือมีดหรือมีปืน แล้วผู้เสียหายแทงโจรตาย 1-2 ครั้งที่ท้องหรือหน้าอก ศาลอาจมองว่าการกระทำนี้ถือเป็นการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น การเทียบอาวุธระหว่างผู้เสียหายกับโจรก็มีส่วนสำคัญในการพิจารณาหาระดับป้องกันตัวหรือไม่ด้วย เช่น โจรมีมีด ผู้เสียหายมีปืนสั้นหรือปืน M16 และยังเคยเข้าคอร์สฝึกยิงปืน เมื่อเจอโจรก็ระดมยิงโจรเป็นสิบนัด ศาลอาจมองว่านี่เป็นการป้องกันตัวที่เกินสมควรแก่เหตุก็ได้ เนื่องจากผู้เสียหายรู้จักควบคุมปืน จึงรู้ว่าน่าจะหยุดโจรด้วยกระสุนกี่นัดและไม่ควรเจาะจงฆ่าโจรด้วยปืน เป็นต้น ในสายตากฎหมายนั้นปืนถือเป็นอาวุธอันตรายสูงสุดเมื่อเทียบกับมีด ดังนั้น คนมีปืนจึงถูกเพ่งเล็งพิเศษ ถ้าใช้เพื่อป้องกันตัว ต้องไม่เน้นการฆ่าให้ตาย แต่ควรทำเพื่อยับยั้งคนร้ายเป็นหลัก จึงถือว่าเป็นการทำพอสมควรแก่เหตุ เช่น ยิงปืนที่แขนขาของโจร เป็นต้น ถ้าใช้มีดเพื่อป้องกันตัวก็ต้องมีพฤติการณ์มองได้ว่าทำเพื่อหยุดยั้งโจร มิได้มุ่งการฆ่า สิ่งใดชี้ให้เห็นเจตนาของผู้ใช้อาวุธ คำตอบคือ กรรมหรือการกระทำบ่งชี้เจตนาได้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น ทะเลาะมีปากเสียงกัน ต่อยกันไปทีหนึ่งแล้ว ฝ่ายหนึ่งยังโกรธคาใจอยู่ วิ่งกลับไปเอามีดพร้าที่บ้านแล้วไปแทงคู่ทะเลาะในบ้านของเขา กรณีนี้ไม่สามารถอ้างป้องกันตัวเองได้เพราะไม่ได้ป้องกันตัวขณะเกิดเหตุ แต่มีเวลาวิ่งกลับไปหยิบมีดเพื่อฆ่าเขา จึงผิดฐานเจตนาฆ่าเพื่อน มิใช่ป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย


การกระทำที่พอสมควรแก่เหตุนั้น จะถือว่าไม่มีความผิดทางอาญาทุกข้อหาเพราะกฎหมายเรียกว่าเป็นการป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ ในอีกทางหนึ่งหากกระทำเกินกว่าเหตุ ผู้กระทำต้องมีความผิด แต่ศาลอาจลงโทษน้อยกว่าที่ความผิดนั้นกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ หรือ กรณีศาลเห็นว่าทำเพราะตื่นเต้น ตกใจ หรือ กลัว ศาลจะไม่ลงโทษเลยก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในคดีและดุลพินิจของผู้ตัดสิน


กรณีทำเกินกว่าเหตุหรือทำด้วยความตื่นเต้น ตกใจ หรือกลัว ยังถือเป็นการกระทำความผิดอาญาอยู่ ถ้าศาลมองว่าเป็นการป้องกันตัว ก็อาจเลือกลงโทษน้อยลงหรือไม่ลงโทษก็ได้ หมายความว่า เป็นผู้กระทำผิดทางอาญา แต่ไม่ต้องรับโทษ ซึ่งแตกต่างจากผู้ที่ป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายที่ถือว่า การกระทำนั้นไม่มีความผิดเลย จึงไม่มีโทษอาญาใด


กรณีเจ้าของบ่อปลาฟันคอโจรขาดคารั้วนั้นเข้ากับกรณีป้องกันตัวเกินกว่าเหตุ ศาลจึงสั่งลงโทษผู้ใช้มีดให้จำคุกน้อยกว่าที่กฎหมายเจตนาฆ่าคนพึงลงโทษได้ เนื่องจากข้อเท็จจริงในคดีชี้ว่า บ่อปลานี้มีโจรเข้าไปขโมยเป็นประจำและเจ้าของบ่อรู้ดีว่าโจรเข้าทางใด จึงตระเตรียมมีดและไปดักรอที่รั้วนั้น เมื่อโจรโผล่หัวข้ามรั้วเข้าไปเพื่อหวังขโมยปลา เขาใช้มีดตัดคอโจรขาดคารั้วด้วยความแค้นใจ แสดงว่ามีแผนเตรียมฆ่าด้วยอาวุธ แม้ทำเพื่อปกป้องบ่อปลาไว้ แต่เป็นการทำเกินกว่าเหตุที่เป็นความผิดอาญาฐานฆ่าคนโดยเจตนาและต้องรับโทษจำคุก แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าความผิดฐานฆ่าคนเพียงใดก็ได้ เจ้าของมิได้ทำด้วยความตกใจ ความกลัว หรือความตื่นเต้น จึงไม่อาจรับการยกเว้นโทษตามกฎหมายได้


หากสมมติว่าเจ้าของบ่อปลาวางแผนดักจับโจรด้วยใช้มีดทำร้ายโจรให้บาดเจ็บแล้วจับส่งตำรวจ การตัดสินคดีนี้อาจเปลี่ยนแปลงไปว่า การกระทำของเจ้าของปลาอยู่ในขอบเขตอันควรเมื่อเขาใช้มีดเพื่อป้องกันชีวิตตัวเองและบ่อปลาไว้ จึงไม่ถือว่ามีความผิดฐานทำร้ายโจร ก็ไม่ต้องติดคุกด้วยเข้าการคุ้มครองของกฎหมาย การรู้ขอบเขตความสมควรในการใช้อาวุธก็ให้ผลคุ้มครองชีวิต ทรัพย์สิน โดยกฎหมายได้แล้ว


เหตุยกเว้นไม่ต้องรับโทษด้วยการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นใช้เป็นข้ออ้างของผู้ใช้อาวุธได้ แต่จำต้องรู้จักควบคุมหนักเบาของการใช้อาวุธให้เหมาะสมและใช้อย่างมีสติ อีกทั้งต้องจำไว้ว่า การได้รับผลคุ้มครองจากกฎหมายข้อนี้ต้องมาจากความสุจริตใจของผู้ใช้และดุลพินิจของผู้ตัดสินว่าเห็นพ้องกับข้ออ้างและหลักฐานด้วย เคยมีตัวอย่างของนักแม่นปืนระดับเข้าแข่งเอเชียนเกมส์ยิงโจรที่เข้าบ้าน แต่ระดมยิงตายไปกว่า 10 นัด อ้างว่ายิงด้วยความตกใจสุดขีด ผู้ตัดสินไม่เห็นพ้องและมองว่าเป็นการทำเกินกว่าเหตุและผู้ใช้อาวุธมีความรู้และผ่านการฝึกใช้ปืนมาอย่างดีย่อมไม่มีทางขาดสติได้เพียงนั้น จึงสั่งลงโทษจำคุกเขา


เมื่ออยากมีอาวุธในครอบครองไม่ว่าปืนหรือมีด ต้องมีสติติดกายตลอดเวลา รู้จักควบคุมอาวุธ ความหนักเบาของการใช้อาวุธส่งผลต่อความรับผิดชอบทางกฎหมาย จงเตือนตนไว้ว่าทุกครั้งที่ใช้อาวุธ ผู้ใช้ต้องรับผิดชอบทางกฎหมายทั้งอาญาและแพ่งเสมอ ทางอาญาคือ จำคุก ประหารชีวิต ทางแพ่ง คือ ชดใช้เงินให้ครอบครัวผู้เสียหายที่ตายหรือบาดเจ็บ ผู้มีอาวุธต้องเป็นผู้ควบคุมมัน มิใช่แค่คนถืออาวุธเท่านั้น


เรียบเรียงโดย Black Cuff

Friday, November 12, 2010

Kukri Knife

Kukri Knife



มีดประจำชาติเนปาลที่มีชื่อเสียงเนื่องจากเป็นอาวุธประจำกายของทหารกูรข่า (Gurkha soldier) อันเลื่องชื่อนั้นก็คือ มีด Kukri หรือ Khukuri


มีด Kukri มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในช่วงสงครามขยายอณานิคมของอังกฤษในปี ค.ศ. 1814 มีดชนิดนี้มีรูปลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ นอกจากใช้เป็นมีดอเนกประสงค์ (Utility knife) เพื่อใช้งานในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะในเขตป่าเขาแล้ว ยังใช้เป็นมีดต่อสู้ได้อย่างยอดเยี่ยมอีกด้วย (Combat knife)


ความกล้าหารของทหารกูรข่าในการต่อสู้กับทหารอังกฤษร่วมกับมีด Kukri เป็นที่เลื่องลือ จนหลังจากอังกฤษเข้ายึดครองเนปาลได้สำเร็จก็จัดตั้งหน่วยทหารกล้าตายซึ่งฝึกใช้มีด Kukri ขึ้น


มีด Kukri เป็นมีดขนาดกลาง ด้ามจับทำจากไม้ Walnut ที่ชื่อ Sattisaal (ไม้พื้นเมืองในประเทศเนปาล) Kukri มีการพัฒนาต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบันทำให้วัสดุและวิธีการผลิตที่ดีขึ้นมีความแข็งแรงมากขึ้น


ปกติมีด Kukri จะมีมีดเล็กๆอีกสองเล่มพกไว้ในซองมีด เล่มแรกคือ Chakmak เป็นมีดสำหรับรับคมมีด Kukri โดย Chakmak เป็นมีดไม่มีคม และอีกเล่มคือ Karda เป็นมีดอเนกประสงค์ขนาดเล็กมีคมด้านเดียว รูปร่างของมีด Kukri อาจมีความแตกต่างกันได้เล็กน้อยตามแต่ละท้องถิ่นของเนปาล


ใบมีดบริเวณใกล้ด้ามจะมีร่องเว้าเล็กๆ (Kukri notch) เรียกว่า Cho หรือ Kaudi รอยเว้านี้ช่วยให้เลือดหรือของเหลวจากใบมีดไม่ไหลลงมาที่ด้ามจับ และยังมีประโยชน์ในการรับมีดด้วย Chakmak ให้หยุดที่ตำแหน่งนี้ (รับคมเริ่มจากปลายใบมีดลงมาโคนมีด) นอกจากนั้นรอยเว้านี้มีรูปร่างเป็นสัญลักษณ์หนึ่งในศาสนาฮินดูจึงมีความหมายในเชิงจิตวิญญาณด้วย ในขณะต่อสู้ประชิดตัวอาจใช้ร่องเว้านี้ในการจับยึดหรือหยุดมีดของฝ่ายศัตรูได้ บริเวณปลายด้ามมีด (Butt) สามารถใช้กระแทกได้ (Impact weapon)


ปลอกมีดทำจากหนังควายให้ความคงทนในการใช้งานมีช่องสำหรับใส่มีดเล็กทั้งสองและห่วงคล่องสายคาดเอว ถ้าเป็นปลอกในยุกค์แรกๆจะมีกระเป๋าเล็กๆที่เรียกว่า Khalti สำหรับใส่หินเหล็กไฟเพื่อใช้จุดไฟยามต้องดำรงชีพในป่า แต่ในช่วงสงครามคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนถึงต้น 20 ทั้ง Karda, Chakmak และ Khalti ถูกตัดทิ้งไป มาจนถึงช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 จึงมีการนำ Karda และ Chakmak กลับมาใหม่เพื่อการอนุรักษ์แต่ยังคงตัด Khalti ออกไป


มีด Kukri ในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 จะยาวและโค้งกว่ามีดในปัจจุบันเล็กน้อย แต่มีดที่ใช้ในกองทัพมีรูปร่างที่ไม่แตกต่างกันมากนัก


เมื่อพิจารณามีด Kukri และมีดเหน็บไทยจะพบว่ามีลักษณะคล้ายกันในหลายมิติถึงแม้จะมีแหล่งกำเนิดต่างที่กัน เนื่องจากเป็นมีดที่มีพื้นฐานเพื่อการดำรงชีพตามภูมิปัญญาชาวบ้านเช่นกัน มีดลักษณะนี้เหมาะแก่การบุกป่าฝ่าดงดำรงชีพในเขตป่าเขา นอกจากนั้นก็สามารถใช้เป็นอาวุธในการป้องกันตัวจากสัตว์ร้ายและภัยคุกคามจากผู้รุกรานได้ด้วย


การถือมีด Kukri มีสองแบบคือ Hammer และ Saber grip ปัจจุบันยังมีกองกำลังกูรข่าที่ยังฝึกใช้มีดแบบนี้อยู่ และบริษัทผลิตมีดที่มีชื่อเสียงทั่วโลกต่างก็ผลิตมีดชนิดนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับมีดขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Kukri Info ของ Khukuri house

การฝึกอบรม SELF-DEFENSE WITH A KNIFE

การฝึกอบรม SELF-DEFENSE WITH A KNIFE



เปิดรับการฝึกอบรมการป้องกันตัวด้วยอาวุธ “มีด” สำหรับประชาชนทั่วไป


จุดประสงค์ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะการป้องกันตัวด้วยอาวุธ “มีด” ให้กับประชาชนทั่วไป


เนื้อหาการฝึกอบรม (การบรรยายและปฏิบัติ)


- หลักการป้องกันตัวและการประเมินสถานการณ์

- ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอาวุธมีด


- การถือมีด (Knife griping) ท่าเตรียมพร้อม (Fighting stance)


- พื้นฐานรูปแบบและทิศทางการโจมตีด้วยมีด (Basic patterns and directions of knife attack)


- การเคลื่อนที่ (Footwork)


- กลยุทธ์การป้องกันตัวด้วยมีด (Strategy of self-defense with a knife)


- การฝึกซ้อมการป้องกันตัวด้วยมีด (Knife sparring and drill)


ระยะเวลาการฝึกอบรม วันจันทร์ - พฤหัส เวลา 18.00 - 20.00 น., วันศุกร์ - วันเสาร์ เวลา 13.00 - 20.00 น., วันอาทิตย์ เวลา 16.00 – 20.00น.(จะโทรยืนยันวันฝึกที่แน่นอนอีกครั้ง)


ผู้รับการฝึกอบรม หญิงหรือชาย อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป (ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ต้องมีผู้ปกครองยินยอม) รับจำนวนจำกัด


สถานที่ ห้อง 512 ชั้น 5 บ้านราชา เลขที่ 88/8 ถนน อ่อนนุช-ลาดกระบัง ซอย 14/1 แยก ราชา 3 แขวง ราชาเทวะ อ. บางพลี จ. สมุทรปราการ (ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ) มีที่จอดรถ


แผนที่


GPS N 13-42-936, E 100-42-953


ค่าฝึกอบรม 600 บาท/ช.ม./ท่าน (เรียนส่วนตัว), 500 บาท/ช.ม./ท่าน (เรียนกลุ่มย่อยตั้งแต่ 2 ท่านขึ้นไป)


การแต่งกาย เสื้อยืด กางเกงวอร์ม หรือ แต่งกายรัดกุม


อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย แว่นตานิรภัย (ถ้ามี), มีดซ้อม (ถ้ามี), Arm guard (ถ้ามี), ถุงมือ (ถ้ามี)


เอกสารประกอบการสมัคร ใบสมัคร, สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 1 ใบ, ใบยินยอมจากผู้ปกครอง (ในกรณีผู้รับการฝึกอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์)


ครูฝึก ครู วีระ (Batman)


ติดต่อ ครู วีระ (Batman) โทร. 081-666-0266, Fax. 02-349-6207


e-mail : thaiselfdefense@gmail.com



www.thaiselfdefense.com

การฝึกอบรม THAI SELF-DEFENSE WEEK 1 # 2

การฝึกอบรม THAI SELF-DEFENSE WEEK 1 # 2



เปิดรับการฝึกอบรม “สัปดาห์การป้องกันตัวสำหรับประชาชนทั่วไป ระดับ 1 ครั้งที่ 2”


จุดประสงค์ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะการป้องกันตัวในสถานการณ์วิกฤติให้กับประชาชนทั่วไป


เนื้อหาการฝึกอบรม (การบรรยายและปฏิบัติ)


- หลักการป้องกันตัวและการประเมินสถานการณ์


- ความรู้พื้นฐานการป้องกันตัวด้วย “มือเปล่า”


- ความรู้พื้นฐานการป้องกันตัวด้วย “อาวุธมีด”


เวลาการฝึกอบรม วันเสาร์ที่ 20 พ.ย. 2553 เวลา 9.00 – 16.00 น. (2 คาบๆละ 3 ช.ม.)


ผู้รับการฝึกอบรม หญิงหรือชาย อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป (ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ต้องมีผู้ปกครองยินยอม) ไม่มีโรคประจำตัวซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการฝึกอบรม (รับจำนวนจำกัด ไม่เกิน 14 ท่าน)


สถานที่ ชั้น 3 ร้านขอขวัญ เลขที่ 102/24 ซอย พัฒนาการ 58 เยื้อง ร.ร. เตรียมพัฒนาการ เขต สวนหลวง กรุงเทพฯ 10250


แผนที่


GPS N 13-43-832, E 100-38-871


ค่าฝึกอบรม (โอนเงินหรือชำระที่ศูนย์ฝึกล่วงหน้า) 1500 บาท/ท่าน (รวมค่าอาหารกลางวัน)


สิ้นสุดวันรับสมัคร 15 พ.ย. 2553


การแต่งกาย เสื้อยืด กางเกงวอร์ม หรือ แต่งกายรัดกุม


เอกสารประกอบการสมัคร สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 1 ใบ, ใบยินยอมจากผู้ปกครอง (ในกรณีผู้รับการฝึกอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์)


ครูฝึก ครู วีระ (Batman), ครู เจี๊ยบ, ครู เดช (Snap shot)


ติดต่อ ครู วีระ (Batman) โทร. 081-666-0266, Fax. 02-349-6207


e-mail : thaiselfdefense@gmail.com


www.thaiselfdefense.com

Wednesday, November 10, 2010

AMOK!

AMOK!



เมื่อไม่นานมานี้ผมได้มีโอกาสไปพบ Mr. Randy Hodges และ ครู นก (Nok) ภรรยา ที่บ้านพัก จ. อุดรธานี ซึ่งอยู่ใกล้สนามบินมากโดยคุณ Snap shot เป็นผู้แนะนำ ทั้งคู่เป็น Qualified AMOK! Instructor และถือโอกาสไปเรียนรู้การป้องกันตัวด้วยมีดและมือเปล่ากับทั้งสองท่านในรูปแบบของ AMOK! ขนานแท้


Mr. Tom Sotis เป็นผู้คิดค้นรูปแบบการต่อสู้ป้องกันตัว AMOK! เมื่อหลายสิบปีก่อน โดยมีจุดเด่นที่การใช้มีดเพื่อป้องกันตัว ซึ่งมีพื้นฐานมาจากศิลปะการต่อสู้ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการประยุกต์และรวบรวมแนวคิดให้เป็นหมวดหมู่ชัดเจน เรียนรู้ง่าย มีประสิทธิภาพ สามารถนำไปปรับใช้กับการป้องกันตัวด้วยมือเปล่าและอาวุธอื่นๆได้ เช่น ไม้กระบองสั้น (Stick) รวมไปถึงการใช้สิ่งของรอบตัวนำมาเป็นอาวุธ (Improvised weapons)


AMOK! มีการสอนกันอย่างแพร่หลายทั่วโลกและเป็นที่นิยมมากในประเทศอัฟริกาใต้ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่มีการก่ออาชญากรรมสูง และ AMOK! ได้พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพดีเยี่ยมในการป้องกันตัวในสังคมยุคปัจจุบัน


AMOK! ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในหลายประเทศเพื่อใช้ในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน เช่น Russian Spetsnaz / Counter-Terrorism, South African Special Forces, United States Military, United States Federal Law Enforcement, Greek Coast Guard, New Zealand Prison Guards, Russian Karat Executive Protection Academy, Trainers of the Guardian Angels เป็นต้น


หลักสูตรของ AMOK! จะครอบคลุมทั้งการเตรียมตัวก่อนต่อสู้ (Pre-fight Planning) ขณะต่อสู้ (Fight Planning) และ หลังการต่อสู้ (Post-fight Planning)


ในการฝึกการต่อสู้ด้วยมีดซึ่งเป็นจุดเด่นของ AMOK! นั้น ผู้รับการฝึกจะได้เรียนรู้แนวทางและวิธีการฝึกตามรูปแบบของ AMOK! อย่างเป็นขั้นตอน โดยเน้นที่หลักการ (Principle) มากกว่าให้จำท่าทางเป็นการเฉพาะเจาะจง ผู้รับการฝึกจึงสามารถนำหลักการดังกล่าวไปปรับใช้กับการป้องกันตัวด้วยมือเปล่าและอาวุธชนิดอื่นได้อย่างไม่ยากเย็น


ทั่วโลกอาจมี AMOK! Trainer หลายคนแต่มีเพียง 9 คนที่อยู่ระดับกูรูซึ่ง Mr. Randy Hodges เป็นหนึ่งในนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่ผู้รักการฝึกมีดเพื่อป้องกันตัวในประเทศไทยจะได้เก็บเกี่ยวความรู้จากหนึ่งในรูปแบบการใช้มีดที่มีประสิทธิภาพ...... AMOK!


เนื่องจากระยะเวลาที่ผมไปนั้นสั้นมากจึงถือว่าเป็นหลักสูตรเร่งลัด Mr. Randy และครู นก พยายามถ่ายทอดความรู้ให้อย่างเต็มที่ ทำให้เห็นรูปแบบและลักษณะเด่นของ AMOK! ได้อย่างชัดเจน อีกทั้งอัธยาศัยของทั้งสองท่านก็เป็นกันเอง ทำให้การฝึกไม่เครียดและราบลื่นอย่างมาก ปกติจะฝึก 4 ช.ม. ต่อวัน โดยแบ่งเป็นช่วงเช้า 2 ช.ม. กับช่วงบ่ายหรือเย็นอีก 2 ช.ม.


สำหรับใครซึ่งไม่ชำนาญภาษาอังกฤษก็ไม่ต้องกังวลไปเพราะครู นก จะช่วยแปลและอธิบายให้ตลอดการฝึกอบรม ที่บ้านของ Mr. Randy มีมีดซ้อมให้ใช้ แต่ควรเตรียมแว่นตานิรภัยไปด้วยและถ้าใครผิวหนังบอบบางก็ควรเตรียม Arm guard เพื่อป้องกันรอยเขียวช้ำที่ท่อนแขนจากการฝึก


ถ้าใครสงสัยว่าผู้หญิงสามารถใช้มีดต่อสู้ป้องกันตัวได้จริงหรือ เมื่อเห็นครู นก ใช้มีดให้ดูก็จะรู้คำตอบและจะประทับใจว่า มีดทำให้ผู้หญิงตัวเล็กๆสามารถเอาตัวรอดและต่อกรกับผู้ชายตัวใหญ่ๆได้

ผู้สนใจสามารถเดินทางไปฝึกที่บ้านพักของ Mr. Randy และครูนก เป็นการส่วนตัวหรือหมู่คณะ โดยติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ครู นก เกี่ยวกับรูปแบบการฝึก ที่พัก ค่าฝึกอบรม ทาง E-mail : amok_nok@hotmail.com ซึ่งการเดินทางโดยเครื่องบินจะใช้เวลาประมาณ 1 ช.ม. ทางรถไฟประมาณ 12 ช.ม. ทางรถยนต์ประมาณ 6 ช.ม. (ลูกศิษย์ของ Mr. Randy ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติซึ่งต้องบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนกับเขา ดังนั้นผู้ที่อยู่เมืองไทยจึงถือว่าได้เปรียบอยู่มาก และ Mr. Randy กับครู นก ก็เต็มใจที่จะสอนคนไทยเช่นกัน)

นอกจากนั้นยังสามารถลงชื่อที่ Thai self-defense เพื่อรวบรวมสมาชิกให้ได้จำนวนหนึ่งเพื่อเดินทางไปรับการฝึกอบรมกับ Mr. Randy และครูนก ถือเป็น Knife training trip อย่างหนึ่ง

การได้เรียนรู้การใช้มีดในหลายๆระบบจะทำให้เราหูตากว้างไกล รู้ว่าตัวเองมีข้อดี ข้อด้อย ข้อจำกัดอย่างไร แล้วนำไปปรับปรุงแก้ไข จงเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ อย่าได้หยุด (Keep learning)

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับมีดขอให้มี “สติ”

เรียบเรียงโดย Batman

Friday, November 5, 2010

แทง VS. ฟัน

แทง VS. ฟัน



ในกลุ่มคนที่รักชอบในการ “เล่น” มีด ซึ่งมักจะทำสองสิ่งควบคู่กันไป หนึ่งคือ การสะสมมีด เพราะพอใจรูปทรงการออกแบบ ชื่นชมความพยายามขัดแต่งขัดเกลา ทั้งผสมผสานภูมิความรู้ทางโลหะวิทยาจนสรรสร้างออกมาเป็นเครื่องมืออันงดงามที่เรียกว่า “มีด” อีกอย่างคือ การเรียนรู้ฝึกฝนการใช้มีดเพื่อการต่อสู้ป้องกันตัว เมื่อคนที่รักชอบในสิ่งเดียวกันรวมตัวเป็นกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ และทำกิจกรรมร่วมกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความขัดแย้งด้านข้อมูล ความเชื่อ และแนวความคิดที่หลากหลาย ประเด็นหนึ่งที่ถกเถียงกันมานานคือ การใช้มีดต่อสู้ป้องกันตัว ผู้ใช้มีดควรจะ “แทง” หรือ “ฟัน” คู่ต่อสู้จึงจะหยุดยั้งการคุกคามได้ดีกว่ากัน


เชื่อว่าผู้ที่ยืนอยู่ด้าน “แทง” คงมีข้อมูลและเหตุผลมากมายที่สนับสนุนความคิดที่ว่า “ต้องแทงคู่ต่อสู้เท่านั้นจึงจะสามารถหยุดยั้งคนร้ายได้” ข้อพิสูจน์ยืนยันที่ชัดเจน คือ ส่วนใหญ่ผู้เสียชีวิตจากสถิติของเหยื่อผู้ถูกทำร้ายด้วยมีด มักถูกแทงอวัยวะสำคัญจนเสียชีวิต จึงจะขอกล่าวถึงเฉพาะเหตุผลสนับสนุนการ “ฟัน” เพื่อให้ผู้ที่ยังขัดข้องใจนำมาเปรียบเทียบดู


การ “ฟัน” หรือ “กรีด” หรือ “เฉือน” ฯลฯ แล้วแต่จะถูกกล่าวโดยใครมีความหมายเหมือนกันตรงที่สื่อถึงการใช้ประโยชน์จากด้านคมของมีดมากกว่าด้านแหลมนั่นเอง และเหตุผลที่ครูมีดหลายคนแนะนำให้เราป้องกันตัวด้วยการ “ฟัน” ด้วยเหตุผลดังนี้


1. เหตุผลด้านกายภาพ นาย Dave Spaulding ผู้สนใจและศึกษาเกี่ยวกับการใช้มีดป้องกันตัว เขียนไว้ว่า “ผมชอบการฟันมากกว่าแทง เพราะมันสร้างความเสียหายให้มากกว่า ส่วนใหญ่เกิดบริเวณ แขน มือ ของคู่ต่อสู้ บาดแผลขนาดใหญ่สร้างความเจ็บปวดมากกว่าและเลือดก็ไหลมากกว่าด้วย ผิดกับการแทง” จากการสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตจากการถูกแทง ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่าถูกแทงแล้ว และเลือดก็ไหลน้อยมาก การต่อสู้ยุติด้วยเหตุอื่นๆ เช่น มีคนมาห้าม ตำรวจมา หรือ เหนื่อยจนหมดแรง ซึ่งไม่ได้เกิดจากการถูกแทงหรือเสียเลือด


2. เหตุผลด้านจิตวิทยา เนื่องจากการฟันให้ผลทางกายภาพที่ชัดเจนกว่า (แผลขนาดใหญ่, เลือดออกมากกว่า, เจ็บมากกว่า) ยิ่งเป็นแผลที่มีผลกับเส้นเลือดหรือเส้นเอ็นตามแขนขา หรืออวัยวะสำคัญ เช่น ใบหน้า ยิ่งส่งผลกับจิตใจของคู่ต่อสู้ให้หวั่นไหว ท้อแท้ จนที่สุดต้องถอดใจล่าถอยไปเอง


3. ด้านกฎหมายและสังคม ผมได้เขียนรายงานไว้แล้วในบทความเรื่อง “ทำสิ่งที่ถูกต้องเถอะ” ย้อนกลับไปอ่านได้


4. ด้านเทคนิค เนื่องจากอาวุธมีดในปัจจุบันมีขนาดมาตรฐานเล็กและสั้นกว่าในอดีตมาก ใบมีดหนาขึ้น คมมีดยาวไม่เกิน 3 – 4 นิ้ว และมักเป็นมีดพับเป็นส่วนใหญ่ เพื่อปรับตัวเข้ากับสังคมเมืองและข้อจำกัดของกฎหมายของแต่ละประเทศหรือพื้นที่ เทคนิคการใช้มีดจึงต้องเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะของอาวุธที่ใช้ ใบมีดที่สั้นเกินไปอาจแทงได้ไม่ลึกพอจะสร้างความเจ็บปวดหรือหวั่นไหวแก่คู่ต่อสู้ ยิ่งในประเทศที่มีอากาศเย็นใบมีดที่หนาและสั้นไม่อาจแทงทะลุเสื้อผ้าหนาๆได้ดีพอ ครูมีดสมัยใหม่จึงแนะนำให้ใช้มีดกรีดหรือฟันตามข้อมือ แขน ขา หรือร่างกายส่วนที่ไม่มีเสื้อผ้าปกคลุม เพื่อสร้างบาดแผลสะสมจนคู่ต่อสู้ยอมแพ้ไปเอง


ทั้งหลายนี้เป็นเหตุผลหลักๆที่ครูมีดซึ่งมีชื่อเสียงหลายคนแนะนำให้คนเล่น “มีด” ยุคใหม่ใช้ การ “ฟัน” เพื่อป้องกันตัวและทุกท่านก็มักจะกล่าวเสริมว่า “ไม่ห้ามการแทง แต่ขอให้ใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น และอย่าเล็งผลเลิศจนเกินไป จากสถิติที่รวบรวมได้มีน้อยรายที่แทงทีเดียวจอด และถ้าเป็นการต่อสู้ระหว่างมีดกับมีดก็มีโอกาสที่จะเสียชีวิตทั้งคู่


“คุณเลือกคู่ต่อสู้ไม่ได้ แต่คุณเลือกวิธีการป้องกันตัวได้”


เรียบเรียงโดย Snap shot
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความในนิตยสารอาวุธปืน ประจำเดือน มกราคม 2551 ของ Dave Spaulding
 

Samsung LCD televisions